xs
xsm
sm
md
lg

ก.อุตฯ สั่งจัดตั้งศูนย์ ICT ในนิคมอุตสาหกรรมยางพารา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ก.อุตฯ มอบหมายให้ กนอ.และ กสอ.ร่วมกันจัดตั้งศูนย์ ICT ในนิคมอุตสาหกรรมยางพารา จ.สงขลา หวังรองรับการลงทุนในพื้นที่ภาคใต้ พร้อมหนุนจัดตั้งเขตประกอบการหรือนิคมอุตสาหกรรม ของบริษัท ปาล์มพัฒนาชายแดนใต้ จำกัด 3.6 พันไร่

นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยระหว่างการลงพื้นที่ในช่วงการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ (สัญจร) เมื่อวันที่ 26-27 พฤศจิกายน 2560 ในจังหวัดสงขลา และปัตตานี ว่า ได้ติดตามความคืบหน้านิคมฯ อุตสาหกรรมยางพารา (Rubber City) พื้นที่ 1,248 ไร่ ตั้งอยู่ที่ตำบลฉลุง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และการรับฟังความเห็นของผู้ประกอบการในพื้นที่ซึ่งการพัฒนานิคมฯ คืบหน้ากว่า 70% คาดว่าจะเสร็จ เม.ย. 2561 ขณะนี้มีนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติให้ความสนใจมาก จึงมอบหมายให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ร่วมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา จัดตั้งศูนย์ Industrial Transformation Center หรือ ITC ในนิคมอุตสาหกรรม Rubber City โดยใช้เงินกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ เพื่อให้บริการพัฒนานวัตกรรมและกระบวนการแปรรูปยางพาราขั้นปลายแก่กลุ่ม SMEs ในพื้นที่สงขลา และจังหวัดใกล้เคียง

“มีนักลงทุนตั้งโรงงานแล้วจำนวน 3 ราย ใช้พื้นที่ประมาณ 35 ไร่ และอยู่ระหว่างการทำสัญญาอีก 3 ราย จะใช้พื้นที่ประมาณ 141 ไร่ และภายในพื้นที่โครงการยังได้เตรียมพื้นที่ซึ่งเป็นอาคารโรงงานมาตรฐานสำหรับกลุ่ม SMEs และวิสาหกิจชุมชนให้สามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ในการผลิตสินค้าจากการแปรรูปยางพารา โดยปัจจุบันมีเอสเอ็มอีเข้ามาใช้พื้นที่แล้ว 6 ราย ทั้งนี้ คาดว่าเมื่อนิคมอุตสาหกรรม Rubber City เปิดดำเนินการเต็มพื้นที่จะสามารถจ้างงานเพิ่มขึ้นกว่า 7,000 คน และสามารถใช้ยางพาราเพิ่มขึ้นกว่า 3 แสนตันต่อปี" นายพสุกล่าว

นอกจากนี้ยังได้หารือการต่อยอดเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร เช่น ปาล์มน้ำมัน และมะพร้าว กับบริษัท ปาล์มพัฒนาชายแดนใต้ จำกัด ในอำเภอหนองจิก ปัตตานี เพื่อผลักดันให้พื้นที่โครงการกว่า 3,600 ไร่เป็นเขตประกอบการอุตสาหกรรม หรือร่วมดำเนินงานกับ กนอ.ในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมสำหรับแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรทั้งปาล์มน้ำมันและมะพร้าวแบบครบวงจร มีฟาร์มปศุสัตว์ เลี้ยงแพะ ไก่เบตง โดยจะไม่ก่อให้เกิดมลพิษและกากอุตสาหกรรม หรือที่เรียกว่า Zero Waste และยังผลักดันให้เกิดวิสาหกิจใหม่ที่เป็น Startups โดยเฉพาะการต่อยอดอุตสาหกรรมแปรรูปมะพร้าวในส่วนที่เป็นนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง ฯลฯ โดยอยู่ภายใต้โครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ซึ่งศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นเจ้าภาพหลัก

“การประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่วันที่ 28 พฤศจิกายนนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมให้การสนับสนุนโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ที่ดำเนินการโดย ศอ.บต. โดยเฉพาะการขออนุญาตตั้งเป็นเขตประกอบการอุตสาหกรรม หรือการร่วมดำเนินการกับ กนอ.ในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม ของบริษัท ปาล์มพัฒนาชายแดนใต้ จำกัด ที่แจ้งความประสงค์จะพัฒนาพื้นที่ 3,600 ไร่ให้กลายเป็นเมืองต้นแบบเกษตรอุตสาหกรรม” นายพสุกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น