xs
xsm
sm
md
lg

“กกร.” ผวา 2 ปี บาทแข็ง 12% จ่อยื่นรัฐแก้สัปดาห์หน้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“กกร.” ตั้งคณะทำงานรวบรวมผลกระทบบาทแข็งเพื่อเตรียมเสนอรัฐบาลแก้ไขปัญหาเร่งด่วนหวั่นกระทบส่งออกหลังพบ 2 ปี แข็งค่า 12% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ แย้มมาตรการชะลอบาทแข็งเช่น เร่งรัดใช้หนี้ภาครัฐที่เป็นสกุลเงินดอลลาร์ ขณะที่คาดการณ์ ศก.ปีนี้โต 3.8-4.5% ส่วนส่งออกโต 3.5-6%

นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า กกร.ได้มอบหมายให้ตั้งคณะทำงานเพื่อรวบรวมผลกระทบค่าเงินบาทและแนวทางแก้ไขเพื่อที่จะยื่นเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาเงินบาทแข็งค่าให้รัฐบาลในต้นสัปดาห์หน้าพิจารณาช่วยเหลือเนื่องจากมองว่าขณะนี้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มจะแข็งค่าต่อเนื่องโดยพบว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ต้นปี 2559 ถึงสิ้นปี 2560 เงินบาทแข็งค่าขึ้น 12% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐซึ่งส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถทางการแข่งขัน

“แนวทางหนึ่งที่จะชะลอการแข็งค่าของเงินบาทไม่ให้รุนแรง เช่น รัฐบาลควรพิจารณาเร่งรัดการใช้หนี้ภาครัฐที่เป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ เชื่อว่าแนวทางนี้จะช่วยลดการแข็งค่าของเงินบาท และควรมีมาตรการอื่นเสริม ซึ่งจะนำเสนอให้รัฐบาลต้นสัปดาห์หน้าต่อไป” นายกลินทร์กล่าว

ทั้งนี้ ที่ประชุม กกร.ได้ประมาณการเศรษฐกิจปี 2561 คาดว่าจีดีพีปี 2560 คาดว่าจะอยู่ระดับ 3.9% ขณะที่ปี 2561 คาดว่าจะใกล้เคียงปี 2560 โดยคาดว่าจะขยายตัวที่ 3.8-4.5% โดยแรงขับเคลื่อนหลักมาจากการขยายตัวของการลงทุนจากภาครัฐและเอกชนประกอบกับการท่องเที่ยวมีทิศทางที่เติบโต ขณะที่การส่งออกจะขยายตัว 3.5-6% จากที่ประมาณการส่งออกปีนี้จะโต 10% ส่วนหนึ่งที่การส่งออกจะลดลงมาจากฐานส่งออกปี 2560 ที่สูงมากและส่วนหนึ่งมาจากภาวะค่าเงินบาทที่แข็งค่า

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่การขยายตัวอย่างทั่วถึงยังเป็นประเด็นที่ท้าทาย
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามโดยเฉพาะการดําเนินมาตรการทางการค้าของสหรัฐฯ ต่อคู่ค้าต่างๆ ในจังหวะที่สหรัฐฯ จะมีการเลือกตั้งกลางเทอมเดือนพฤศจิกายน 2561 ความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประเทศ ทั้งคาบสมุทรเกาหลี และภูมิภาคตะวันออกกลาง ฯลฯ

นายเจน นำชัยศิริ ประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ขณะนี้ กกร.มีความกังวลต่อค่าเงินบาทของไทยที่แข็งค่าต่อเนื่องซึ่งจะกระทบต่อขีดความสามารถของการแข่งขันจากการส่งออก หากการแข็งค่านั้นหากเกิดขึ้นตามธรรมชาติจากภาวะเศรษฐกิจไทยเข้มแข็งด้วยทุนสำรองเงินตราต่างประเทศที่ไทยมีเพิ่มขึ้น หรือเศรษฐกิจไทยเกินดุลก็คงจะไม่น่าห่วงนัก แต่หากกระแสการเคลื่อนย้ายเงินทุนจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทยซึ่งปัจจุบันเป็นเงินทุนระยะสั้นที่เข้ามาเก็งกำไรก็มีความน่ากังวล ดังนั้น ภาครัฐที่เกี่ยวข้องควรจะพิจารณาออกมาตรการแก้ไขปัญหาจุดนี้ที่สามารถทำได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อกติกาและกฎระเบียบต่างๆ ที่เป็นสากลในการเคลื่อนย้ายเงินทุน

“คงจะต้องมาดูมาตรการทั้งในส่วนของคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่าจะทำอย่างไรได้บ้างแต่ก็ต้องไม่กระทบการความเชื่อมั่นนักลงทุนด้วย” นายเจนกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น