xs
xsm
sm
md
lg

สิ้นชีพ“นิตยสาร”ฉบับเล่ม โฆษณาหด2พันล.-ลาแผงระนาว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการรายวัน360- เข้าขั้น”สิ้นชีพ” มูลค่าสื่อนิตยสารทรุดฮวบ 50% ในรอบ2ปี จาก 3.6 พันล้าน เหลือ 1.6 พันล้าน เหตุไปต่อไม่คุ้มสู้ต่อไม่ไหว ส่งผล เดือนธ.ค.60 นิตยสารหัวดังระดับตำนาน ประกาศปิดตัวระนาว แต่ยังยิ้มได้ เดินหน้าพร้อมสู่ไม่ถอยในสมรภูมิออนไลน์ ที่ขึ้นแท่นเป็นรองแค่สื่อทีวีไปแล้ววันนี้ ด้วยมูลค่าสูงถึง 11,780 ล้านบาทในปี2560นี้

ถึงคราวสิ้นชีพ สื่อนิตยสาร ฉบับรูปเล่ม แล้วในวันนี้ จากผลพวงของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคไปอย่างง่ายดาย คนเริ่มหันมาอ่านข้อมูลต่างๆบนโลกออนไลน์แทนการอ่านผ่านรูปเล่ม ส่งผลให้นิตยสารมีชื่อทยอยปิดตัวลงมาตั้งแต่1-2ปีก่อน ใครล่ะจะเชื่อ จากเดิมที่มองว่า “สิ่งพิมพ์ไม่มีวันตาย” ถูกสั่นคลอนเบาๆมาจนมาถึง จุดที่ นิตยสารที่ยังคงอยู่ได้คือ หัวผู้นำตลาด แต่สุดท้ายในวันนี้เหตุการณ์เริ่มบีบให้แคบลง จนกลายเป็น “นิตยสารที่ยังคงอยู่ได้ คือ นิตยสารแบบเฉพาะทาง” เพราะในที่สุดจะเป็นผู้นำหรือผู้ตาม ต่างก็ต้านกระแสโซเชียลไม่ไหว ยิ่งใหญ่ยิ่งสั่นคลอน เวลาล้มยิ่งเสียงดัง

*** นิตยสารดัง ประกาศลาแผงในปี60
ทั้งนี้ตลอดปี2560ที่ผ่านมา ด้วยปัจจัยต่างๆรุมเร้า สื่อนิตยสารจึงถูกบีบบทบาทให้มีความสำคัญน้อยลง แบรนด์สินค้าและเอเจนซี่มองว่าไม่คุ้มในการลงโฆษณา ไม่ตรงกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ขณะที่ตัวสื่อนิตยสารเองถูกแย่งชิงความสำคัญจากสื่ออื่นแทน โดนเฉพาะสื่อออนไลน์ทำให้ตลอดปี2560นี้จึงมีนิตยสารยักษ์ใหญ่ระดับตำนาน ผู้นำตลาดในหลายๆกลุ่มผู้อ่าน ได้แต่ซับน้ำตา อำลาแผงไปอย่างน่าตกใจ
หัวดังที่ลาแผงเฉพาะเดือนธันวาคมนี้ ไม่ว่าจะเป็น
1.นิตยสาร “ขวัญเรือน” ที่อยู่คู่สังคมไทยมานาน 49 ปี ประกาศ
ปิดตัวลง เมื่อวันที่ 17 พ.ย.ที่ผ่านมา และฉบับสุดท้ายคือเดือน ธ.ค. 2560 ตามมาด้วยอันดับ 2.นิตยสาร 'ดิฉัน' ที่มีมากว่า 37 ปี ประกาศลาแผงอีกฉบับ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ซึ่งฉบับสุดท้ายคือเดือนธันวาคม 2560 หน้าปกเป็นรูป เวียร์-เบลล่า ถ่ายปกคู่กันเพื่อส่งท้ายปี 2560 ส่วนลำดับ 3.นิตยสาร”คู่สร้างคู่สม” หลังจากจัดพิมพ์และวางจำหน่ายมาเป็นปีที่ 38 โดยจะวางแผงฉบับที่ 1005 เป็นฉบับสุดท้าย วันที่ 20 ธ.ค.60 ซึ่งหน้าปกเป็นรูปของนายดำรง พุฒตาล เจ้าของนิตยสารและผู้บริหารบริษัท คู่สร้างคู่สม จำกัดนั่นเอง และสุดท้ายปลายเดือนธ.ค.นี้ กับนิตยสารหัวนอก อย่าง นิตยสาร “เมนส์ ฟิตเนส ไทยแลนด์” ก็ได้ประกาศลาแผงฉลองปลายเดือนธ.ค.นี้ไปอีกฉบับ

