สนามบินเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง สนามบินที่มีทำเลที่ตั้งที่สะดวกต่อการเดินทางของผู้โดยสารทั้งขาเข้า-ขาออก มีขนาดที่สามารถรองรับการจราจรทางอากาศและปริมาณผู้โดยสารได้อย่างไม่แออัด ตลอดจนมีประสิทธิภาพในการให้บริการทางการบินทั้งบนอากาศและภาคพื้นดิน รวมถึงการที่มีต้นทุนที่ไม่สูงเกินไป สิ่งต่างๆ เหล่านี้ถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเจริญเติบโตของระบบเศรษฐกิจ
กิจการสนามบินนอกจากต้องให้บริการที่มีประสิทธิภาพแล้ว ยังต้องสามารถพึ่งตัวเองในเรื่องรายได้ เพื่อที่จะได้ไม่เป็นภาระของรัฐบาล และที่สำคัญกว่านั้นคือเพื่อจะนำเงินรายได้นั้นไปลงทุนก่อสร้างปรับปรุงสนามบินให้สามารถรองรับความต้องการของสายการบินและผู้โดยสารซึ่งนับวันมีแต่จะเพิ่มขึ้นได้ต่อไปโดยไม่ต้องพึ่งงบประมาณจากรัฐ
รายได้หลักของสนามบินนั้นประกอบด้วยสองแหล่งใหญ่ๆ คือ รายได้ที่มาจากการให้บริการการบิน หรือ Aeronautical Revenue ได้แก่ ค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่เก็บจากสายการบิน รวมทั้งค่าธรรมเนียมการใช้สนามบินที่เก็บจากผู้โดยสาร กับ รายได้ที่ไม่เกี่ยวกับบริการทางการบิน หรือ Non Aeronautical Revenue คือรายได้จากกิจกรรมเชิงพาณิชย์ เช่น ร้านค้าสินค้าปลอดภาษี ร้านค้าปลีก ร้านอาหาร ที่จอดรถ บริการรถเช่า เป็นต้น
ข้อมูลจากรายงานของ Airport Council International World หรือ ACI World ซึ่งป็นองค์กรตัวแทนของสนามบินทั่วโลก ระบุว่า ปัจจุบันรายได้แบบ Non Aero มีสัดส่วนถึง 40.4% ของรายได้ทั้งหมดของสนามบินทั่วโลก โดยมีกิจการร้านค้าปลอดภาษี และการค้าปลีกอื่นๆ ในสนามบิน ซึ่งเรียกกันว่า Travel Retails คือการค้าปลีกที่มีผู้โดยสารในสนามบินเป็นกลุ่มเป้าหมาย เป็นรายได้หลักในกลุ่มรายได้แบบ Non Aero
รายได้จากกิจกรรมเชิงพาณิชย์ถูกนำไปใช้ในการขยายสนามบิน นำไปสร้างอาคารผู้โดยสารแห่งใหม่ โดยที่ไม่ต้องเก็บค่าธรรมเนียมการใช้สนามบินจากผู้โดยสารเพิ่มขึ้น และไม่ต้องเก็บค่าบริการจากสายการบินเพิ่มขึ้น เท่ากับเป็นการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศเจ้าของสนามบินในการดึงดูดสายการบินต่างๆ ให้มาใช้บริการ โดยเฉพาะในยุคที่สายการบินให้ความสำคัญต่อต้นทุนการบินเป็นอันดับแรก
ปัจจุบันสนามบินในประเทศต่างๆ ทั่วโลกจึงให้ความสำคัญต่อการเพิ่มรายได้ในเชิงพาณิชย์จาก Travel Retails เพื่อนำรายได้นั้นมาเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการแก่สายการบินและผู้โดยสาร
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกิจกรรมในเชิงพาณิชย์ของสนามบินต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ โดยเฉพาะการซื้อสินค้าออนไลน์ รวมทั้งความต้องการที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาของผู้โดยสารหรือนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเดินทางในกลุ่ม Millennials ที่หมายความถึงคนที่เกิดในช่วงต้นทศวรรษ 1980-1990 หรือเจเนอเรชันวาย ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีการใช้จ่ายถึง 40% ในตลาด Travel Retails
การประชุม The Trinity Forum 2017 ซึ่งเป็นการประชุมผู้ประกอบการ 3 ฝ่ายในกิจกรรมเชิงพาณิชย์ของสนามบิน คือ ผู้บริหารสนามบิน ร้านค้าปลีก และแบรนด์สินค้าที่มีขึ้นระหว่างวันที่ 1-3 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยมีประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ การประชุมครั้งนี้มีผู้บริหารระดับสูงจากทั่วโลกร่วมประชุม และได้มีการระดมความเห็น ตลอดจนข้อเสนอแนะในการปรับตัวรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น และส่งผลต่อตลาด Travel Retails
