xs
xsm
sm
md
lg

“ไพรินทร์” ทำงานวันแรก พร้อมลุยโครงการเชื่อม EEC-แก้ปัญหาเมล์ NGV ยันคนไทยต้องได้นั่งรถใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ไพรินทร์” เข้าทำงานวันแรก โดยสักการะพระพุทธคมนาคมบพิธ และศาลพระภูมิ และพบผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงคมนาคม เผย “อาคม” จะมีการประชุมแบ่งงานในวันที่ 4 ธ.ค.นี้ พร้อมลุยโครงการหนุน EEC ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ เผยแก้ปัญหารถเมล์ NGV ไม่ยากหากปลอดการเมือง พร้อมเดินหน้าสมาร์ทซิตี้นำร่อง “พหลโยธิน-เชียงราก”

วันนี้ (1 ธ.ค.) เวลา 07.40 น. นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เข้าสักการะพระพุทธคมนาคมบพิธ และศาลพระภูมิ เนื่องในโอกาสเข้ารับตำแหน่ง โดยมีนายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ นายสมศักดิ์ ห่มม่วง และนายกฤชเทพ สิมลี รองปลัดกระทรวงคมนาคม ให้การต้อนรับ โดยหลังจากนั้นได้ร่วมหารือถึงโครงการต่างๆ ของกระทรวงคมนาคม

ทั้งนี้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ระบุว่า จะหารือกับนายไพรินทร์เพื่อแบ่งส่วนงานกำกับดูแล รวมถึงจะประชุมร่วมหัวหน้าหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจกระทรวงคมนาคม ในวันที่ 4 ธ.ค.นี้

นายไพรินทร์กล่าวว่า ขอรอความชัดเจนเรื่องหน่วยงานที่จะให้ดูแล และรับนโยบายจาก รมว.คมนาคมก่อน ซึ่งโดยพื้นฐานจากประสบการณ์ทำงานที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ ที่มีการลงทุนน่าจะมากที่สุด มีความเชี่ยวชาญในการดำเนินโครงการต่างๆ จะนำมาใช้กับการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ของกระทรวงคมนาคมได้ ซึ่งมีแผนงานดีแล้ว เช่น การพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิระยะ 2 มอเตอร์เวย์ และรถไฟความเร็วสูง รวมถึงท่าเรือ และการเชื่อมโยงระบบขนส่ง รถ ราง เรือ เพียงแต่อาจจะต้องเร่งรัดให้สอดคล้องกับแนวคิดไทยแลนด์ 4.0 และโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

ทั้งนี้ การพัฒนาพื้นที่ EEC นั้นเดิมคือ อีสเทิร์นซีบอร์ด ซึ่งประสบการณ์เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ผมเป็นวิศวกรชุดแรกที่เข้าไปบุกเบิกการเวนคืนนิคมมาบตาพุด จนทำให้เป็นนิคมที่ติดท็อป 10 ของโลก และดัน GDP ของประเทศขึ้น 20-30% ดังนั้น หากขับเคลื่อน EEC ได้สำเร็จจะเป็นตัวหลักที่ทำให้ GDP ของไทยขึ้นไปอีกขั้นหนึ่งได้

***พร้อมเดินหน้า สมาร์ทซิตี้นำร่อง “พหลโยธิน-เชียงราก”

สำหรับแนวคิดโครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ หรือสมาร์ทซิตี้ ซึ่งก่อนหน้านี้ ปตท.ได้เสนอผลการศึกษาและแผนลงทุน โดยเสนอใน 10 เมือง มีเงื่อนไขอยู่คู่ขนานไปกับเส้นทางรถไฟทางคู่ โดยแต่ละพื้นที่จะมีลักษณะเฉพาะสำหรับการทำ Smart City ที่ต่างกันไป ซึ่งส่วนกลางมีที่พหลโยธินของการรถไฟฯ เป็นศูนย์กลางด้านคมนาคม และเชียงราก จะเป็นเมืองสำหรับอาศัยและเดินทางไปทำงานที่กรุงเทพฯ ได้สะดวก ซึ่งหากได้รับมอบหมายให้ดูแล การรถไฟฯ จะผลักดัน Smart City แน่นอน

