“ผอ.สสว.คนใหม่” เปิดวิสัยทัศน์ “พลิก SME ไทยสู่อนาคต” ด้วย 3 นโยบายหลักทั้งการปรับเปลี่ยนรูปแบบ การเปลี่ยนแนวคิดสู่สากล การพัฒนาเครือข่ายรับการแข่งขันยุคดิจิตอล ชี้ SMEs มีส่วนสำคัญต่อ ศก.ประเทศ ล่าสุด GDP SME ขยายตัวสูงสุดในรอบ 8 ไตรมาส ปล่อยงบฯ ปี 2561 จำนวน 1,220 ล้านบาท มุ่งเป้าส่งเสริม SME ไทยกว่า 3 แสนราย
นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า การขับเคลื่อนวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (SMEs) ไทย ในระยะต่อไปจะดำเนินการตามแนวคิด “พลิก SME ไทยสู่อนาคต (Reinventing SME Future)” ด้วยนโยบายหลัก 3 เรื่อง โดย 1. การปรับเปลี่ยนรูปแบบ (Transformation) 2. การปรับเปลี่ยนแนวคิด SME สู่สากล (Internationalization) และ 3. การพัฒนาเครือข่ายเพื่อบูรณาการความร่วมมือรัฐและเอกชนให้ช่วยเหลือ SME ได้ดีที่สุดและพัฒนาให้ SME ปรับตัวได้ภายใต้การแข่งขันในยุคดิจิตอลซึ่งจะสอดรับกับแผนงบประมาณของ สสว.ในปัจจุบัน
ทั้งนี้ นโยบายหลักทั้ง 3 ด้าน เป็นไปตามแผนการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ฉบับที่ 4 (ปี 2560-2564) ซึ่งได้กำหนดกลุ่มเป้าหมาย SME จำนวน 6 สาขาธุรกิจ คือ 1. กลุ่มธุรกิจด้านดิจิตอล 2. ธุรกิจเชิงสร้างสรรค์และนวัตกรรม 3. ธุรกิจบริการที่มีมูลค่าสูง 4. ธุรกิจด้านเครื่องจักรกล วิศวกรรม อิเล็กทรอนิกส์เชิงกล และหุ่นยนต์ 5. กลุ่มธุรกิจด้านอาหาร การเกษตร และอุตสาหกรรมชีวภาพ 6. กลุ่มธุรกิจด้านสุขภาพและที่เกี่ยวเนื่องกับการแพทย์
โดยปี 2561 เน้น 4 แนวทางการส่งเสริมเอสเอ็มอี ประกอบด้วย 1. สร้างและพัฒนาผู้ประกอบการใหม่เชิงสร้างสรรค์และนวัตกรรม (Start up) 2. ส่งเสริมเอสเอ็มอีกลุ่มทั่วไป (Regular) ให้มีศักยภาพและผลิตภาพมากขึ้น รวมถึงให้ความช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ประสบปัญหาทางธุรกิจ (Turn Around) 3. ส่งเสริมเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพ (Strong) ให้มีความสามารถในการแข่งขันได้มากขึ้น และ 4. พัฒนาระบบนิเวศที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจและส่งเสริมเอสเอ็มอี (Ecosystem) ตามแนวทางพระราชดำริ
“งบประมาณปี 2561 รัฐบาลได้จัดสรรวงเงินให้แก่ สสว. ทั้งสิ้น 1,220 ล้านบาท และอนุมัติให้ สสว.ดำเนินการแล้ว 24 โครงการ จาก 30 โครงการ ซึ่งโครงการที่เหลืออยู่ระหว่างการพิจารณา โดยตั้งเป้าหมายจะส่งเสริม SME ไทยทั้งสิ้น 272,882 ราย สร้างผลิตภัณฑ์เข้าสู่ตลาด 101,462 ผลิตภัณฑ์ พัฒนากิจการ 2,000 แห่ง และสร้างความร่วมมือภาครัฐและเอกชน 58 เครือข่าย จึงเชื่อว่าจะสามารถต่อยอดให้แก่ภาคเศรษฐกิจไทยได้เพิ่มขึ้น” นายสุวรรณชัยกล่าว
ปัจจุบันธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) เป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญต่อภาวะเศรษฐกิจไทยโดย ไตรมาส 3 ปี 2560 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของเอสเอ็มอี (GDP SME) ขยายตัว 5.3% นับเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 8 ไตรมาส สอดคล้องกับ GDP ของประเทศขยายตัวได้ถึง 4.3% ทำให้สัดส่วน GDP SME ขยับมามาอยู่ที่ 42.6% ของ GDP ประเทศ หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 1.62 ล้านล้านบาท จึงประมาณการ GDP SME จะเติบโตได้ในปี 2560 เฉลี่ยอยู่ที่ 5.0%