โดย นางสาวพรวิภา เธียรธนวาณิชย์ ผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยี บริษัท แมส คอนเน็ค จำกัด กล่าวว่า บริษัทได้ประกาศยุติการผลิตนิตยสารเมนส์ ฟิตเนส ไทยแลนด์ เนื่องจากเจ้าของลิขสิทธิ์ เมนส์ ฟิตเนส ประเทศอเมริกา ยุติการผลิตนิตยสารดังกล่าวในทุกประเทศทั่วโลกในเดือนธันวาคมนี้ ทั้งนี้บริษัทได้ลิขสิทธิ์ในการพิมพ์ เมนส์ ฟิตเนส ไทยแลนด์ เมื่อพฤษภาคม 2560 ซึ่งได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีทั้งจากผู้อ่านและแบรนด์สินค้าชั้นนำมากมายตลอดระยะเวลา 8 เดือน ที่วางแผง แต่ด้วยเหตุผลที่กล่าวมา จึงไม่สามารถผลิตนิตยสารเมนส์ ฟิตเนส ไทยแลนด์ ได้ โดยฉบับสุดท้ายคือในเดือนธันวาคมนี้

อย่างไรก็ตามทางบริษัทได้ปรับตัวในการนำเสนอคอนเท้นท์นิตยสารในเครือในช่องทางออนไลน์ด้วย ไม่ว่าจะเป็น นิตยสาร เมนส์ ฟิตเนส ไทยแลนด์ หรือนิตยสารลอฟฟีเซียล ไทยแลนด์ ส่งผลให้จากตัวเลขการเติบโตคาดการณ์ 10-20% เพิ่มขึ้นเป็น 50% เมื่อนิตยสารครบรอบ 1 ปี โดยในปีที่ 2 เติบโตขึ้นจากเดิม 10-20% และทุกครั้งที่ออกนิตยสารเล่มใหม่ มีเปอร์เซ็นต์เติบโตถึง 1,000 เท่า และในปี 2018 ตั้งเป้าเติบโตเพิ่มขึ้น 20-25%

จากแนวโน้มที่ผ่านมามีการใช้สื่อทั้งในรูปแบบ Print Online และ KOL (KOL-Key Opinion Leader) ซึ่งเป็นการสื่อสารแนวใหม่ โดยเลือกใช้เซเลบริตี้และคนดังจากหลากหลายแวดวงเป็นผู้ส่งสารไปยังผู้บริโภคที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า ในอนาคตช่องทางออนไลน์จะเป็นหัวใจหลักที่เรามุ่งสื่อสาร รวมถึงวิดีโอ คอนเทนต์ แต่สุดท้ายก็ยังต้องการการซับพอร์ตจากสื่อสิ่งพิมพ์ร่วมด้วยเช่นกัน

“ตั้งแต่สื่อออนไลน์ยังไม่เป็นกระแสที่มาแรงเช่นในปัจจุบัน เราเรียนรู้ว่าคอนเทนต์รูปแบบไหน เหมาะสมในการเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์ช่องทางใด ไม่ว่าจะเป็น เว็บไซต์ เฟสบุ๊ก หรือไอจี ซึ่งต้องยอมรับทุกวันนี้เทรนด์ของสื่อออนไลน์ มีอัตราเติบโตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คนในยุคมิลเลนเนียล เจเนเรชั่น ไม่ค่อยสนใจว่าอะไรเป็นโฆษณา เพียงแค่อยากได้ความจริง เพราะผู้บริโภคมีความใจกว้างพอ แต่สิ่งที่เราจะทำจะโพสต์นั้นต้องเจาะใจคน เป็นสำคัญด้วยธรรมชาติของคนอ่านออนไลน์กับสื่อสิ่งพิมพ์ที่มีความแตกต่างกัน จึงจำเป็นต้องสื่อสารด้วยเนื้อหาที่กระชับ และน่าสนใจ เพื่อดึงดูดให้ผู้บริโภคให้เข้ามาอ่าน” นางสาว พรวิภา กล่าว

*** นิตยสารตกต่ำสุดรอบ10ปี 2ปีหลังทรุดฮวบ50%

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น สอดคล้องกับข้อมูลของทาง กันตาร์ เวิร์ลดพาแนล (ไทยแลนด์) หรือ KWP ที่เมื่อย้อนกลับไปช่วง 10ปีที่ผ่านมา หรือในปี 2006 หรือในปี2550 สื่อนิตยสารมีมูลค่าสูงสุด ร่วม 5,384 ล้านบาท หลังจากนั้น ถดถอยลงต่อเนื่อง จนมาถึงปี2560นี้ที่คาดการณ์ว่าจะจบที่ 1,600 ล้านบาท ต่ำสุดในรอบ 10ปี และยังคงดิ่งลงต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้าหรือในปี2561 ที่คาดว่าจะเหลือเพียง 1,440 ล้านบาท

