xs
xsm
sm
md
lg

ไฮสปีดญี่ปุ่นไล่ติดจีน ศึกษาจบ เล็งซอยก่อสร้างกรุงเทพฯ-อยุธยา เริ่มตอกเข็มปี 62

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ญี่ปุ่นสรุปผลศึกษารถไฟความเร็วสูง เส้นทาง “กรุงเทพฯ-เชียงใหม่” โดยเล็งออกแบบเฟสแรก “กรุงเทพฯ-พิษณุโลก” แบ่งเป็นตอนๆ คาดตอกเข็ม 2 สถานีแรก “บางซื่อ-ดอนเมือง-อยุธยา” ปี 62 พร้อมจับมือไทยถ่ายทอดเทคโนโลยีล้ำสมัยรถไฟความเร็วสูงและการพัฒนาพื้นที่ เพื่อเพิ่มศักยภาพคมนาคมขนส่งให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานร่วมเปิดการสัมมนา “Thailand - Japan Railway Partnership for Connectivity Success Sharing Advanced SHINKANSEN Technologies & Area development” เพื่อเผยแพร่ความก้าวหน้าของโครงการต่างๆ ภายใต้ความร่วมมือตามบันทึกข้อตกลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเสนอเทคโนโลยีที่ทันสมัยของรถไฟความเร็วสูงของญี่ปุ่น เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับระบบรถไฟความเร็วสูงของไทยในเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ รวมทั้งความสำคัญของการพัฒนาพื้นที่หรือภูมิภาคที่เหมาะสม เพื่อให้การพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเกิดประโยชน์แก่คนไทยทุกระดับอย่างแท้จริงและทั่วถึง ตลอดจนเปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่างๆ ร่วมกันเสนอข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ โดยมีตัวแทนหน่วยงานจากภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ และกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับระบบราง ทั้งจากประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น เข้าร่วมการสัมมนา จำนวนกว่า 250 คน  

นายอาคมกล่าวว่า ภายหลังการลงนามในบันทึกความร่วมมือด้านระบบรางระหว่างกระทรวงคมนาคมแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงที่ดินโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งและการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น (MLIT) ประเทศญี่ปุ่นได้ให้การสนับสนุนประเทศไทยในการพัฒนาหลากหลายโครงการมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเทคโนโลยีระบบรถไฟความเร็วสูง การนำเสนอแผนการพัฒนาพื้นที่สถานีกลางบางซื่ออย่างบูรณาการ การพัฒนาแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและพื้นที่ต่อเนื่อง และการเพิ่มประสิทธิภาพบริการขนส่งสินค้าทางรถไฟ รวมถึงการปรับปรุงรถไฟเพื่อการขนส่งสินค้า

สำหรับรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ (High Speed Train) ระบบชิงกันเซ็ง มีระยะทาง 672 กิโลเมตร ญี่ปุ่นได้ดำเนินการศึกษาเรียบร้อยแล้ว โดยผลการศึกษาจะแบ่งเป็น 2 ช่วง ประกอบด้วย ช่วงแรก กรุงเทพฯ-พิษณุโลก ระยะทาง 380 กิโลเมตร มีจำนวน 6 สถานี ส่วนที่ 2 ที่ทางญี่ปุ่นได้ให้คำแนะนำนั้นคือการได้ประโยชน์จากรถไฟความเร็วสูงอย่างสมบูรณ์นั้นจะต้องมีการพัฒนาเมืองร่วมด้วย ซึ่งได้มีแผนเพื่อที่จะทำการพัฒนาต่อไป

ส่วนเรื่องการลงทุนระยะแรกนั้นอยู่ระหว่างหารือร่วมกัน ซึ่งทางญี่ปุ่นเสนอให้เป็นการลงทุนของรัฐบาลไทยทั้งหมด ทั้งนี้ ได้หารือเพิ่มว่าหากเป็นการร่วมลงทุนโดยเปิดโอกาสให้ญี่ปุ่นเข้ามาจะได้ประโยชน์มากกว่า เพราะเป็นการแบ่งเบาภาระของรัฐบาลไทย เพื่อให้โครงการเกิดขึ้นได้จริงและดำเนินงานได้ในระยะยาวถึง 30 ปี เนื่องจากมีมูลค่าการลงทุนสูง อีกทั้งใช้เวลาคืนทุนนาน โดยจะเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใน 3 เดือนจากนี้เพื่อพิจารณาก่อน หาก ครม.เห็นชอบก็จะเริ่มตอนต่อไป

สำหรับการออกแบบนั้น ช่วงกรุงเทพฯ-พิษณุโลก ระยะทาง 380 กม. หากแบ่งเป็นหลายๆ ตอนอาจจะลดระยะเวลาของการออกแบบได้ โดยคาดว่าจะเริ่มลงมือก่อสร้างตอนแรก จากกรุงเทพฯ-อยุธยาได้ในปี 2562 ไม่เกินปี 2563 แล้วเสร็จในปี 2564 และจะก่อสร้างครบ 6 สถานีในเฟสแรก กรุงเทพฯ-พิษณุโลก ภายใน 4-5 ปี ซึ่งญี่ปุ่นรับไปดำเนินการให้

ด้านนายชิโร ซะโดะชิมะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย กล่าวว่า ข้อดีของระบบรถไฟชิงกันเซ็งคือมีความตรงต่อเวลาและความปลอดภัย ซึ่งเหมาะสำหรับนำมาปรับใช้ในการพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงของประเทศไทยในอนาคต โดยประเทศญี่ปุ่นพร้อมให้การสนับสนุนในด้านการพัฒนาบุคลากร โดยเฉพาะวิศวกรรถไฟ รวมถึงการจัดฝึกอบรมให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางราง โดยที่ผ่านมาได้จัดฝึกอบรมแล้วกว่า 10,000 คน ณ ศูนย์ฝึกอบรม กรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ ในการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางรางให้มีประสิทธิผลจำเป็นต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการพัฒนาพื้นที่ทั้งในเขตเมืองและชนบทตลอดแนวเส้นทางโครงการอย่างมีแบบแผน ซึ่งประเทศญี่ปุ่นจะยังคงมุ่งมั่นถ่ายทอดประสบการณ์และความรู้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนชาวไทยต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น