xs
xsm
sm
md
lg

กฟผ.มอบโรงสีข้าวให้วิสาหกิจชุมชนชาวนาแห่งแรกใน จ.อุบลราชธานี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กฟผ.มอบโรงสีข้าวแก่วิสาหกิจชุมชนโรงสีชาวนาบ้านโคกเที่ยง จ.อุบลราชธานี สืบสานพระราชปณิธานด้านการดูแลชาวนา พัฒนาท้องถิ่น และสร้างอาชีพในระยะยาวให้แก่ชาวนาในพื้นที่เขื่อนสิรินธร วางเป้าหมายอีก 7 แห่งที่จะดำเนินการให้เสร็จในปี 2561

วันนี้ (27 พฤศจิกายน 2560) นายนิกูล ศิลาสุวรรณ รองผู้ว่าการผลิตไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นประธานในพิธีเปิดและมอบโรงสีข้าวแก่วิสาหกิจชุมชนโรงสีชาวนาบ้านโคกเที่ยง อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี โดยมี นายสุรพล แสนทวีสุข ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ เป็นผู้รับมอบ และชาวบ้านในชุมชนบ้านโคกเที่ยง พร้อมด้วยภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงาน

นายนิกูล กล่าวว่า การมอบโรงสีข้าวแก่วิสาหกิจชุมชนโรงสีชาวนาบ้านโคกเที่ยง จ.อุบลราชธานี เป็นส่วนหนึ่งของการสืบสาน “พระราชปณิธานด้านการดูแลชาวนา” จัดทำขึ้นเพื่อสนับสนุนชาวนาของพ่อบริเวณโดยรอบเขื่อน โรงไฟฟ้า พื้นที่ใกล้แนวสายส่ง และสถานีไฟฟ้าแรงสูงของ กฟผ.ให้มีความเป็นอยู่อย่างยั่งยืน โดยที่ผ่านมาได้ดำเนินการมอบโรงสีข้าวให้วิสาหกิจชุมชนไปแล้ว 1 แห่ง คือ วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ กฟผ. บ้านเสรียง จ.สุรินทร์ และในวันนี้เป็นการส่งมอบโรงสีข้าวให้วิสาหกิจชุมชนโรงสีชาวนาบ้านโคกเที่ยง จ.อุบลราชธานี

“กฟผ.มีแผนงานจะสนับสนุนโรงสีข้าวให้แก่วิสาหกิจชุมชนอีกจำนวน 7 แห่ง ที่ จ.กระบี่ จ.อุดรธานี จ.ปทุมธานี จ.ราชบุรี จ.กาญจนบุรี จ.พิษณุโลก และ จ.ตาก โดยคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2561

สำหรับวิสาหกิจชุมชนโรงสีชาวนาบ้านโคกเที่ยงอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงเขื่อนสิรินธรของ กฟผ. เป็นวิสาหกิจชุมชนแห่งแรกที่เกิดจากการรวมตัวกันของชาวนาในพื้นที่ อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี กฟผ.จึงสนับสนุนโรงสีข้าววิสาหกิจขนาดใหญ่ที่สุดที่ได้มาตรฐานแห่งแรกของ จ.อุบลราชธานี เป็นเครื่องสีข้าวขนาด 3 ลูกหิน สามารถสีข้าวได้ทุกประเภท ทั้งข้าวเจ้า ข้าวเหนียว ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ และข้าวไรซ์เบอร์รี มีกำลังการผลิตประมาณ 7 ตันข้าวเปลือกต่อวัน

ชุมชนจะร่วมกันบริหารจัดการและดูแลโรงสีข้าวด้วยตัวเอง คือ จำหน่าย จ่าย แจกในชุมชน ซึ่งราคาจะขึ้นอยู่กับชนิดของข้าว ส่วนผลพลอยได้จากการสีข้าว เช่น แกลบ รำ จะนำไปขายแล้วนำเงินมาไว้ใช้บริหารโรงสีข้าวสำหรับเป็นค่าสาธารณูปโภค ค่าแรง และค่าบำรุงรักษาโรงสีข้าว โดยคณะกรรมการโรงสีจะต้องรายงานผลการดำเนินงานต่อ กฟผ. เพื่อติดตามประเมินผลต่อไป ทั้งนี้ การจัดตั้งโรงสีข้าวให้แก่ชาวนาถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางการแก้ปัญหาแบบยั่งยืน ช่วยให้ชาวนามีกำไรมากกว่าการขายข้าวเปลือกในรูปแบบเดิม ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น สามารถพึ่งพาตนเองได้

นอกจากนี้ กฟผ.มีแผนพัฒนาส่งเสริมต่อยอดสู่การเป็นชุมชนต้นแบบชีววิถี กฟผ.ให้ชาวบ้านหันมาทำเกษตรแบบพึ่งพาตนเอง โดยใช้จุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพมาทำการเกษตร เลี้ยงสัตว์ ทำประมง และบำบัดสิ่งแวดล้อม มีผลผลิตเหลือจึงขาย สร้างรายได้ สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนอีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น