การประชุมครั้งนี้มีประเด็นที่น่าสนใจอย่างมากในเรื่องแนวโน้มของรายได้จาก Travel Retail จะโดนกระทบจากคู่แข่งซึ่งเป็นร้านค้าภายนอกสนามบิน และการชอปปิ้งออนไลน์ โดยเฉพาะผู้โดยสารกลุ่ม Millennials ที่เป็นกลุ่มผู้ซื้อที่สำคัญ ซึ่งจะทำให้ขายของในสนามบินยากขึ้น ปัจจุบันร้านค้าปลอดภาษีในสนามบินใหญ่ๆ ทั่วโลกมียอดขายของร้านค้าปลอดภาษีลดลง และมีแนวโน้มที่จะหดตัวลงไปเรื่อยๆ ทั้งนี้ก็เพราะผู้โดยสารหันไปซื้อสินค้าจากร้านค้าปลอดภาษีในเมืองมากขึ้น
ร้านค้าปลอดภาษีในเมือง หรือ Downtown Duty Free กลายเป็นจุดท่องเที่ยวที่เป็น “แหล่งสันทนาการผสานจุดชอปปิ้ง” ที่สำคัญของนักท่องเที่ยว เหตุเพราะมีเวลาชมและเลือกซื้อสินค้าได้นานกว่าร้านค้าปลอดภาษีในสนามบิน นอกจากนี้ ร้านค้าปลอดภาษีในเมืองมีขนาดใหญ่โตกว้างขวางและมีการตกแต่งที่สวยงาม มีร้านอาหารหลากหลายประเภท ตลอดจนมีการเตรียมการแสดงต่างๆ รวมถึงกิจกรรมด้านบันเทิงอื่นๆ ที่หลากหลายให้นักท่องเที่ยวได้ชม
นอกจากนี้ ในโลกยุคใหม่นั้น ร้านค้าปลอดภาษียังมีระบบการขายสินค้าออนไลน์ที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมของคนรุ่นใหม่ ที่นักท่องเที่ยวเจเนอเรชัน Millennials กลุ่มนี้สามารถเลือกและสั่งซื้อสินค้าที่ต้องการได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องไปตระเวนเดินหาในร้านค้าปลอดภาษีในสนามบิน
สำหรับสนามบินแล้ว นี่เป็นแนวโน้มที่น่าเป็นห่วง และเป็นความท้าทายอย่างยิ่งในการหารายได้อื่นๆ มาชดเชยรายได้จากร้านค้าปลอดภาษีในสนามบินที่จะลดน้อยลงไป เพราะการแข่งขันจากร้านค้าปลอดภาษีในเมืองและการชอปปิ้งออนไลน์ตามสถานการณ์ดังกล่าวมาข้างต้น
เมื่อก่อนผู้โดยสารตัดสินใจซื้อของตามแรงกระตุ้นที่เกิดขึ้นทันที ณ จุดขาย โดยไม่ได้คิดมาก่อนในอัตราส่วนถึงร้อยละ 70 แต่ปัจจุบันเหลือเพียงแค่ร้อยละ 30 ส่วนหนึ่งเพราะโลกยุคใหม่ของการชอปปิ้งออนไลน์ที่ทำให้ผู้โดยสารมีการหาข้อมูลล่วงหน้า และคิดไว้แล้วว่าจะซื้ออะไร ผู้โดยสารกลุ่มดังกล่าวนี้ได้แก่ กลุ่มคนจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ซึ่งสาเหตุหนึ่งก็คือการไม่คุ้นเคยกับภาษาอังกฤษที่ใช้ในสนามบิน จึงหาข้อมูลไว้ก่อนซึ่งกลุ่มนี้ถือเป็นลูกค้ากลุ่มใหญ่ในตลาด โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวคนจีน
มีการศึกษาวิจัยค้นพบว่า ปัจจุบันกลุ่มผู้โดยสารร้อยละ 28 ใช้สายการบินต้นทุนต่ำ โดยเป็นกลุ่มผู้โดยสาร millennials ถึงร้อยละ 42 ซึ่งคนกลุ่มนี้เน้นใช้เงินไปกับที่พักและอาหาร แต่ไม่เน้นการชอปปิ้ง
นับจากนี้ ร้านอาหาร จึงมีแนวโน้นของการที่จะกลายเป็นสิ่งสำคัญและเป็น “ดาวรุ่ง” ในสนามบิน อย่างไรก็ดี ร้านอาหารจะต้องปรับตัวในการสร้างภาพลักษณ์ที่มีคาแรกเตอร์โดดเด่น มีความแตกต่าง และนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่มักจะถูกใจกับร้านอาหารที่สะท้อนภาพความเป็นท้องถิ่นของประเทศนั้นๆ
อย่างไรก็ดี นอกจากกลุ่ม Millennials แล้ว มีการศึกษาพบว่ากลุ่มผู้โดยสารอายุมากกว่า 50 ปีก็ยังมีความสำคัญ เนื่องจากเป็นช่วงวัยอายุที่ลดการทำงานน้อยลงแต่เตรียมตารางการท่องเที่ยวถึง 4-5 ทริปต่อปี กลุ่มนี้มีกำลังซื้อสูง และชอบความมั่นใจว่าได้ของแท้แน่นอน และชอบจับต้องสินค้าได้ กลุ่มนี้จึงเป็นกลุ่มสำคัญสำหรับร้านค้าปลอดภาษีในสนามบิน
ในส่วนของสนามบินซึ่งเป็นผู้เล่นรายสำคัญใน Trinity นั้น จะต้องมีทัศนคติที่ดี มีความเข้าใจผู้โดยสาร ในขณะเดียวกันก็ต้องฟังคู่ค้าคือผู้ประกอบการร้านค้าปลอดภาษีและร้านค้าอื่นๆ ในสนามบิน และปรับเปลี่ยนเพื่อโจทย์การสอดคล้องลงตัวกันในทุกฝ่าย สนามบินไม่ควรคำนึงถึงรายได้ที่จะได้จากร้านค้าอย่างเดียว เพราะเป็นผลประโยชน์ในระยะสั้น และไม่ใช่ผลประโยชน์ที่ดีที่สุดของทุกฝ่าย แต่ต้องร่วมมือกันในการร่วมบริหารจัดการความเสี่ยง และสร้างภาพลักษณ์ให้สนามบินมีความแตกต่าง และมีเป้าหมายไปสู่อนาคตที่ดีร่วมกัน เพื่อที่จะสามารถสร้างความมั่นคงที่ยั่งยืนในอนาคตที่จะเปลี่ยนแปลงเร็วมากกว่าในอดีตหลายเท่า