xs
xsm
sm
md
lg

สนข.ฟังความเห็น “รถไฟชุมพร-ท่าเรือน้ำลึกระนอง” เคาะแนวทางที่ 1 มี 9 สถานี 102.5 กม.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สนข.ลงพื้นที่ระดมความเห็นชาวชุมพร, ระนอง เตรียมสรุปผลการศึกษาโครงการรถไฟชุมพร-ท่าเรือน้ำลึกระนอง เคาะแนวเส้นทางที่ 1 เริ่มต้นจากทางใต้ของสถานีรถไฟชุมพรโค้งขนานกับถนนเพชรเกษม สิ้นสุดที่ท่าเรือน้ำลึกระนอง รวม 102.5 กม. มี 9 สถานี

นายวิจิตต์ นิมิตรวานิช นักวิชาการขนส่งทรงคุณวุฒิ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า สนข.ได้จัดการประชุมเพื่อแนะนำโครงการและระดมความคิดเห็นโครงการศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และสิ่งแวดล้อม เส้นทางรถไฟชุมพร-ท่าเรือน้ำลึกระนอง ระหว่างวันที่ 9-10 พฤศจิกายน 2560 ที่จังหวัดชุมพร และจังหวัดระนอง โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา และสื่อมวลชน เข้าร่วมประชุมฯ

ทั้งนี้ สนข.ได้ดำเนินโครงการศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และสิ่งแวดล้อมในการพัฒนาเส้นทางรถไฟชุมพร-ท่าเรือน้ำลึกระนอง ระยะเวลาดำเนินการศึกษา 10 เดือน (เดือนพฤษภาคม 2560-กุมภาพันธ์ 2561) โดยในช่วงเริ่มต้นการศึกษา ได้มีการจัดประชุมปฐมนิเทศโครงการฯ เพื่อแนะนำและชี้แจงความเป็นมาของโครงการ เหตุผลและความจำเป็นของการพัฒนาโครงการ ตลอดจนแนวทางและขั้นตอนการศึกษา เพื่อระดมความคิดเห็นและรับฟังข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมประชุม รวมทั้งมีการลงพื้นที่ในจังหวัดชุมพรและจังหวัดระนอง และภาคเอกชน โดยการเข้าพบเจ้าหน้าที่หน่วยงานราชการระดับจังหวัดและอำเภอเพื่อหารือและรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

และได้นำผลมาพัฒนาและปรับปรุงแนวเส้นทาง โดยปัจจุบันได้ศึกษาและจัดทำรายงานขั้นกลาง (Interim Report) เรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำร่างรายงานฉบับสมบูรณ์ (Draft Final Report) จากการศึกษา สำรวจ และวิเคราะห์เพื่อประเมินและคัดเลือกแนวเส้นทาง โดยพิจารณาจากปัจจัย 3 ด้าน ได้แก่ ด้านวิศวกรรม ด้านเศรษฐกิจและการลงทุน และด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม

พบว่าแนวเส้นทางที่มีความเหมาะสมมากที่สุด คือ แนวเส้นทางที่ 1 มีจุดเริ่มต้นของแนวเส้นทางบริเวณพื้นที่ทางใต้ของสถานีรถไฟชุมพรและอยู่ด้านเหนือของสถานีรถไฟแสงแดด โดยแนวเส้นทางรถไฟจะโค้งออกจากรถไฟสายใต้เดิมมุ่งไปยังทิศตะวันตกและขนานกับทางหลวงหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) ผ่านพื้นที่เขตอำเภอเมือง จังหวัดชุมพร อำเภอกระบุรี อำเภอละอุ่น และอำเภอเมือง จังหวัดระนอง จนสิ้นสุดโครงการที่บริเวณท่าเรือน้ำลึกระนอง รวมระยะทาง 102.5 กิโลเมตร

ตำแหน่งสถานีเบื้องต้น 9 สถานี ได้แก่ สถานีขุนกระทิง สถานีบ้านนา สถานีวังใหม่ สถานีปากจั่น สถานีกระบุรี สถานีบางใหญ่ สถานีละอุ่น สถานีท่าเรือระนอง และจากสถานีท่าเรือระนองจะมีเส้นทางแยก (Spur Line) เข้าสู่เมืองระนอง โดยสิ้นสุดที่สถานีระนอง ระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร

สำหรับการจัดประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อระดมความคิดเห็นและรับฟังข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมประชุมภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับผลการศึกษาคัดเลือกแนวเส้นทางทางเลือก/รูปแบบทางเลือกที่เหมาะสม รวมทั้งการกำหนดรูปแบบแนวคิดเบื้องต้นของทางรถไฟ รูปแบบสถานีผู้โดยสาร แนวคิดทางสถาปัตยกรรมอาคารของสถานี และการออกแบบแนวคิดจุดตัดทางรถไฟ พร้อมทั้งแนวทางเบื้องต้นในการจัดการปัญหาต่างๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น และรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่เกี่ยวข้อง สำหรับใช้เป็นข้อมูลประกอบการดำเนินงานให้มีความเหมาะสมและที่จะมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนให้น้อยที่สุดและมีความสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ เพื่อนำข้อมูลมาประกอบการดำเนินงานศึกษาให้มีความสมบูรณ์ต่อไป

สำหรับโครงการดังกล่าวสืบเนื่องจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2559 ที่ประชุมได้รับทราบผลการประชุมร่วมระหว่างนายกรัฐมนตรีกับคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจส่วนกลางและกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามันเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2559 และมอบให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาดำเนินการตามข้อเสนอคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ ส่วนกลางและกลุ่มจังหวัดภาคใต้อันดามัน ในการพัฒนาแนวเส้นทางรถไฟสายใหม่ เชื่อมโยงฝั่งอ่าวไทยกับฝั่งทะเลอันดามันจากจังหวัดชุมพร-จังหวัดระนอง สำหรับการคมนาคมขนส่งและส่งเสริมการท่องเที่ยวสองฝั่งทะเล รวมทั้งเชื่อมโยงไปยังท่าเรือน้ำลึก จังหวัดระนอง เพื่อรองรับการเป็นประตูเศรษฐกิจสู่กลุ่มประเทศ BIMSTEC ในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น