“สมคิด” เช็กแผนคมนาคม เร่งเชื่อมระบบราง เมืองรอง แหล่งท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจภูมิภาค พร้อมสั่งปรับแผนโครงข่ายถนนในEEC จัดงบลงปี 62 เกือบ 5 หมื่นล้าน ขณะนี้คมนาคมเตรียมหารือผู้รับเหมาขอใช้ยางพาราทำถนนเพิ่มเพื่อช่วยเกษตรกร
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้มีการประชุมติดตามการดำเนินงานโครงการของกระทรวงคมนาคม ซึ่งมี นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม ผู้บริหารกระทรวง และหัวหน้าหน่วยงานในสังกัด ได้แก่ กรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) รายงานความคืบหน้าและรับนโยบาย
นายสมคิดกล่าวว่า นโยบายสำคัญคือการดำเนินโครงการต่างๆ ให้เกิดการเชื่อมเส้นทางระหว่างจังหวัด และเมืองรองเพื่อเชื่อมต่อแหล่งท่องเที่ยว และในการจัดทำแผนงบประมาณปี 2562 หากโครงการใดที่เดิมวางอยู่ในปีงบประมาณปี 2563-2564 หากสามารถปรับเปลี่ยนมาดำเนินการในปี 2562 ก่อนได้ให้ดำเนินการเลย ขณะที่การลงทุนต้องมีประสิทธิภาพ โครงการถนน รางจะเกี่ยวกับผู้รับเหมาจำนวนมาก ในอีก 3-4 ปีข้างหน้าในการดำเนินการโครงการต่างๆ จะต้องมีการทำงานร่วมกับผู้รับเหมาอีกมาก ให้รายใหญ่ รายกลาง รายเล็ก มีส่วนร่วมในการเข้ามาทำงาน ดังนั้นจะต้องหารือ ทำความเข้าใจกันว่าในการทำงานจะต้องมีมาตรฐานความปลอดภัย ผู้รับเหมาทำงานให้ต่อเนื่อง ไม่ทิ้งงาน ส่วนปัญหาขาดแคลนแรงงาน ช่าง รัฐบาลตระหนักดี และหารือกับกระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการช่วยแล้ว
ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม กล่าวว่า นโยบายในการดำเนินโครงการจะต้องมีการเชื่อมต่อระบบโครงข่าย ถนน ราง ท่าเรือ และการเชื่อมโครงข่ายระหว่างภาคเพื่อกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค และการให้ความสำคัญต่อพื้นที่ เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในการลงทุน โดยเฉพาะในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(EEC) ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ
ดังนั้น จึงให้ทบทวนการจัดทำงบประมาณปี 2562 จัดลำดับโครงการให้อยู่ภายใต้เกณฑ์ดังกล่าว ซึ่งโครงการใน EEC นอกจากรถไฟความเร็วสูง ยังมีท่าเรือ สนามบินอู่ตะเภา และศูนย์ซ่อม MRO ขณะที่โครงข่ายถนนยังเป็นฟีดเดอร์สำคัญที่จะช่วยแก้ปัญหาจราจรและระบบลอจิสติกส์ให้เกิดการเชื่อมต่อจากระบบราง ท่าเรือไปยังนิคมอุตสาหกรรม โดยจะดึงงบประมาณในด้านถนนมาอยู่ที่ EEC ให้มากขึ้น
สำหรับโครงการของกรมทางหลวงในพื้นที่ EEC ปี 2557-2560 ที่ได้ลงทุนไปแล้ว 27,944 ล้านบาทแก้ปัญหาคอขวด ส่วนงบทางหลวงปี 2561-2565 รวมประมาณ 67,821ล้านบาท โดยปี 2561 ลงทุนอยู่ที่ 9,251 ล้านบาท ปี 2562 อยู่ระหว่างเตรียมงบประมาณ วงเงิน 18,490 ล้านบาท ซึ่งอาจจะขยับแผนในปี 2563-2565 ประมาณ 3 หมื่นล้านบาทมาดำเนินการในปี 2562 ซึ่งอาจจะทำให้ปี 2562 จะมีงบในส่วนของถนนในEEC ประมาณ 4.8 หมื่นล้านบาท
ส่วนการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ทางกองทัพเรือกำลังทำแผนแม่บท และศึกษาออกแบบตามแผน EEC จะขยายจาก 3 ล้านคน/ปีเป็น15 ล้านคน 30 ล้านคน และ 60 ล้านคน/ปี
