xs
xsm
sm
md
lg

คณะกรรมการปฏิรูปพลังงาน ชงดึง กฟน.-กฟภ.สังกัดกระทรวงพลังงาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน เสนอร่างปฏิรูปพลังงาน หวังสร้างโครงสร้างราคาพลังงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด สร้างขีดความสามารถของประเทศ ฮึดอีกรอบเสนอให้โอนย้าย กฟน.- กฟภ.สังกัด ก.พลังงาน

นายพรชัย รุจิประภา ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้คณะกรรมการได้จัดทำร่างการปฏิรูปประเทศด้านพลังงานที่มีทั้งหมด 3 ด้าน 17 ยุทธศาสตร์เสร็จแล้วหลังเปิดรับฟังความคิดเห็นครบ 4 ครั้ง โดยหนึ่งในข้อเสนอ คือ เสนอให้ 3 การไฟฟ้า คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ควรอยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงพลังงาน จากที่ ปัจจุบัน กฟน. และ กฟภ. อยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงมหาดไทย เนื่องจากตามหลักการจะทำให้การบริหารงานมีประสิทธิภาพสูงสุด รองรับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโนโลยีใหม่ที่เกิดขึ้น เช่น สมาร์ทกริด ไมโครกริด ระบบสำรองพลังงาน (Energy Storage System) การผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ทั้งแบบบนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) แบบติดตั้งบนพื้นที่ดิน (โซลาร์ฟาร์ม)

“เทคโนโลยีใหม่ด้านพลังงานที่เกิดขึ้นจะเปลี่ยนภาพในอดีตจาก 3 การไฟฟ้า มีแหล่งผลิตจาก กฟผ.เพียงรายเดียว กลายเป็นประชาชน เอกชนผลิตไฟฟ้าใช้เองกันมากขึ้น ดังนั้น 3 การไฟฟ้า ก็ต้องมาพิจารณาว่า ทำอย่างไรการลงทุนจะไม่ซ้ำซ้อน ไปเป็นต้นทุนค่าไฟอีก ระบบสายส่ง กระบวนการผลิตไฟฟ้าทั้งหลาย ระบบโครงข่ายต่างๆ การจัดการจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น” นายพรชัยกล่าว

ทั้งนี้ การปฎิรูปทั้ง 17 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย ข้อเสนอบริหารจัดการ 3 ยุทธศาสตร์, ด้านไฟฟ้า 3 ยุทธศาสตร์, ด้านปิโตรเลียม ปิโตรเคมี 2 ยุทธศาสตร์, ด้านพลังงานทดแทน และเชื้อเพลิงชีวภาพ 4 ยุทธศาสตร์, ด้านการอนุรักษ์ และประสิทธิภาพ พลังงาน 4 ยุทธศาสตร์ ด้านนวัตกรรม เทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐาน 2 ยุทธศาสตร์ ซึ่งข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปพลังงาน จึงเน้นเรื่อง โครงสร้างการบริหาร เพื่อจัดการประสิทธิภาพและให้มีผลต่อราคาต่ำที่สุด ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ โดยมูลค่าพลังงานคิดเป็น 14% ของจีดีพี และนับเป็นมูลค่ามาร์เก็ตแค็ปของตลาดหลักทรัพย์ฯ ถึง 25% และนับเป็นต้นทุนการผลิต ของอุตสาหกรรมและบริการ ถึง 15%

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน กล่าวว่า จากการเปิดรับฟังความเห็นที่ผ่านมาจะมีการเสนอถึงแนวทางการเปิดเสรีโซลาร์รูฟท็อป ซึ่งขณะนี้มี ข้อถกเถียงว่าควรกำหนดปริมาณ หรือควรเปิดกว้างไม่จำกัด อย่างไรก็ตาม ต้องอยู่บนเงื่อนไขกติกาที่จะต้องมีการควบคุมดูแล เพราะแสงอาทิตย์ผลิตได้เต็มที่เพียง 4-5 ชั่วโมงเท่านั้น และจะกักเก็บพลังงานเข้าระบบได้มากน้อยเพียงใด และจะกระทบต่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้าอย่างไรโดย หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะต้องไปดูเงื่อนไขดังกล่าวเพื่อให้เกิดความมั่นคง เช่น การกำหนดค่าสำรองไฟฟ้า หรือแบ็กอัพ ค่าบริการสายส่งของ 3 การไฟฟ้า (wheeling charge)


กำลังโหลดความคิดเห็น