xs
xsm
sm
md
lg

รฟม.เลื่อนตอกเข็มชมพู, เหลือง เป็น เม.ย. 61 ติดส่งมอบพื้นที่-แบบก่อสร้างไม่ยุติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รฟม.ขยับแผนเริ่มก่อสร้างรถไฟฟ้าสีชมพู, เหลือง ไปเป็น เม.ย. 61 เหตุยังติดปัญหาส่งมอบพื้นที่และแบบไม่เรียบร้อย ขณะที่เร่งถกเงื่อนไขเงินกู้เอดีบี ตั้งเป้าเปิดประมูลสีม่วงใต้ 8 หมื่นล้านใน ก.พ. ส่วนสายสีส้มตะวันตกคาดสรุปแนวทางและรูปแบบเดินรถ PPP ก.พ.นี้

นายฤทธิกา สุภารัตน์ รองผู้ว่าการ (บริหาร) รักษาการแทนผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ต้องปรับเลื่อนการเริ่มต้นสัญญาโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู แคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กม. วงเงิน 53,519.50 ล้านบาท และสายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 30.4 กม. วงเงิน 51,931.15 ล้านบาท ออกไปจากเดิมกำหนดในเดือน ธ.ค. 2560 ประเมินเบื้องต้นคาดว่าจะเริ่มต้นนับสัญญาได้ในเดือน เม.ย. 2561 เนื่องจากทั้งสองฝ่ายยังไม่พร้อม โดยส่วนของ รฟม.ยังติดปัญหาเรื่องการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้าง ซึ่งมีทั้งที่เป็นพื้นที่หน่วยงานราชการ ทั้งกรมทางหลวงและกรุงเทพมหานคร และพื้นที่เอกชนที่ต้องเวนคืน ส่วนกลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) ยังจัดทำแบบก่อสร้างไม่เรียบร้อย ทั้งนี้เพื่อป้องกันปัญหาการเคลมระยะเวลาก่อสร้างเพิ่มจึงยังไม่มีการนับเริ่มต้นสัญญา ซึ่งโครงการสายสีชมพูและสีเหลืองมีระยะเวลาสัมปทานรวม 33 ปี 3 เดือน แบ่งเป็น ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี 3 เดือน (39 เดือน) ระยะเวลาดำเนินการงานเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุง 30 ปี

ทั้งนี้ เดิมกำหนดที่จะนับเริ่มต้นสัญญาวันที่ 1 มิ.ย. 2560 แต่ติดปัญหาเรื่องการส่งมอบพื้นที่และแบบ จึงปรับเป็นวันที่ 1 ธ.ค. 2560 แต่ล่าสุดปรับเป็นเดือน เม.ย. 2561 โดยขณะนี้ รฟม.ได้ทยอยส่งมอบพื้นที่บางส่วนไปบ้างแล้ว โดยสายสีชมพู (ช่วงแคราย-มีนบุรี) ระยะทาง 34.5 กม. และสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 30.4 กม. กำหนดเปิดให้บริการรถไฟฟ้าทั้ง 2 สายในปี 2564

***เร่งถกเงินกู้เอดีบี เปิดประมูลสีม่วงใต้ใน ก.พ.

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ (ช่วงเตาปูน-ราษฏร์บูรณะ) คาดว่าจะเปิดประมูลงานก่อสร้างมูลค่างานโยธาประมาณ 8 หมื่นล้านบาทได้ในเดือน ก.พ. 61 โดยขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจาเงื่อนไขการกู้เงินจากธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) ซึ่งจะต้องส่งรายละเอียดให้กรมบัญชีกลางพิจารณาด้วย โดยจะกู้เอดีบีในสัดส่วน 10% หรือประมาณ 8 พันล้านบาทของมูลค่างานโยธา ส่วนอีก 90% ใช้แหล่งเงินกู้ภายในประเทศ คาดว่าจะสรุปนำเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.ในเดือน ก.พ. จากนั้นจะเปิดประมูลต่อไป ใช้เวลาประมูล 1 ปี คาดว่าหากการประมูลราบรื่นไม่มีข้อร้องเรียนจะได้ตัวผู้รับเหมาและลงนามสัญญาก่อสร้างปลายปี 2561