นอกจากนี้ยังได้มอบหมายให้ทาง ทช.และ ทล.ไปหารือกับผู้เหมาที่ได้สัญญาก่อสร้างในปี 2561 ในการใช้ยางพารามาก่อสร้างให้มากขึ้น ซึ่งในปี 2561 ทล. ทช.มีแผนใช้ยางพาราที่ 40,000 ตัน อย่างไรก็ตาม ในสัปดาห์หน้ากระทรวงคมนาคมจะมีการประชุมหารือกับผู้ประกอบการผลิตยางแอสฟัลต์ให้รับซื้อยางพาราดิบจากเกษตรกรมากขึ้น เพื่อส่งเสริมการเกษตร
ด้านรถไฟ ขณะนี้มี 2 เส้นทางใหม่ ได้แก่ บ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม และเด่นชัย-เชียงของ ที่เชื่อมเมืองรอง ขณะที่มีนโยบายให้เชื่อมโยงตะวันออก-ตะวันตก มีเส้นทางแม่สอด-นครสวรรค์ ซึ่งต่อจากสายบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม ขณะนี้ทางการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้ศึกษาเส้นทางแม่สอด-นครสวรรค์แล้ว ส่วนช่วงนครสวรรค์-บ้านไผ่ องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น หรือไจก้า กำลังทำการศึกษาความเหมาะสม
“การเชื่อมต่อระหว่างตะวันออก-ตะวันตกของไทยจะต้องผ่านจังหวัดนครสวรรค์ หากมีการสร้างทางรถไฟเชื่อมจะทำให้จังหวัดมีการเติบโต และเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่า และเวียดนามได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนเมืองรองอื่นๆ ท่านรองนายกฯ ให้ไปดูว่ามีเส้นทางรถไฟไหนที่เป็นเส้นเลือดฝอย สามารถเกาะเกี่ยวมาในเส้นทางรถไฟความเร็วสูงหรือทางคู่ เช่น ภาคอีสานมีเส้นทางบ้านไผ่-มุกดาหาร-กาฬสินธุ์ ส่วนอีสานใต้จิระ-อุบลราชธานี คำถามคือ คนที่อยู่ภาคอีสานตอนกลางและภาคอีสานตอนเหนือ จะลงมาอีสานตอนล่างได้อย่างไร ซึ่งอาจจะมีเส้นทางขอนแก่น-บุรีรัมย์ หรือยโสธร-ขอนแก่น เป็นต้น จึงมอบให้การรถไฟฯ ไปศึกษาแนวเส้นทางใดทำได้บ้างเพื่อเพิ่มโอกาสเติบโตของเมืองเล็ก” นายอาคมกล่าว
ด้านนายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า นายสมคิด รองนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้เร่งรัดโครงการก่อสร้างทางของโครงการก่อสร้างถนนในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ใช้งบประมาณก่อสร้างด้านถนนภายใน EEC ประมาณ 48,000 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาจราจรและสร้างระบบลอจิสติกส์ภายในโครงการ
นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวว่า รองนายกฯ ได้เร่งให้ดำเนินโครงการก่อสร้างเส้นทางตามแนวระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) จำนวนทั้งหมด 62 โครงการ โดยดำเนินการใน 30 โครงการแรกให้แล้วเสร็จภายในปี 2563-2564 เพื่อสนับสนุนเส้นทางรถไฟ ท่าเรือมากขึ้น ซึ่งหลังจากนี้กรมทางหลวงต้องนำแผนเส้นทางรถไฟมาศึกษาถนนที่ยังไม่มีการเชื่อมต่อกับตัวสถานีรถไฟเพื่อดำเนินการสร้างเส้นทางให้มีการเชื่อมต่อมากยิ่งขึ้น โดยคาดว่าในปี 2562-2565 จะใช้งบประมาณก่อสร้างด้านถนนภายใน EEC ประมาณ 4.8 หมื่นล้านบาท
นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน อธิบดีกรมทางหลวงชนบท ได้นำเสนอผลงานที่ดำเนินการในปี 2560 ถนนเข้าสู่แหล่งท่องเที่ยว และแผนแม่บทที่จะดำเนินการในอนาคต ในการนี้ รองนายกรัฐมนตรีได้ให้นโยบายกรมทางหลวงชนบทเกี่ยวกับการก่อสร้างถนนโครงข่ายที่เชื่อมถึงกันให้สมบูรณ์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม อีกทั้งยังเน้นย้ำให้กรมทางหลวงชนบทใช้ยางพาราในการก่อสร้างถนนเข้าสู่แหล่งท่องเที่ยวเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ตามนโยบายของรัฐบาล