xs
xsm
sm
md
lg

“อาคม” สั่ง ทล.ทำแผนแก้ถนนทรุดดินสไลด์ ปรับปรุงจุดเสี่ยงเกิดซ้ำซาก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“อาคม” สั่งกรมทางหลวง ทบทวนแผนป้องกันปัญหาถนนทรุด ดินสไลด์ คอสะพานขาด วางกรอบดำเนินการปรับปรุงจุดเสี่ยง เกิดซ้ำซาก แก้ปัญหาระยะยาว หลังฝนตกหนักต่อเนื่องตลอดปีเกิดปัญหาทั่วประเทศ “อธิบดีกรมทางหลวง” เผยแต่ละปีมีถนนเสียหายจากน้ำท่วมมูลค่า 4-5 พันล้าน ได้รับงบซ่อม 200 ล้าน เร่งรวบรวมข้อมูลวางแผนแก้ปัญหาเชิงป้องกันระยะยาว ประหยัดงบซ่อมได้

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยในงานสัมมนาผู้บริหารกรมทางหลวง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ว่าได้เน้นเรื่อคุณภาพถนนซึ่งจะต้องมีความปลอดภัย มีมาตรฐาน การลงทุนในอนาคตต้องคำนึงถึงเรื่องอุปกรณ์อำนวยความสะดวก และลดการเกิดอุบัติเหตุ รวมถึงมองมิติการเชื่มโยงประเทศเพื่อนบ้านเพื่อสนับสนุนการค้าการขนส่งสินค้า ทั้งนี้ ในส่วนการรณรงค์การใช้ถนนจะทำอย่างเข้มงวด โดยในปี 2561 ได้เน้นเป็นพิเศษในเรื่องความเป็นเอกภาพในการส่งข้อมูลด้านความปลอดภัย “ขับช้า เปิดไฟหน้า คาดเข็มขัด” ที่เป็นสาเหตุลำดับต้นๆ ที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ ขณะที่ให้ระดมเจ้าหน้าที่เฝ้าเส้นทางถนนที่เป็นจุดเสี่ยงตลอด 24 ชั่วโมง

นอกจากนี้ ขอให้กรมทางหลวงทบทวนแผนป้องกันถนนทรุด ดินสไลด์ สะพานขาดเป็นแผนระยะ 5-10 ปี เป็นแผนเชิงป้องกันเนื่องจาก 2-3 ปีที่ผ่านมาเกิดฝนตกหนักต่อเนื่องเกือบทั้งปี เกิดปัญหาถนนทรุด สะพานขาด และดินสไลด์มาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นถนนที่รับโอนมาจากกรมชลประทาน หรือถนนตามแนวภูเขาที่ก่อนหน้านี้ไม่ได้ออกแแบบป้องกันไว้ เนื่องจากใช้งบประมาณสูง

นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวว่า โดยเฉลี่ยแต่ละปีกรมฯ ได้รับงบด้านซ่อมบำรุงถนนที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมประมาณ 200 ล้านบาท แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นจริงจะต้องใช้งบถึง 4-5 พันล้านบาท จึงต้องของบกลางมาดำเนินการแก้ไขทุกปี โดยพบว่าถนนที่เกิดดินสไลด์แต่ละปีจะใช้งบซ่อมประมาณ 800 ล้านบาท ดังนั้นแผนป้องกันดินสไลด์ ถนนทรุด สะพานขาด จะเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2563

“ปัญหาถนนชำรุดจากน้ำท่วม ระยะทาง 500 เมตร อาจจะใช้งบแก้ไข 10 ล้านบาท แต่กรณีถนนมีปัญหาดินสไลด์ ระยะทางแค่ 100 เมตรจะใช้งบถึง 100 ล้านบาท ซึ่งจุดถนนมีปัญหาดินสไลด์ทั่วประเทศ กรมฯ มีข้อมูลแล้ว เพราะเป็นจุดที่เกิดซ้ำซาก โดยแต่ละพื้นที่รูปแบบการแก้ปัญหาไม่เหมือนกัน ขึ้นกับกายภาพ ซึ่งกรณีใช้กำแพงกันดินหรือใช้ระบบแผ่นใยสำหรับถ่ายแรงปูรองเป็นชั้นๆ งบเฉลี่ยแสนบาทต่อเมตร แต่มีวิธีที่ประหยัดกว่า คือ ขยับแนวถนนเข้าไปด้านใน อาจจะมีการขุดภูเขาอีกด้านออกเพื่อให้พื้นถนนห่างจากแนวสไลด์ เป็นการแก้ไขเชิงป้องกันมากกว่าแก้ไขเฉพาะหน้า”
กำลังโหลดความคิดเห็น