นอกจากนี้ สถานีกลางบางซื่อถือว่ามีศักยภาพในการพัฒนาสูงมากและได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติมาก เป็นศูนย์กลางการขนส่งที่เชื่อมโยงไปถึงพื้นที่ EEC ซึ่งหากนำโมเดลโยโกฮามาของญี่ปุ่นที่เป็นเมืองอุตสาหกรรมที่รองรับโตเกียว โดยมีมอเตอร์เวย์ 3 สายและมีขนส่งทางน้ำด้วย ขณะที่ไทยมีมอเตอร์เวย์เชื่อม 1 เส้นอาจจะไม่เพียงพอ ซึ่งหากวางแผนระบบขนส่งทางบก ทางราง ทางน้ำที่ดี จะรองรับการเติบโตของ EEC ได้อีก 20-30 ปี

“เชื่อว่าจะช่วยและผลักดัน EEC ให้สำเร็จได้ ซึ่งผมเรียนจบจากญี่ปุ่น คุ้นเคยกับนักลงทุนญี่ปุ่นดี และเชื่อว่าจะเห็นการลงทุนใหญ่ใน EEC อีกระลอก และประเทศไทยจะพ้นกับดักรายได้ปานกลางได้”

***แก้ปัญหารถเมล์ NGV ไม่ยาก หากปลอดการเมือง

สำหรับปัญหาการจัดซื้อรถเมล์ NGV นั้น เห็นว่าการแก้ปัญหาไม่ใช่เรื่องยาก ซึ่งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เป็นหน่วยงานที่รัฐต้องให้ความสำคัญ หาก ขสมก.ปลอดการเมืองการประมูลไม่ใช่เรื่องใหญ่ ไม่แน่ใจว่ามีปัญหาอะไรถึงใช้เวลากว่า 10 ปีซื้อรถไม่ได้ ซึ่งมองว่าควรจะแยกปัญหาที่มี 3 ส่วน คือ เทคนิค กฎหมาย และพาณิชย์ออกจากกันแก้ให้ถูก ส่วนจะประมูลหรือไม่ไม่ใช่ประเด็น แต่เป้าหมายคือจะทำอย่างไรที่จะให้ประชาชนมีรถดี รถใหม่ใช้บริการ

ทั้งนี้ NGV ยังเป็นพลังงานทางเลือกที่ดีสำหรับประเทศไทย เป็นพลังงานที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม และประเทศไทยใช้ก๊าซถึง 60% และมีระบบท่อที่แข็งแกร่ง แต่หากรัฐต้องอุดหนุนเพื่อให้ราคาขายสำหรับคนไทยถูกก็เป็นแนวคิดที่ไม่ถูกต้อง และการใช้พลังงานก๊าซในอ่าวไทยต้องคิดเผื่ออนาคตด้วย ขณะที่รถเมล์ไฟฟ้าจะเป็นอีกตัวเลือกในอนาคตอันใกล้

ส่วนกรณีปัญหาท่อก๊าซ ปตท.กีดขวางแนวการก่อสร้างโครงการรถไฟนั้น นายไพรินทร์กล่าวว่า ท่อไม่ได้เป็นภาระของใคร หากเจอก็ข้ามได้ ส่วนกรณีรถไฟไทย-จีน ช่วงประมาณ 40 กม.ที่ต้องรื้อท่อก๊าซ หากจำเป็นก็ต้องรื้อ แต่แนวคิดของผมข้างถนน หรือรางควรมีระบบท่อคู่ไปด้วย เพราะปัจจุบันคนไทยภาคเหนือและอีสานยังไม่มีโอกาสใช้ก๊าซในอ่าวไทยเพราะระบบท่อไปไม่ถึง มีแค่ 20 กว่าจังหวัดได้ใช้ NGV ดังนั้นควรวางแผนเรื่องระบบท่อร่วมไปด้วย เพราะการนำพลังงานไปให้คือนำความเจริญไปด้วย

อย่างไรก็ตาม นายไพรินทร์กล่าวว่า ความตั้งใจส่วนตัวเห็นว่าควรจะเร่งแก้ปัญหาอุบัติเหตุบนถนน เพราะสถิติของไทยมากติดอันดับโลก มีความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่ง ปตท.เป็นบริษัทที่ใช้การขนส่งมาก หลายรูปแบบ ทั้งท่อ ราง ถนน หากเกิดอุบัติเหตุจะเสียหายมาก จึงได้กำหนดเป้าหมายอุบัติเหตุเป็นศูนย์ มีการลงทุนด้านเทคโนโลยี ติดกล้องบนรถ เพราะ 90% อุบัติเหตุเกิดจากคนขับ ซึ่งสามารถแก้ปัญหาได้ ในส่วนของรัฐ จำเป็นต้องร่วมมือกับเอกชนเพื่อร่วมกันแก้ปัญหา และสร้างจิตสำนึก เชื่อว่าจะลดสถิติอุบัติเหตุลงได้


กำลังโหลดความคิดเห็น