xs
xsm
sm
md
lg

จ่อชง ครม.อนุมัติรถไฟไทย-ญี่ปุ่น 2.76 แสนล้าน “อาคม” เปิดช่องเจรจาร่วมลงทุนแบบรัฐต่อรัฐ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หารือกับ Mr.Noriyoshi Yamagami รองอธิบดีกรมการรถไฟญี่ปุ่น เกี่ยวกับความคืบหน้ารายงานการศึกษาฉบับสมบูรณ์สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ – เชียงใหม่ ภายใต้บันทึกความร่วมมือในการพัฒนาระบบรางระหว่างไทย – ญี่ปุ่น (Memorandum of Cooperation, MOC)
เตรียมสรุป “รถไฟไทย-ญี่ปุ่น ชง ครม.ภายใน 3 เดือนนี้ “อาคม” เผยญี่ปุ่นเสนอรัฐบาลลงทุนรถไฟความเร็วสูงเอง ชี้ไม่เหมาะเปิด PPP หวั่นเอกชนลงทุนอาจไม่ไหว เปิดทางญี่ปุ่นร่วมลงทุนตั้งแต่เริ่มก่อสร้าง เร่งผุดเฟสแรก “กรุงเทพ-พิษณุโลก” 2.76 แสนล้าน แบ่งซอยออกแบบและก่อสร้างออกเป็นตอนๆ เร่งเปิดเดินรถ กรุงเทพ-อยุธยา นำร่องได้ก่อน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับคณะทำงานญี่ปุ่น นำโดย Mr. Noriyoshi Yamagami รองอธิบดีกรมการรถไฟญี่ปุ่น ในความร่วมมือการพัฒนาระบบรางระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ในโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะทาง 672 กม. ว่าขณะนี้อยู่ขั้นตอนสุดท้ายของการรายงานศึกษาความเหมาะสมฉบับสมบูรณ์โครงการฯ ซึ่งในระยะแรก ช่วงกรุงเทพฯ-พิษณุโลก ระยะทาง 418 กม.อยู่ระหว่างการวิเคราะห์ผลการศึกษาและสรุปรายงานการศึกษา รวมถึงแปลจากภาษาอังกฤษเป็นไทย และขอความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คาดว่าจะใช้เวลาอีกไม่เกิน 3 เดือนสามารถเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้

ทั้งนี้ หลังจาก ครม.อนุมัติโครงการแล้วจะเข้าสู่ขั้นตอนการออกแบบรายละเอียดช่วงกรุงเทพ-พิษณุโลก ที่ญี่ปุ่นเสนอให้แบ่งซอยการออกแบบและก่อสร้างออกเป็นตอนๆ เนื่องจากจะทำให้สามารถเปิดเดินรถได้เร็วขึ้น เพราะหากรอการออกแบบเสร็จจากกรุงเทพ-พิษณุโลก จะใช้เวลา 2 ปี ซึ่งช่วงกรุงเทพ-พิษณุโลก มี 6 สถานี คือ บางซื่อ-ดอนเมือง-อยุธยา-ลพบุรี-นครสวรรค์-พิษณุโลก กรณีแบ่งออกแบบและก่อสร้าง 2 สถานีแรกก่อน คือ จากบางซื่อ-ดอนเมือง-อยุธยา จะมีระยะทางกว่า 100 กม. สามารถเดินรถได้ก่อน หลังจากนั้นเมื่อสถานีต่อไปก่อสร้างเสร็จสามารถทยอยเปิดเดินรถต่อไปได้

สำหรับรูปแบบการลงทุนนั้น การศึกษาของญี่ปุ่นเสนอให้รัฐบาลเป็นผู้ลงทุนเพื่อให้โครงการเป็นไปได้ในระยะยาว โดยกรุงเทพ-พิษณุโลก มีมูลค่าลงทุน 276,225 ล้านบาท เป็นค่าก่อสร้างงานโยธา ระบบราง ระบบอาณัติสัญญาณ ระบบตัวรถ โดยยังรวมค่าบริหารจัดการเดินรถซึ่งจะมีระยะเวลา 30 ปี ขณะนี้ยังไม่สรุป เพราะการลงทุนมีหลายรูปแบบ ยังต้องศึกษาและหารือกับญี่ปุ่นเพิ่มเติม ซึ่งเปิดโอกาสให้ญี่ปุ่นสามารถเข้ามาร่วมลงทุนในรูปแบบรัฐต่อรัฐ ตั้งแต่เริ่มต้นก่อสร้างงานโยธาตลอดจนถึงการเดินรถ หรืออาจจะร่วมทุนกับบริษัทลูกของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ในส่วนของการบริหารการเดินรถอย่างเดียว เป็นต้น

“รถไฟความเร็วสูงใช้เงินลงทุนสูงกว่าโครงการอื่นๆ โดยเฉพาะในช่วงแรกการลงทุนจะสูง ดังนั้นรัฐควรลงทุนเอง เพราะต้นทุนเงินกู้ของรัฐจะต่ำกว่าเอกชนขณะที่ผลตอบแทนจะใช้เวลานาน ซึ่งมีตัวอย่างที่ประเทศไต้หวัน ให้เอกชนเข้ามาลงทุนแต่สุดท้ายไม่ไหว รัฐบาลต้องเข้าไปเทกโอเวอร์สัดส่วนที่ 90% โครงการถึงจะอยู่ได้ ดังนั้นจึงให้ญี่ปุ่นศึกษาเพิ่มเติม ในการเปิดโอกาสให้ญี่ปุ่นเจ้ามาร่วมมือแบบจอยเวนเจอร์ เพราะใช้เทคโนโลยีญี่ปุ่น ระบบชินคันเซ็น”

อย่างไรก็ตาม กรณีที่รัฐลงทุนเองทั้งหมดจะใกล้เคียงกับความร่วมมือรถไฟไทย-จีน แต่ขณะนี้ยังเปิดโอกาสในการให้ญี่ปุ่นเข้ามาร่วมลงทุนซึ่งมีรูปแบบใด ในขั้นตอนไหน ยังต้องพิจารณาต่อไป ขณะที่ญี่ปุ่นอาจจะต้องตั้งบริษัทเข้ามาลงทุน กับบริษัทลูกของการรถไฟฯ และกรณีที่ญี่ปุ่นจะออกแบบโครงการ วิศวกรญี่ปุ่นจะต้องมาทดสอบตามกฎหมายไทยเหมือนวิศวกรจีนเช่นกัน ซึ่งจะมีการหารือกันต่อไปหลังจาก ครม.อนุมัติโครงการ
กำลังโหลดความคิดเห็น