xs
xsm
sm
md
lg

การท่าเรือฯ บูมขนส่งชายฝั่ง เปิดท่า 20G มี.ค.จัดโปรลด 15-20%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“กทท.” เตรียมเปิดบริการท่าเทียบเรือชายฝั่ง 20G ใน มี.ค. 61 พร้อมลดค่าบริการ 15-20% เพื่อจูงใจคาดดันตู้สินค้าปีแรกเพิ่มไม่ต่ำกว่า 20% จาก 7 หมื่นที.อี.ยู. พร้อมบริการตรวจปล่อยแบบเบ็ดเสร็จ ช่วยลดการขนส่งทางถนน ลดปัญหาจราจรไปยัง ทลฉ.ได้ ด้านภาคเอกชนพร้อมใช้บริการ แนะรัฐพัฒนาขนส่งทางน้ำจริงจัง ลดต้นทุนลอจิสติกส์เหลือ 12% ในปี 64 ตามเป้า

นายโกมล ศรีบางพลีน้อย ผู้อำนวยการท่าเรือกรุงเทพ การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยในการเสวนา “โครงการพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง 20G เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าภายในประเทศ” ว่า กทท.จะเปิดให้บริการช่วงกลางเดือน มี.ค. 2561 โดยการปรับปรุงมี 2 ส่วน วงเงินลงทุน 614 ล้านบาท คือ การปรับปรุงเพิ่มความแข็งแรงของท่าเรือความยาว 250 เมตร จอดเรือได้พร้อมกัน 3 ลำ จะแล้วเสร็จในวันที่ 15 ม.ค.นี้ อีกส่วนจะซื้อปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าที่ชนิดเดินบนราง (Rail Mounted Gantry Crane : RMG) จำนวน 2 คัน ยกตู้สินค้าได้ 40 ตัน ซึ่งจะส่งมอบในวันที่ 19 ม.ค. จากนั้นจะเป็นการติดตั้งและทดสอบระบบรวมถึงการทดสอบในส่วนของกรมศุลกากรด้วย

ทั้งนี้ เดิมบรรจุสินค้าที่เขตท่าเรือกรุงเทพ และใส่ลงเรือฟีดเดอร์ หรือเรือขนส่งไปยังต่างประเทศเป็น Loading Port ซึ่งการเปิดท่า 20G จะมีบริการใหม่ในการบรรจุสินค้าเพื่อการส่งออก โดยจะเป็นท่าเรือตรวจปล่อย และเป็น Loading Port แทนท่าเรือแหลมฉบังด้วย สามารถนำสินค้ามาบรรจุใส่ตู้และตรวจปล่อยสถานะตู้สินค้าของกรมศุลกากร (0309) ได้เบ็ดเสร็จที่ท่าเรือกรุงเทพ ลงเรือชายฝั่ง เพื่อส่งต่อเรือแม่ที่ท่าเรือแหลมฉบัง โดยไม่ต้องเสียเวลาตรวจปล่อยซ้ำอีก ซึ่งมีการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์จุดเดียวเบ็ดเสร็จ มีการทำงานตลอด 24 ชม. มีกล้อง CCTV บันทึกภาพขณะขนถ่ายและมีการรักษาความปลอดภัยเข้มงวด

โดยท่า 20G มีขีดความสามารถในการรองรองรับเรือชายฝั่งได้ประมาณ 4,000 ลำ/ปี รองรับปริมาณตู้สินค้าได้ 240,000 ที.อี.ยู./ปี ซึ่งปัจจุบันท่าเรือกรุงเทพมีปริมาณตู้สินค้าชายฝั่งประมาณ 60,000-70,000 ที.อี.ยู./ปี ซึ่งคาดว่าปริมาณตู้จะเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 20% หรืออาจจะมากถึง 20,000 ที.อี.ยู. ในปีนี้ จากบริการที่สะดวกรวดเร็วขึ้นของการเปิดท่า 20G ช่วยลดปริมาณรถบรรทุกบนถนนได้อย่างน้อย 20,000 เที่ยว/ปี

โดยคาดว่าส่วนหนึ่งคาดว่าจะช่วยลดปริมาณจราจรบนถนนด้วยรถบรรทุกโดยเฉพาะจากไอซีดีลาดกระบัง ไปท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งปัจจุบันปริมาณสินค้าที่ไอซีดีมี 1.4 ล้านที.อี.ยู. แต่สามารถขนส่งทางรางไปยังท่าเรือแหลมฉบังได้ 4 แสนที.อี.ยู. เพราะไม่มีแคร่รองรับ ที่เหลือ 1 ล้านที.อี.ยู.ขนทางถนน ทำให้เกิดปัญหาจราจรและถนนเสียหาย ดังนั้น ท่า 20G ของท่าเรือกรุงเทพจะแบ่งเบาตู้สินค้าในส่วนนี้มาลงเรือชายฝั่งไปยังแหลมฉบังแทน ซึ่งสามารถใช้รถขนาดเล็ก 4 ล้อ 6 ล้อ ขนส่งตู้มาลงเรือได้ตลอด 24 ชม. ไม่ติดเรื่องน้ำหนัก และติดเวลาห้ามเหมือนรถบรรทุกใหญ่

