xs
xsm
sm
md
lg

แอร์พอร์ตลิงก์อ่วม! ถูกร้องทุจริตจัดซื้อผ้าเบรก แฉ สตง.ตรวจสอบอีกหลายงานไม่โปร่งใส

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ร้องสอบแอร์พอร์ตลิงก์จัดซื้อผ้าเบรก 1,200 ชุดวิธีพิเศษ เจตนาหลีกเลี่ยง พ.ร.บ.จัดซื้อฯ 2560 โดยออกประกาศ 22 ส.ค. ก่อน พ.ร.บ.ใหม่มีผลเพียงวันเดียว แถมตั้งราคากลางย้อนหลัง รวมถึงเจตนาเอื้อประโยชน์ให้บริษัทใดบริษัทหนึ่ง ขณะที่ ศอตช.รับเรื่องส่ง ป.ป.ท.ตรวจสอบแล้ว ขณะที่ สตง.ส่งหนังสือตรวจสอบการจัดซื้ออีกหลายเรื่อง เหตุพฤติกรรมส่อทุจริต

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า ขณะนี้มีการร้องเรียนกรณี บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์) กระทำการทุจริตการจัดซื้อผ้าเบรกของรถไฟฟ้าจำนวน 1,200 ชุด และหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ไปยังศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ซึ่งผู้ร้องเรียนคือ นายอารัมย์ รมยานนท์ ได้ทำหนังสือถึง ศอตช.เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2560 ร้องเรียนกรณีมีการลงวันที่ย้อนหลังในเอกสารจัดซื้อ เป็นการหลีกเลี่ยงไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการ พ.ร.บ.จัดซื้อฯ 2560 และการสืบราคาจากบริษัทตัวแทนเพื่อตั้งเป็นราคากลาง เจตนาเอื้อประโยชน์ให้บริษัทใดบริษัทหนึ่ง ซึ่ง ศอตช. มีหนังสือ วันที่ 13 พ.ย.2560 ลงนามโดย พันตำรวจโท งามพล นิ่มลิ่มเต็ง นักสืบสวนสอบสวนชำนาญการพิเศษ ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการกองบริหารคดี ปฏิบัติราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ระบุว่า ได้พิจารณาส่งเรื่องดังกล่าวไปยังสำนักงาน ป.ป.ท.เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.มาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559

โดยเอกสารร้องเรียนระบุ 2 ประเด็น คือ กรณีการกำหนดราคากลางว่าเริ่มต้นรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ติดตั้งระบบห้ามล้อและผ้าเบรกที่เป็นผลิตภัณฑ์ของ Knoor Bremse AG.(คนอร์) จากประเทศเยอรมนี (ผู้แทนจำหน่ายในประเทศไทย คือ บจ.วิสุทธิ์เกษม (ประเทศไทย) โดยคนอร์ได้ว่าจ้างให้ Federal-Mogul Friction Products GmbH (OEM) ยี่ห้อ Ferodo) ประเทศเยอรมนีเป็นผู้ผลิตให้ได้ตามสเปกของคนอร์ (เจ้าของลิขสิทธิ์) ซึ่งมี U4S Co.,Ltd. (ยูโฟร์เอส) เป็นผู้แทนจำหน่ายในประเทศไทย และที่ผ่านมาแอร์พอร์ตลิงก์ได้เคยจัดซื้อจาก บจ.ยูโฟร์เอสมาใช้งานครั้งหนึ่ง

การประมูลครั้งนี้ได้ขอทราบราคาจาก บจ.วิสุทธิ์เกษมเพียงบริษัทเดียว แต่มีการออกหนังสือเชิญประมูลวิธีพิเศษ 2 บริษัท คือ บจ.วิสุทธิ์เกษม และยูโฟร์เอส เป็นการเอื้อประโยชน์ให้ บจ.ยูโฟร์เอส ทราบราคาประเมินล่วงหน้าของ บจ.วิสุทธิ์เกษม และเสนอราคาได้ต่ำกว่า เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกัน

นอกจากนี้ ยังมีการประกาศราคากลางย้อนหลังจากที่ประกาศ TOR และออกหนังสือเชิญเข้ายื่นราคาแล้ว โดยพบว่าแอร์พอร์ตลิงก์ได้ออกเอกสารจัดซื้อผ้าเบรก (Brake Pad) ของรถไฟฟ้าจำนวน 1,200 ชุด โดยวิธีพิเศษ เอกสาร เลขที่ รฟท.พ./600153 ลงวันที่ 22 ส.ค. 2560 ก่อน พ.ร.บ.จัดซื้อฯ 2560 ที่มีผลบังคับใช้ในวันที่ 23 ส.ค. 2560 เพียงวันเดียว และในวันเดียวกัน (22 ส.ค. 2560) ได้ออกหนังสือเชิญ บจ.วิสุทธิ์เกษม และ ยูโฟร์เอส ให้ยื่นข้อเสนอด้านเทคนิคและราคา และในวันที่ 22 ส.ค. 2560 คณะกรรมการกำหนดราคากลางได้ทำหนังสือขออนุมัติราคากลาง โดยได้รับอนุมัติจากรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ กลุ่มสายงานปฏิบัติการและซ่อมบำรุง ในวันที่ 14 ก.ย. 2560 หลังประกาศเชิญชวนไปแล้ว เป็นการกระทำย้อนหลัง เพื่อหลีกเลี่ยงปฏิบัติตาม พ.ร.บ.จัดซื้อฯ 2560 อย่างชัดเจน

