xs
xsm
sm
md
lg

“บอลโลก” พุ่งพันล้านทีวีดิจิตอลเมิน ชูกีฬาไทยแข่ง-เพิ่มเรตติ้งดีกว่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการรายวัน 360 - ทีวีดิจิตอลเมินประมูลบอลโลก 2018 มูลค่า 1,100 ล้านบาท เหตุต้นทุนเลี้ยงช่องยังไปไม่รอด งบคอนเทนต์ต่อปีต้องใช้ 500-1,000 ล้านบาท แถม กสทช.ออกกฎ MUST HAVE ให้บอลโลกออกอากาศทางฟรีเท่านั้น ชี้ทีวีดิจิตอลเลือกกีฬาที่คนไทยแข่งดีกว่า เชื่อโกยเรตติ้งทำเงินได้

เมื่อ 4 ปีก่อนที่ทีวีดิจิตอลจะเกิด กระแสการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดคอนเทนต์กีฬาดังระดับโลกเป็นที่นิยมของกลุ่มทุนไทยอย่างมาก เพราะมั่นใจได้ว่าทุกรายการที่ซื้อมาย่อมสร้างกำไรได้อย่างแน่นอน โดยเฉพาะฟุตบอลอังกฤษพรีเมียร์ลีก และการแข่งขันฟุตบอลโลก ทั้งจากสปอนเซอร์ และค่าสมัครสมาชิกในการรับชม

แต่พออุตสาหกรรมทีวีดิจิตอลของไทยเกิดขึ้น และไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์กันไว้ จากที่มองว่าเป็นตลาดที่มีอนาคต กลายเป็นตลาดที่ไร้ความหวัง ย่อมส่งผลต่อการลงทุนในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดคอนเทนต์กีฬาดังระดับโลกเหล่านี้ตามไปด้วย เพราะส่วนหนึ่งของทุนไทยได้เข้ามาเป็นสู่ตลาดทีวีดิจิตอลเต็มตัว เช่น บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ผู้ซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2014 ครั้งก่อน ปีนี้กลับไม่สนใจเพราะต้องให้ความสำคัญต่อทีวีดิจิตอลที่ประมูลมา 1 ช่อง คือ ช่อง 8 ให้อยู่รอด คุ้มกับที่ลงทุนไป

ขณะเดียวกัน มูลค่าลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2018 (2561) ครั้งนี้กลับเพิ่มขึ้น 3 เท่า หรือมีมูลค่าสูงถึง 1,100 ล้านบาท เทียบกับครั้งก่อนที่อาร์เอสได้มาอยู่ที่ประมาณ 300 กว่าล้านบาท ยิ่งเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ไม่มีทีวีช่องใดสนใจที่จะลงทุนซื้อลิขสิทธิ์ในครั้งนี้ เพราะมีมูลค่าสูงกว่าการลงทุนด้านคอนเทนต์ของแต่ละช่องที่ใช้อยู่ที่ 500-1,000 ล้านบาท/ปี บวกกับ กสทช.ออกกฎ MUST HAVE ให้คอนเทนต์ฟุตบอลโลกออกอากาศทางช่องฟรีทีวีเท่านั้น ทำให้เอกชนที่ซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกไม่สามารถทำกำไรได้ตามกลไกของตลาด หรือสามารถทำรายได้จากสปอนเซอร์เท่านั้น ไม่สามารถทำรายได้จากค่าสมาชิกในการรับชม

ดังนั้น การที่ช่องทีวีดิจิตอลช่องใดช่องหนึ่ง หรือหลายช่องรวมตัวกันเพื่อเข้าซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2018 ครั้งนี้มาจึงเป็นไปได้ยาก เพราะเป็นคอนเทนต์ที่มีต้นทุนสูง แต่เม็ดเงินโฆษณาต่ำจากสภาพเศรษฐกิจที่ยังนิ่ง ลูกค้าชะลอใช้งบโฆษณา และแต่ละช่องมีการนำเสนอคอนเทนต์ที่แตกต่างในการชิงฐานผู้ชมกลุ่มเดียวกัน บวกกับปัจจัยอื่นๆ ที่อยู่เหนือการควบคุม เช่น ช่วงเวลาแข่งขัน ทีมที่แข่งขัน ล้วนเป็นตัวแปรสำคัญของรายได้ทั้งสิ้น “ฟุตบอลโลก 2018” จึงกลายเป็นคอนเทนต์ที่ไม่ตอบโจทย์ในเวลานี้ไปอย่างน่าเสียดาย
นายภวัต เรืองเดชวรชัย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มีเดีย อินไซต์ จำกัด
นายภวัต เรืองเดชวรชัย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มีเดีย อินไซต์ จำกัด ได้กล่าวไว้ว่า การลงทุนและบริหารจัดการของทีวีดิจิตอลแต่ละช่องจะใช้ไม่ต่ำกว่า 3,000-4,000 ล้านบาทต่อปี และกว่า 500-1,000 ล้านบาทเป็นงบคอนเทนต์ ส่งตลาดโฆษณารวมบนสื่อทีวีมีเพียง 50,000 ล้านบาท หากเฉลี่ยรายได้ให้แต่ละช่องจะอยู่ที่ 2,300 ล้านบาท ซึ่งเทียบกับต้นทุนแล้วยังถือว่าไม่เพียงพอต่อการลงทุนและการดำเนินการที่เกิดขึ้นต่อปี