ทั้งนี้เมื่อเทียบกับ2ปีที่ผ่านมาหรือในปี 2558 สื่อสิ่งพิมพ์มีมูลค่า 3,642ล้านบาท หรือในปีนี้มูลค่าลดลงมามากกว่า 50% นั่นจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้นิตยสารผู้นำต้องโบกมือลากันหลายฉบับ ไม่นับหัวเล็กรายทางอีกมากมายหลายสิบเล่มในตลาดที่หายไป//

นายอิษณาติ วุฒิธนากุล ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท กันตาร์ เวิร์ลดพาแนล (ไทยแลนด์) จำกัด หรือ KWP เปิดเผยว่า ปัจจุบันพฤติกรรมการลงโฆษณาในสื่อต่างๆพบว่า ลูกค้าเริ่มมองหาแพลทฟอร์มต่างๆในการลงโฆษณาที่มีประสิทธิภาพก่อให้เกิดการซื้อได้มากกว่า บวกกับพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบันเข้าถึงโลกออนไลน์สูงมาก ทำให้ทั้งสินค้าและช่องทางการขายต้องมีการปรับตัว และเลือกใช้สื่อหรือแพลทฟอร์มที่ส่งผลต่อยอดขายมากขึ้นแทน ส่งผลให้สื่อดิจิตอลเติบโตอย่างมาก แทนที่สื่ออื่นๆตามมา

ส่งผลให้ในช่วงปี2560ที่ผ่านมา จากข้อมูลของทางกรุ๊ปเอ็ม พบว่า เม็ดเงินโฆษณารวมปีนี้จบที่ประมาณ 91,195 ล้านบาท ติดลบ 7% โดยสื่อดิจิทัลโตขึ้นกว่า 31.3% จาก 11,780ล้านบาท เพิ่มเป็น 15,475 ล้านบาท ส่งผลให้สื่อดิจิทัลก้าวขึ้นมาเป็นสื่อที่มียอดการลงโฆษณาอยู่ในอันดับ2 ของอุตสาหกรรมสื่อโฆษณารวม แทนที่สื่อหนังสือพิมพ์ที่ร่วงมาอยู่ในอันดับ 4 ส่วนอันดับ 3.คือ สื่อเอาท์ดอร์ มีมูลค่า 12,150 ล้านบาท และอันดับ1 ยังคงเป็นสื่อทีวี มีมูลค่ากว่า 56,800 ล้านบาท ขณะที่สื่อนิตยสาร เป็นสื่อที่ตกมาอยู่ในอันดับสุดท้าย มีมูลค่าต่ำสุดหรือน่าจะปิดที่ 1,600ล้านบาท จากปีก่อนอยู่ที่ 2,558 ล้านบาท อยู่ในอันดับ7 จากทั้งหมด 8สื่อ

ด้านนายภวัต เรืองเดชวรชัย ผู้อำนวยการธุรกิจ-สายงานการวางแผน และกลยุทธ์สื่อโฆษณา บริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จํากัด กล่าวถึงสถานการณ์สื่อนิตยสารว่า ปกติลูกค้าที่เลือกลงโฆษณาหรือวางแผนการใช้สื่อนิตยสารจะมีการวางแผนระยาวแบบ3เดือนขึ้นไป ซึ่งหากจะมีเล่มใดปิดตัวลง ก็จะต้องแจ้งกับทางเจ้าของแบรนด์หรือเอเจนซี่ให้ทราบก่อนล่วงหน้า

“สถานการณ์การของปีหน้า(2561) ขณะนี้ยังไม่มีเล่มใดแจ้งเข้ามาว่าจะปิดตัว จากที่ปีนี้สื่อนิตยสารปิดตัวไปหลายหัว ล่าสุดกับ นิตยสารดิฉัน และนิตยสารคู่สร้างคู่สม ที่ก่อนจะปิดตัวนั้นก็ไม่ได้มีการแจ้งเข้ามาล่วงหน้าว่าจะปิดตัวเช่นกัน”

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น กับการที่นิตยสารประกาศปิดตัวลง มองว่าเป็นช่วงขาลงของสื่อนิตยสาร แต่สุดท้ายแล้วสื่อนิตยสารแบบรูปเล่มยังคงมีอยู่ ไม่มีวันตาย ส่วนที่ยังอยู่ได้ คือ นิตยสารเฉพาะเจาะจง เช่น นิตยสารพระเครื่อง, ท่องเที่ยว และนาฬิกา เป็นต้น ขณะเดียวกันหลายเล่มอาจจะปิดตัวในแบบรูปเล่ม แต่ยังคงพัฒนาคอนเท้นท์ในรูปแบบออนไลน์แทน เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้สื่อออนไลน์เติบโตต่อเนื่องแทนที่หลายๆสื่อในปัจจุบัน
กำลังโหลดความคิดเห็น