เบื้องต้นจะแบ่งงานโยธาออกเป็น 6 สัญญา ประกอบด้วย งานก่อสร้างโครงสร้างใต้ดิน 4 สัญญา โครงสร้างยกระดับ 1 สัญญา และงานวางระบบราง 1 สัญญา ทั้งนี้ ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 5-6 ปี คาดจะเปิดให้บริการปี 2567

**ก.พ.สรุปผลศึกษาเดินรถสายสีส้ม

ส่วนรถไฟฟ้าสายสีส้ม ด้านตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-ตลิ่งชัน ระยะทาง 16.4 กม. วงเงินลงทุน 109,342 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษารูปแบบการบริหารการเดินรถ ซึ่งจะเป็นการเดินรถต่อเนื่องตลอดสายตั้งแต่ด้านตะวันออก-ตะวันตก (มีนบุรี-ศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์) คาดว่าจะสรุปนำเสนอบอร์ด รฟม.ในเดือน ก.พ.นี้

การศึกษาใน 3 แนวทาง คือ 1. รัฐลงทุนก่อสร้างงานโยธาสายสีส้ม ด้านตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ มูลค่างาน 9 หมื่นล้านบาทเอง ส่วนการเดินรถตลอดสาย ด้านตะวันออก-ตะวันตก มูลค่าประมาณ 3 หมื่นล้านบาท จะศึกษา PPP ให้เอกชนมาร่วมลงทุน โดยแนวทางนี้คาดว่าจะเปิดประมูลงานโยธาได้ภายในปลายปี 2561

2. ให้เอกชนลงทุน PPP ทั้งงานโยธาด้านตะวันตกและงานระบบเดินรถตลอดสาย ด้านตะวันออก-ตะวันตก ซึ่งเป็นไปตามแนวคิดที่จะเป็นภาระการลงทุนของภาครัฐ หรือ 3 รฟม.เป็นผู้บริหารการเดินรถเอง ซึ่งการก่อสร้างงานโยธาจะเหมือนแนวทางที่ 1 ส่วนการเดินรถ รฟม.อาจจะต้องมีการจัดตั้งหน่วยงานภายใน หรือบริษัทลูกขึ้นมาดำเนินการ และเป็นไปได้ที่อาจจะเปิดให้เอกชนมาร่วมทุนในบริษัทลูกเดินรถนี้ โดยแผนงานกำหนดเปิดเดินรถด้านตะวันออกในปี 2566 ส่วนด้านตะวันตกเปิดเดินรถในปี 2568

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงบางแค-พุทธมณฑลสาย 4 นั้นรฟม.อยู่ระหว่างพิจารณาการจัดลำดับความสำคัญในการลงทุน ซึ่งภายใต้นโยบายลดภาระการลงทุนของภาครัฐ อาจจะให้เอกชนลงทุนทั้งงานโยธาและเดินรถทั้ง 100% ซึ่งจะมีการเปิดรับฟังความเห็นของเอกชนเร็วๆ นี้

***เตรียมจ้างศึกษา PPP รถไฟฟ้าภูเก็ต

นอกจากนี้ รฟม. โครงการระบบขนส่งมวลชนในภูมิภาคที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงคมนาคมให้ดำเนินงานนั้นจะเริ่มที่ โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต (ช่วงท่าอากาศยานฯ-ห้าแยกฉลอง) ก่อนเนื่องจากมีการออกแบบไว้แล้ว โดยจะว่าจ้างที่ปรึกษาศึกษาการร่วมทุนเอกชน PPP ใช้เวลาศึกษา 4 เดือน คาดว่าจะได้ข้อสรุปในปีนี้และเริ่มดำเนินโครงการได้ นอกจากนี้ยังมีโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งอยู่ระหว่างสรุปการศึกษาโครงการ และระบบขนส่งที่ขอนแก่นอีกด้วย

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง จำนวน 5 โครงการ ซึ่งมีความคืบหน้าในการก่อสร้าง (ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2560) ดังนี้ โครงการรรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงเตาปูน-ท่าพระ มีความคืบหน้า 97.52% โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต มีความคืบหน้า 53.31, โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ส่วนตะวันออก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีความคืบหน้า 4.66%, โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง อยู่ระหว่างเตรียมการรื้อย้ายสาธารณูปโภคใต้ดินตามแนวสาย คาดว่าจะเริ่มนับสัญญาได้ในเดือน เม.ย. 61


กำลังโหลดความคิดเห็น