xs
xsm
sm
md
lg

เริ่มก่อสร้าง! ไทย-จีน จับมือ ผุดรถไฟความเร็วสูงสายแรก “กรุงเทพฯ-นครราชสีมา” เปิดให้บริการปี 66

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รถไฟไทย - จีน เริ่มก่อสร้างวันนี้ (21 ธ.ค.) “นายกฯ” ประธานพิธี รถไฟสายประวัติศาสตร์ “ไฮสปีด” เชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพฯ - หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ - นครราชสีมา) ภายใต้แนวคิด “น้ำหนึ่งใจเดียว ทุกเรื่องราบรื่น 同心协力, 事事顺利” การพลิกโฉมรถไฟสู่โครงข่ายโลจิสติกส์หลักในอนาคต และตามแนวคิด “One Belt One Road” โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2566

วันนี้ (21 ธันวาคม 2560) เวลา 15.00 น. ณ มอหลักหินรัชกาลที่ 5 ต.กลางดง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ นายหวัง เสี่ยวเทา รองผู้อำนวยการคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน ได้ร่วมพิธีเริ่มการก่อสร้างโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และ รัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร - หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร - นครราชสีมา) ภายใต้แนวคิด “น้ำหนึ่งใจเดียว ทุกเรื่องราบรื่น 同心协力, 事事顺利” พร้อมกล่าวแสดงความยินดีในการเริ่มต้นก่อสร้างโครงการ

โดยมี นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวต้อนรับ ประธานในพิธีและแขกผู้มีเกียรติ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงการดำเนินโครงการของรัฐบาลไทย และ นายหวัง เสี่ยวเทา รองผู้อำนวยการคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน สาธารณรัฐประชาชนจีน กล่าวถึงความร่วมมือกับรัฐบาลไทย

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไทยและจีนมีความร่วมมือกันทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และ วัฒนธรรม ภายใต้ความสัมพันธ์อันดีที่มีมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน โครงการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงนี้จะเชื่อมโยงประเทศไทยกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคและโครงข่ายคมนาคม One Belt One Road ของรัฐบาลจีน อันจะสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ของภูมิภาคอาเซียน

ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินโครงการประสานสอดคล้องกับกลไก ระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาอื่นๆ รัฐบาลได้จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาและแผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ รวมทั้งปฏิรูปกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องตลอดจนจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง เพื่อบริหารจัดการงานวิจัยถ่ายทอดและพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งพัฒนาบุคลากรสำหรับรองรับการพัฒนาระบบขนส่งทางรางต่อไป วันนี้ ประเทศไทยจะได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร - หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร - นครราชสีมา) เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีได้เยี่ยมชมพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการ ประกอบด้วย โมเดลรถไฟที่จะใช้ในโครงการ และการแสดงนิทรรศการที่เกี่ยวกับรถไฟ เช่น ประวัติรถไฟไทย ความสำคัญของมอหลักหินซึ่งเป็นสถานที่ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงเสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรการก่อสร้างรถไฟสายนครราชสีมา และประเทศไทยกำลังจะสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ด้วยการเริ่มการก่อสร้างรถไฟไทย - จีน ซึ่งเป็นรถไฟความเร็วสูงสายแรกของประเทศไทย นอกจากนี้ ยังมีนิทรรศการเกี่ยวกับการพัฒนาระบบการขนส่งทางรางทั่วประเทศไทย ภาพแสดงโครงข่าย ทางรถไฟของเอเชียและโครงข่ายรถไฟภายใต้ความร่วมมือไทย - จีน รวมทั้งวิสัยทัศน์การพลิกโฉมรถไฟสู่โครงข่ายโลจิสติกส์หลัก ในอนาคต การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมขนส่งทางราง โดยมี นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย นำชมนิทรรศการ

สำหรับแนวเส้นทางโครงการระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ - นครราชสีมา มีทั้งสิ้น 6 สถานี ได้แก่ สถานีกลางบางซื่อ สถานีดอนเมือง สถานีอยุธยา สถานีสระบุรี สถานีปากช่อง และ สถานีนครราชสีมา ระยะทางรวม 252.3 กิโลเมตร เป็นทางยกระดับ 181.9 กิโลเมตร ทางระดับพื้น 64.0 กิโลเมตร เป็นอุโมงค์ 6.4 กิโลเมตร ด้านการก่อสร้างโครงการรถไฟไทย - จีน จะใช้ระบบเทคโนโลยีของจีน โดยแบ่งงานเป็น 2 ส่วน คือ ฝ่ายไทย รับภาระการลงทุนโครงการทั้งหมด และดำเนินการก่อสร้างงานโยธา ฝ่ายจีนรับผิดชอบการออกแบบรายละเอียดงานโยธา และควบคุมการก่อสร้างงานโยธา ออกแบบและก่อสร้างระบบรถไฟความเร็วสูง ระบบอาณัติสัญญาณ และระบบควบคุมการเดินรถ

โดยคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2564 จากนั้นจะติดตั้งระบบ และทดสอบ คาดจะเปิดให้บริการได้ในปี 2566 ส่วนรูปแบบรถไฟที่ใช้ในโครงการจะเลือกใช้รุ่น FUXINGHAO ซึ่งเป็นรถไฟความเร็วสูงรุ่นล่าสุดของจีน สามารถใช้ความเร็วสูงสุดในการเดินรถได้ 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใช้ระยะเวลาในการเดินทาง 1.30 ชั่วโมง

ทั้งนี้ โครงการรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร - หนองคาย จะเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟลาว - จีน (เวียงจันทน์ - บ่อเต็น) และโครงข่ายรถไฟของจีน (โมฮัน - คุนหมิง) ได้อย่างเป็นหนึ่งเดียวกัน โดยจะเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ One Belt One Road ที่จะสร้าง “เส้นทางสายไหมยุคใหม่” ที่จะเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคมขนส่งทางรางของไทยสู่การค้ากับ 64 ประเทศ ซึ่งมีประชากรรวมกันประมาณ 4,400 ล้านคน ซึ่งมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลก และมีสัดส่วน GDP ประมาณร้อยละ 40 ของโลก ซึ่งถือเป็นการเสริมสร้างโอกาสด้านการลงทุน การสร้างงาน สร้างรายได้ อันจะนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา และเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
กำลังโหลดความคิดเห็น