xs
xsm
sm
md
lg

ผู้บริหารแอร์พอร์ตลิงก์ ออกโรงแจงข้อร้องเรียน แอร์พอร์ตลิงก์ ทุจริตซื้อผ้าเบรก 1.2 พันชุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผู้บริหารแอร์พอร์ตลิงก์ ออกโรงแจงข้อร้องเรียน แอร์พอร์ตลิงก์ ทุจริตซื้อผ้าเบรก 1.2 พันชุด

นายวิสุทธิ์ จันมณี กรรมการบริษัท และรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด หรือผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ชี้แจงปัญหาการ “ร้องเรียน “แอร์พอร์ตลิงก์” ทุจริตซื้อผ้าเบรก 1.2 พันชุด” ด้วยวิธีพิเศษ เจตนาหลีกเลี่ยง พ.ร.บ. จัดซื้อฯ 2560 แฉออกประกาศวันที่ 22 ส.ค. ก่อนกฎหมายใหม่บังคับใช้เพียงวันเดียว แถมตั้งราคากลางย้อนหลัง และเจตนาเอื้อประโยชน์ให้บริษัทใดบริษัทหนึ่งฯนั้น

จึงขอชี้แจงว่าอธิบายรายละเอียดข้อมูล ดังนี้
1. รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ใช้เบรกซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของ Knorr Bremse AG. จากประเทศเยอรมนี ซึ่ง บจ.วิสุทธิ์เกษม (ประเทศไทย) เป็นตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทย แต่เพียงผู้เดียว โดย “KnorrBremse AG.” ได้ว่าจ้างให้ Federal-Mogul Friction Products GmbH (OEM) หรือ “Ferodo” เป็นผู้ผลิตเบรกตามสเปกของ “Knorr Bremse AG.” อีกต่อหนึ่งซึ่ง “Ferodo” เองก็มีตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทย คือ บจ.ยูโฟร์เอส โดยที่ผ่านมา รฟฟท. มีการจัดซื้อเบรกทั้งหมด 2 ครั้ง
ครั้งที่ 1 ปี 2555 มีผู้สนใจยื่นซองเสนอราคา 2 ราย คือ บจ.วิสุทธิ์เกษม (ประเทศไทย) และ บจ.ยูโฟร์เอส โดย บจ.วิสุทธิ์เกษม (ประเทศไทย) เสนอราคาผ้าเบรก ชุดละ 5,475 บาท จำนวน 1,000 ชุด มูลค่า (รวมภาษีร้อยละ 7) 5,858,250 บาท, บจ.ยูโฟร์เอส เสนอราคาผ้าเบรกชุดละ 6,800 บาท จำนวน 1,000 ชุด มูลค่า (รวมภาษีร้อยละ 7) 7,276,000 บาท ซึ่งทาง รฟฟท. พิจารณาแล้วเห็นว่า บจ. วิสุทธิ์เกษม (ประเทศไทย) เสนอราคาต่ำสุด และมีเอกสารครบถ้วนถูกต้อง จึงมีมติต่อรองราคากับ บจ. วิสุทธิ์เกษม (ประเทศไทย) และตกลงจัดซื้อผ้าเบรก 1,000 ชุด จาก บจ.วิสุทธิ์เกษม (ประเทศไทย) เป็นจำนวนเงิน (รวมภาษีร้อยละ7) 5,778,000 บาท
ครั้งที่ 2 ปี 2558 มีผู้สนใจยื่นซองเสนอราคา 2 ราย คือ บจ. วิสุทธิ์เกษม (ประเทศไทย) และ บจ.ยูโฟร์เอส โดย บจ.วิสุทธิ์เกษม (ประเทศไทย) เสนอราคาผ้าเบรก ชุดละ 4,495 บาท จำนวน 1,200 ชุด มูลค่า (รวมภาษีร้อยละ 7) 5,771,580 บาท บจ.ยูโฟร์เอส เสนอราคาผ้าเบรกชุดละ 4,850 บาท จำนวน 1,200 ชุด มูลค่า (รวมภาษีร้อยละ 7) 6,227,400 บาท ซึ่งทาง รฟฟท. พิจารณาแล้วเห็นว่า บจ.วิสุทธิ์เกษม (ประเทศไทย) เสนอราคาต่ำสุด และมีเอกสารครบถ้วนถูกต้อง จึงมีมติต่อรองราคากับ บจ.วิสุทธิ์เกษม (ประเทศไทย) และตกลงรับซื้อผ้าเบรก 1,200 ชุดจาก บจ.วิสุทธิ์เกษม (ประเทศไทย) เป็นจำนวนเงิน (รวมภาษีร้อยละ7) 5,771,580 บาท
ส่วนครั้งที่อ้างถึงในเนื้อหาข่าวเป็นการสั่งซื้อครั้งที่ 3 มีการเชิญ บจ.วิสุทธิ์เกษม (ประเทศไทย) และ บจ.ยูโฟร์เอส เข้าร่วมยื่นข้อเสนอด้านเทคนิคและราคาโดย บจ.วิสุทธิ์เกษม (ประเทศไทย) เสนอราคาผ้าเบรกชุดละ 6,385 บาท จำนวน 1,200 ชุด มูลค่า (รวมภาษีร้อยละ 7) 8,198,340 บาท บจ.ยูโฟร์เอส เสนอราคาผ้าเบรกชุดละ 3,950 บาท จำนวน 1,200 ชุด มูลค่า (รวมภาษีร้อยละ7) 5,071,800 บาทซึ่งทาง รฟฟท. พิจารณาแล้วเห็นว่า บจ.ยูโฟร์เอส เสนอราคาต่ำสุด และมีเอกสารครบถ้วนถูกต้อง จึงมีมติต่อรองราคากับ บจ.ยูโฟร์เอส และตกลงจัดซื้อผ้าเบรก 1,200 ชุดจาก บจ.ยูโฟร์เอส เป็นจำนวนเงิน (รวมภาษีร้อยละ 7) 5,071,800บาท “นับเป็นราคาที่ถูกที่สุดตั้งแต่ทำการสั่งซื้อมา และเป็นประโยชน์ต่อภาครัฐ”