แหล่งข่าวกล่าวว่า ขณะนี้การจัดซื้อจัดจ้างของแอร์พอร์ตลิงก์มีปัญหาอย่างมาก โดยที่ผ่านมาสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ทำหนังสือถึงกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. ไม่น้อยกว่า 4 เรื่อง ได้แก่ หนังสือ สตง.ลงวันที่ 27 ก.ค. 2560 กรณีการจัดซื้ออะไหล่สำหรับซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า (Overation Spare Part) ชุดปรับอากาศ (HVAC) จำนวน 2 รายการกับบริษัท บี.กริม เทรดดิ้ง คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด วงเงิน 24.95 ล้านบาท สัญญาลงวันที่ 28 เม.ย. 2560 นั้น ขอให้จัดส่งเอกสารจัดซื้อที่เกี่ยวข้องทั้งหมด, สำเนาซื้อขาย, สำเนาที่ บริษัท บี.กริม ได้รับแต่งตั้งเป็นตัวแทนเพียงผู้เดียว ระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดเมื่อใด

หนังสือ สตง.ลงวันที่ 13 ก.ย. 2560 กรณีการประมูลจ้างจัดหาและติดตั้งประตูกั้นชานชาลาแบบสูงครึ่งบาน (half height) ที่ 7 สถานี ด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Auction) ซึ่งอาจมีการพิจารณาไม่เป็นไปตามข้อกำหนดของเอกสารประกวดราคาข้อ 2.10 ซึ่งเป็นการกำหนดคุณสมบัติของผู้เสนอราคาจะต้องแสดงหนังสือรับรองว่าสามารถดำเนินการ ออกแบบ ติดตั้ง และทดสอบระบบประตูกั้นชานชาลาแบบสูงครึ่งบานให้เป็นไปตามเกณฑ์ค่าความปลอดภัยที่ระดับ SIL3 ตามมาตรฐานสากลที่ยอมรับทั่วไป โดยขอให้ทบทวนขั้นตอนการคัดเลือกคุณสมบัติของผู้เสนอราคาให้เป็นไปตามข้อกำหนด

หนังสือ สตง.ลงวันที่ 25 ต.ค. 2560 ตรวจสอบกรณีจัดซื้อรถปฏิบัติการซ่อมบำรุงสมรรถนะสูง (Rail&Road Vehicle) สำหรับใช้เคลื่อนที่บนรางและบนถนน จำนวน 1 ชุดด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Auction) โดยให้ส่งเอกสาร เหตุผลความจำเป็น วัตถุประสงค์ ราคากลาง ผลการประมูล การจัดซื้อก่อนหน้านี้มีหรือไม่ อย่างไร และรถปฏิบัติการซ่อมบำรุงสมรรถนะสูงที่อยู่ระหว่างใช้งานมีกี่คัน และหลักฐานในการนำรถที่จัดซื้อครั้งนี้ใช้ในภารกิจการซ่อมบำรุงรางรถไฟฟ้าอย่างไร

นอกจากนี้ ยังมีหนังสือ สตง.ลงวันที่ 18 ต.ค. 2560 ขอให้ตรวจสอบระบบรักษาความปลอดภัยประจำสถานี สืบเนื่องจากกรณีเหตุการณ์ผู้โดยสารหญิงตกชานชาลาได้รับบาดเจ็บที่สถานีพญาไท เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2560

แหล่งข่าวกล่าวว่า การจัดซื้อปฏิบัติการซ่อมบำรุงสมรรถนะสูง เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2560 อาจจะเข้าข่ายทุจริตโดยใช้นิติกรรมอำพรางทางเอกสารเนื่องจากข้อเท็จจริงแล้วรถแบบดังกล่าวคือยี่ห้อ Mercedec Benz UNIMOG แต่ TOR ไม่ระบุยี่ห้อ และเปลี่ยนชื่อรถปฏิบัติการซ่อมบำรุงสมรรถนะสูง เพื่อหลีกเลี่ยงการสอบราคากลางจากเบนซ์ ที่สำคัญแอร์พอร์ตลิงก์ไม่มีความจำเป็นต้องใช้รถดังกล่าว เพราะเป็นรถล้อยางที่ออกแบบใช้สำหรับพื้นราบ รถไฟพื้นราบที่มีคันทางที่ล้อยางจะสามารถขึ้นลงจากด้านไหนก็ได้ หลังปฏิบัติภารกิจเสร็จสิ้นนำรถลงได้ทันที

ขณะที่ความเร็วรถหากบนพื้นราบสูงสุดที่ 80 กม./ชม. กรณีวิ่งบนรางไปข้างหน้า ความเร็วสูงสุด 45 กม./ชม. วิ่งถอยหลังจะเหลือ 25 กม./ชม. การสั่งซื้อมาใช้งานกับรถไฟฟ้าที่เป็นรางลอยฟ้า ทำให้ขึ้นลงได้จุดเดียวคือโรงซ่อมศูนย์วิจัย การวิ่งใช้ความเร็วได้ต่ำ จึงต้องเผื่อเวลากลับด้วย ทำให้ใช้งานด้านซ่อมบำรุงได้น้อย

นอกจากนี้ กำหนดสเปกใช้น้ำมันดีเซล EURO 6 ซึ่ง ปตท.ไม่มีจำหน่ายในปัจจุบัน หากใช้ EURO 5 เครื่องยนต์จะเสียหาย และไม่สามารถเรียกเคลมประกันได้เพราะเป็นความผิดของผู้ใช้ เรื่องนี้อาจเป็นการใช้งบประมาณที่ไม่ถูกต้องหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น