จากต้นทุนของแต่ละช่อง การที่ทีวีดิจิตอลจะยอมทุ่มทุนซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2018 จึงไม่มีทางเป็นไปได้ แต่จะเห็นได้ว่าทิศทางการซื้อลิขสิทธิ์รายการกีฬาดังระดับโลกนั้นยังคงเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์หลักของทีวีดิจิตอลอยู่ เพียงแต่คอนเทนต์เหล่านั้นจะต้องตอบโจทย์ผู้ชมคนไทยที่เป็นที่นิยมและเข้าถึงความเป็นไทยได้จริงๆ ซึ่งจะสามารถเรียกเรตติ้งรวมถึงรายได้จากสปอนเซอร์ได้ดีกว่า โดยเฉพาะรายการกีฬาที่มีคนไทยร่วมแข่งขัน เช่น แบดมินตัน, วอลเลย์บอล รวมถึงแมตช์การแข่งขันรอบคัดเลือกของทีมฟุตบอลไทยสู่ฟุตบอลโลก เป็นต้น ซึ่งรายการกีฬาเหล่านี้ใช้ทุนไม่สูงมาก เมื่อเทียบกับฟุตบอลโลกที่จะมาถึง

ปีนี้ช่อง 3 ให้ความสำคัญต่อคอนเทนต์และซื้อลิขสิทธิ์กีฬาดังหลายรายการ เช่น ลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาวอลเลย์บอล 4 ทัวร์นาเมนต์ระดับโลกของ FIVB 4 ปีซ้อน ปี 2560-2563 คือ รายการเวิลด์ กรังด์ปรีซ์, เวิลด์ ลีก, คลับ เวิดล์ แชมเปียนชิป ผู้หญิง และคลับ เวิลด์ แชมเปียนชิป ผู้ชาย เป็นต้น

ส่วนทางช่อง 7 มีลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลเยอรมันคัพ 2017/2018 รวมถึงคอนเทนต์กีฬา 7 สี ทั้งฟุตบอล และวอลเลย์บอล ส่วนช่อง PPTV ได้ลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีกฤดูกาลใหม่ 2017-2018 รวม 26 แมตช์ และการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลบุนเดสลีกาเยอรมัน ตลอดทั้งฤดูกาลในปีนี้รวมกว่า 102 แมตช์ ด้านช่องโมโน 29 เลือกกีฬาบาสเกตบอลเป็นหัวหอก

นอกจากการซื้อลิขสิทธิ์กีฬาโลก แต่ละช่องยังผลิตคอนเทนต์กีฬาเอง เช่น ช่อง 3 กับ รายการมวย ไทยไฟต์, ช่อง 8 กับ 8 แม็กซ์ มวยไทย, ช่องเวิร์คพ้อยท์ ทีวี กับซูเปอร์มวยไทย และการถ่ายทอดสดกีฬาชกมวยที่มี บัวขาว บัญชาเมฆ ขึ้นชก เป็นต้น

การนำเสนอคอนเทนต์กีฬาเป็นอีกกลยุทธ์ที่ผลักดันให้ฟรีทีวีมีเรตติ้งดี และเป็นที่จดจำของผู้ชมได้ไม่ยาก และง่ายต่อสร้างรายได้ ถือเป็นการลงทุนครั้งเดียวสร้างรายได้ดี มีความเสี่ยงน้อยกว่าการซื้อลิขสิทธิ์กีฬาระดับโลกอย่าง ฟุตบอลโลก 2018 ในเวลานี้

ในที่สุดคนไทยจะมีโอกาสได้ดูการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2018 หรือไม่นั้น งานนี้ต้องดูที่ฝีมือของ กสทช.ว่าจะออกมาในรูปแบบใด ในฐานะเป็นผู้เรียนผูกก็ต้องเรียนแก้ จากการออกกฎ MUST HAVE ที่กำหนดให้ฟุตบอลโลกเป็น 1 ใน 7 รายการที่ต้องออกอากาศทางฟรีทีวีเท่านั้น...
กำลังโหลดความคิดเห็น