โดยเรือชายฝั่งเป็นแนวโน้มที่จะเป็นทางเลือกสำหรับผู้ประกอบการที่สามารถลดต้นทุนโลจิสติกส์และเวลาได้มาก นอกจากนี้ จะกำหนดอัตราค่าบริการที่ลดลงจากปกติประมาณ 15-20% เพื่อเป็นโปรโมชั่นเพื่อจูงใจอีกด้วย โดยจะอัตราโปรโมชั่นจะปรับเปลี่ยนหรือไม่ จะขึ้นกับ ราคาน้ำมัน ราคาดอกเบี้ย ค่าแรง เป็นต้น เชื่อว่าจะได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการจำนวนมากแน่นอน โดยโครงการนี้มีผลตอบแทน (IRR) ที่ 22% ระยะเวลาคืนทุน 6 ปี

ส่วนมติ ครม.ที่จำกัดปริมาณตู้สินค้าของท่าเรือกรุงเทพไว้ที่ 1.34 ล้านที.อี.ยู.ต่อปีนั้น การเปิดให้บริการ ท่า 20G ดังกล่าว ไม่มีผลกระทบใดๆ เนื่องจากมติ ครม.ดังกล่าวจะไม่นับรวมการขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ หรือเรือชายฝั่ง ทางลำน้ำ หรือตู้เปล่า ซึ่งเป็นการ Ship Mode การขนส่ง อย่างไรก็ตาม ท่าเรือกรุงเทพจะบริหารปริมาณตู้สินค้าในภาพรวมทั้งหมดไม่ให้เกิน 1.5 ล้านที.อี.ยู.ต่อปี

นายพงษ์ชัย อธิคมรัตนกุล ประธานหลักสูตรการจัดการโลจิสติกส์บัณฑิตวิทยาลัยการจัดการและนวัตกรรมมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า ปัจจุบันต้นทุนโลจิสติกส์ของไทยอยู่ที่ประมาณ 14% ต่อจีดีพี เป้าหมายจะลดลงเหลือ 12% ในปี 2564 ขณะที่ การขนส่งทางน้ำซึ่งมีต้นทุนค่าขนส่งต่ำที่สุด ประมาณ 0.65 บาท/ตัน-กม.นั้น การพัฒนาไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร เพราะรัฐให้ความสำคัญในการพัฒนา ถนน รถไฟทางคู่มากกว่า ขณะที่ปริมาณการขนส่งสินค้าภายในประเทศใช้ถนนกว่า 80% ทางน้ำ 8.53% นอกจากนี้ การขนส่งทางน้ำยังมีข้อจำกัด เช่น ร่องน้ำตื้นเขิน คดเคี้ยว แคบ ,เรือลดใต้สะพานไม่ได้, ขาดแคลนแรงงาน, พื้นที่หลังท่าขาดโครงข่ายถนนและทางรถไฟที่ดีในการเชื่อมโยง, ไม่มีท่าเรือชายฝั่งเฉพาะ ซึ่งปัจจุบันท่าเรือแหลมฉบังอยู่ระหว่างพัฒนาท่าเรือชายฝั่ง A รองรับที่ 3 แสนที.อี.ยู./ปี เป็นต้น

นายสุรชัย นิ่มนวล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจมารีน (SC Group) กล่าวว่า บริษัทฯ มีเรือชายฝั่ง 23 ลำ ซึ่งมีความจุว่างอยู่ 30-40% จะนำมาใช้ประโยชน์ที่ท่า 20G และเชื่อว่าปริมาณตู้สินค้าจะเติบโต 30-40% หรือทะลุ 1 แสนที.อี.ยู./ปี แน่นอน เพราะจะเป็นการชิฟโหมดอย่างแท้จริง โดยขอให้ กทท.พิจารณาปรับลดค่าบริการเพื่อจูงใจด้วย

ด้านนายภพกร ตันติจินดา กรรมการและฝ่ายการตลาด บริษัท เอ็น วาย เอส โลจิสติกส์ จำกัด กล่าวว่า ความต้องการท่าเรือชายฝั่งเพื่อขนส่งสินค้ามีมาก ที่ผ่านมามีปัญหารอนานท่า 20G จะเป็นการเริ่มต้นที่ดี ในการเชื่อมระหว่างท่าเรือกรุงเทพกับท่าเรือแหลมฉบัง และเห็นว่าควรพัฒนาเชื่อมท่าเรือกรุงเทพกับท่าเรือภูมิภาคด้วย เช่น ท่าเรือบางสะพาน ท่าเรือสงขลา


กำลังโหลดความคิดเห็น