สำหรับการสั่งซื้อดังกล่าวบริษัทได้ดำเนินการตามกระบวนการจัดซื้อปกติโดยดำเนินการตั้งเรื่องตั้งแต่วันที่ 5 พ.ค. 2560 และได้ทำการขอใบเสนอราคาจาก บจ.วิสุทธิ์เกษม (ประเทศไทย) เพื่อมากำหนดราคากลางเนื่องจากเป็นผู้รับจ้างจัดหาเบรกให้แก่ รฟฟท. ใน 2 ครั้งที่ผ่านมา ทั้งนี้ การกำหนดราคากลางเป็นไปตามระเบียบบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2558 โดยมีการประชุมราคากลาง และอนุมัติราคากลางเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2560 โดยมีการประกาศทางเว็บไซต์ของบริษัทและไม่มีการอนุมัติย้อนหลังอย่างที่ปรากฏในข่าวแต่อย่างใด
2. การจัดซื้ออะไหล่สำหรับซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า (Operation Spare Part) ชุดปรับอากาศ (HVAC) จำนวน 2 รายการกับบริษัท บี.กริม เทรดดิ้ง คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด วงเงิน 24.95 ล้านบาท สัญญาลงวันที่ 28 เม.ย. 2560 นั้น เนื่องจากบริษัท บี.กริม เทรดดิ้ง คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด เป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ “Faiveley” ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ชุดปรับอากาศที่ใช้ในระบบรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์
3. การจัดซื้อรถปฏิบัติการซ่อมบำรุงสมรรถนะสูง (Rail&Road Vehicle) สำหรับใช้เคลื่อนที่บนรางและบนถนน จำนวน 1 ชุด ด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Auction) นั้น ไม่ได้ระบุยี่ห้อของรถปฏิบัติการซ่อมบำรุงสมรรถนะสูงใน TOR เนื่องจากเพราะต้องการเปิดให้มีการแข่งขันจากบริษัทที่สามารถจัดหารถที่สามารถปฏิบัติงานได้ตามข้อกำหนดใน TOR โดยมีการทำประชาพิจารณ์จากส่วนงานจัดซื้อและพัสดุถึง 2 ครั้ง และมีบริษัทที่สนใจเข้าร่วมประมูลถึง 2 ราย รวมทั้งใน TOR ได้กำหนดสเปกให้ใช้น้ำมันดีเซลยูโร 5 ซึ่งมีจำหน่ายที่ ปตท. และ บางจาก ไม่ได้กำหนดให้ใช้น้ำมันดีเซลยูโร 6 อย่างที่ปรากฏในเนื้อหาข่าวแต่อย่างใด ทั้งนี้ ในระบบรถไฟฟ้าที่มีโครงสร้างทางวิ่งลักษณะเดียวกันกับของ
สำหรับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ล้วนแล้วแต่มีรถปฏิบัติการซ่อมบำรุงสมรรถนะสูง (Rail&Road Vehicle) ทั้งสิ้น โดยมีเพียง รฟฟท. ที่ยังไม่มีรถปฏิบัติการซ่อมบำรุงสมรรถนะสูงดังกล่าว ดังนั้น การจัดซื้อรถปฏิบัติการซ่อมบำรุงสมรรถนะสูงจะเป็นการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์
4. การประมูลจ้างจัดหาและติดตั้งประตูกั้นชานชาลาแบบสูงครึ่งบาน (half height) ที่ 7
สถานี ด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Auction) ขณะนี้คณะกรรมการ รฟฟท. ได้มีมติให้ดำเนินการยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบสำนักนายกนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2549 ดังที่เคยได้ชี้แจงไปแล้วก่อนหน้านี้ในหนังสือเลขที่ รฟฟท.120401/2560 ลงวันที่ 4 ธันวาคม 2560
5. ระบบรักษาความปลอดภัยประจำสถานี สืบเนื่องจากกรณีเหตุการณ์ผู้โดยสารหญิงตกชานชาลาได้รับบาดเจ็บที่สถานีพญาไท เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2560 นั้น รฟฟท. ได้ทำหนังสือชี้แจงสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเลขที่ 110303/2560 ลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2560 ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมชี้แจงมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้โดยสารตกราง ได้แก่
5.1. ให้เจ้าหน้าที่ควบคุมรถไฟฟ้ากดแตรประจำขบวนรถไฟฟ้าก่อนเข้าสถานีทุกครั้ง
5.2. ควบคุมความเร็วรถไฟฟ้าที่วิ่งผ่านสถานี
5.3. การจำกัด/ลดจำนวนผู้โดยสารบนชั้นชานชาลา (Crowd Control)
5.4. การเพิ่ม/โยกย้ายเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยบนชั้นชานชาลาในช่วงเวลา
เร่งด่วน
5.5. การจัดโซนใช้บริการสำหรับบุคคลพิเศษ
5.6. การประชาสัมพันธ์ข้อมูลการใช้บริการ
กำลังโหลดความคิดเห็น