xs
xsm
sm
md
lg

รฟม.พร้อมงัดแผนสำรองจ้างตรงบีทีเอส หวั่น กทม.ยื้อโอนหนี้ทำเปิดเดินรถล่าช้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


บอร์ด รฟม.สั่งเร่งหาข้อยุติโอนเดินรถสายสีเขียว กทม. หวั่นยืดเยื้อกระทบกำหนดเปิดเดินรถ พร้อมงัดแผนสำรองจ้างตรงบีทีเอส แทนโอน กทม. หากเจรจาโอนหนี้ไม่ลงตัว

นายฤทธิกา สุภารัตน์ รองผู้ว่าการ (บริหาร) รักษาการแทนผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า เนื่องจากมีประธานบอร์ดคนใหม่และมีกรรมการใหม่บางคนเข้าร่วมเป็นครั้งแรก จึงเป็นการพูดคุย ทำความเข้าใจถึงระบบงานและความคืบหน้าการดำเนินโครงการต่างๆ ทั้งนี้ ประธานบอร์ดคนใหม่เห็นว่า รฟม.ควรมีการตั้ง Management Commitee หรือคณะกรรมการของฝ่ายบริหาร รฟม.เพื่อช่วยกลั่นกรองเรื่องก่อนเสนอเข้าที่ประชุมบอร์ด โดยมีระดับรองผู้ว่าฯ หรือผู้ช่วยผู้ว่าฯ ในแต่ละสายงานร่วมในคณะกรรมการชุดนี้

ส่วนกรณีที่มีการถอดที่นั่งของรถไฟฟ้า MRT นั้น ประธานบอร์ดเห็นว่าเป็นเรื่องที่มีผลเกี่ยวข้องและกระทบต่อประชาชน ดังนั้น ในการจะดำเนินการใด BEM ควรแจ้ง รฟม.ให้ทราบก่อน ซึ่งขณะนี้ยังถือเป็นช่วงทดลองเพียง 1 ขบวน

นอกจากนี้ รฟม.ได้มีการรายงานความคืบหน้าการโอนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวกรณีให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อบริหารการเดินรถ ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้ข้อยุติ เนื่องจาก ทาง กทม.ต้องการให้รัฐบาลสนับสนุนค่าใช้จ่ายทั้งหมด แต่รัฐมองว่า กทม.เป็นองค์กรปกครองท้องถิ่น มีรายได้ของตัวเอง จึงควรรับภาระบางส่วนไป โดยบอร์ด รฟม.ได้ให้ติดตามประสานเพื่อเร่งรัดผู้ที่เกี่ยวข้องให้ได้ข้อยุติโดยเร็วเพื่อให้สามารถเปิดเดินรถได้ตามแผน

ทั้งนี้ บอร์ดเห็นว่าหากการโอนให้ กทม.มีปัญหาติดขัด เกิดความล่าช้า จนอาจส่งผลกระทบต่อการเปิดเดินรถสีเขียวใต้ ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ในปี 2561 รฟม.ควรพิจารณาหาแผนสำรองไว้ ซึ่งเบื้องต้นได้เตรียมแผนการจ้างบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสโดยตรง ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายที่ต้องการให้เดินรถต่อเนื่อง โดยเป็นผู้เดินรถรายเดิม และยังจะสามารถเปิดได้ตามกำหนดอีกด้วย

“บอร์ดให้ไปดูทางเลือกแผนสำรองไว้ว่ามีอะไรบ้างเพื่อให้สามารถเปิดเดินรถได้ตามกำหนด ซึ่ง รฟม.สามารถจ้างบีทีเอสได้โดยตรงได้หรือไม่โดยไม่ต้องโอนให้ กทม. เพราะอย่างไรผู้เดินรถสายสีเขียวก็ต้องเป็นบีทีเอสรายเดิมเพื่อให้เดินรถต่อเนื่อง”

ทั้งนี้ คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) มีมติให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นผู้บริหารจัดการเดินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และสีเขียวใต้ ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โดยให้กระทรวงคมนาคม กทม. กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาหารือสัดส่วนการลงทุนที่เหมาะสมระหว่างรัฐบาลกับ กทม. รวมทั้งแนวทางที่ กทม.จะชำระหนี้คืนรัฐบาลต่อไป

สำหรับค่าลงทุนรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ รวมทั้งสิ้น 84,517.72 ล้านบาท (ค่าโครงสร้างพื้นฐาน 60,815.72 ล้านบาท ค่างานติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณและรถไฟฟ้า 23,702 ล้านบาท) โดยช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต งานโครงสร้างพื้นฐาน วงเงิน 39,730.25 ล้านบาท และงานติดตั้งระบบเดินรถ 14,807 ล้านบาท, ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ค่างานโครงสร้างพื้นฐานวงเงิน 21,085.47 ล้านบาท งานติดตั้งระบบเดินรถ 8,895 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น