คมนาคม - สนข.สร้างมิติใหม่ ส่งเสริมให้ประชาชนเปลี่ยนทัศนคติใช้ระบบขนส่งสาธารณะเดินทางแทนรถส่วนตัว เผยแผนแม่บท รถไฟฟ้า 10 สาย ปัจจุบันเปิดให้บริการแล้ว 5 เส้นทาง 110 กม. มี 79 สถานี ผู้ใช้บริการเฉลี่ยวันละกว่า 1.04 ล้านคน/เที่ยว และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานพิธีเปิด “กิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนปรับเปลี่ยนทัศนคติในการเดินทางโดยใช้ระบบขนส่งสาธารณะ” บริเวณทางเชื่อมต่อสถานีพญาไท ระหว่างรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ กับรถไฟฟ้าบีทีเอส เมื่อวันที่ 11 ม.ค. โดยมีผู้บริหารกระทรวงคมนาคม นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ผู้บริหารบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ร่วม
ทั้งนี้ กระทรวงฯ มีนโยบายในการรณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะแทนการใช้ยานพาหนะส่วนตัว เพื่อลดการใช้พลังงานในภาคการขนส่ง ลดปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และลดปัญหาอุบัติเหตุทางถนน โดยมุ่งหวังและวางเป้าหมายสำหรับอนาคตในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยการพัฒนาระบบการเดินทางสำหรับทุกคนอย่างแท้จริง ตามเป้าหมายที่ว่า Better Access, Better Service, Better Transport, Better Life for All ซึ่งกระทรวงฯ ได้เร่งรัดผลักดันโครงการสำคัญต่างๆ เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะเพิ่มมากขึ้น ได้แก่ การพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนด้วยรถไฟฟ้าสายหลักและสายรอง จำนวน 10 เส้นทาง ระยะทางรวม 464 กิโลเมตร โครงการจัดทำระบบจอดแล้วจร และการพัฒนาระบบตั๋วร่วม
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สนข.ได้มุ่งเน้นการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเพื่อให้เป็นระบบหลักในการเดินทางของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และในปัจจุบันประเทศไทยมีระบบรถไฟฟ้าที่เปิดให้บริการแล้วจำนวน 5 เส้นทาง ระยะทางรวม 110 กม. จำนวนสถานี 79 สถานี ได้แก่ สายสีเขียวเข้ม สีเขียวอ่อน สีน้ำเงิน สีม่วง และสายแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ซึ่งมีประชาชนใช้บริการเฉลี่ยรวมประมาณวันละ 1,040,000 คน/เที่ยว และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม การจัดกิจกรรมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อรณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะแทนการใช้ยานพาหนะส่วนตัว โดยจัดกิจกรรมขึ้นในรูปแบบของขบวนรณรงค์เชิงรุกในลักษณะการเดินขบวนประชาสัมพันธ์เพื่อให้เข้าถึงประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าให้หันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งได้จัดให้มีกิจกรรมทางโซเชียลมีเดียที่น่าสนใจ เพื่อสร้างการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์แก่กลุ่มเป้าหมายอีกด้วย