xs
xsm
sm
md
lg

วิศวกรไทยในสมรภูมิที่เปิดกว้าง ไทยแลนด์ 4.0 อุปสรรคหรือโอกาส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


จากความเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคมและเศรษฐกิจ ภายใต้แผนการพัฒนาประเทศตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 อาชีพวิศวกรของไทยจะมีบทบาทมากขึ้น พร้อมความท้าทายที่มากขึ้นตามไปด้วย ทั้งในแง่ของโอกาสจากการขยายตัวของงานด้านวิศวกรรมในประเทศและในภูมิภาคอาเซียน ท่ามกลางการแข่งขันที่สูงขึ้น และเทคโนโลยีที่ผันเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว

ดร.ธเนศ วีระศิริ นายกสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมป์ (วสท.) เปิดเผยว่า ในปัจจุบันภาพรวมอุตสาหกรรมการก่อสร้างจากการลงทุนของภาครัฐ มีมูลค่าราว 6 แสนล้านบาท ถึง 1 ล้านล้านบาทต่อปี แต่ในช่วง 5 ปีนับจากนี้ มูลค่าจะขยับสูงขึ้นเป็น 2 ล้านบาทต่อปี จากโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ อาทิ รถไฟฟ้าความเร็วสูงไทย-จีน ซึ่งมีมูลค่าราว 8 แสนล้านบาท โครงการรถไฟรางคู่ และโครงการรถไฟฟ้าสายต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล อีกประมาณ 2 ล้านล้านบาท เป็นต้น ทั้งนี้โครงการลงทุนจากภาครัฐจะเป็นปัจจัยหลักที่ผลักดันการเติบโตของชุมชนเมือง และการก่อสร้างอาคาร โดยเฉพาะเมืองที่มีสถานีจอด นับเป็นการเติบโตแบบก้าวกระโดดถึง 2 เท่าตัว สูงสุดในรอบ 10 ปี

ขณะเดียวกันการพัฒนาเศรษฐกิจภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่มุ่งเน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม เป็นอีกปัจจัยหลักในการกระตุ้นการเติบโตของงานวิศวกรรม ซึ่งวิศวกรในประเทศไทย จำเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาศักยภาพให้เท่าทันกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

ปัจจุบันวิศวกรที่อยู่ในสาขาวิศวกรรมควบคุม 7 สาขา (วิศวกรรมโยธา วิศวกรรมเหมืองแร่ วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมอุตสาหการ วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม และสาขาวิศวกรรมเคมี) มีจำนวน 250,000 คน และในปีนี้มีกฎกระทรวงกำหนดสาขาวิชาชีพวิศวกรรมเพิ่มเติมอีก 17 สาขา ประกอบด้วย วิศวกรรมอากาศยาน วิศวกรรมชีวการแพทย์ วิศวกรรมอาหาร วิศวกรรมเกษตร วิศวกรรมบำรุงรักษาอาคาร วิศวกรรมป้องกันอัคคีภัย วิศวกรรมสารสนเทศ วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ วิศวกรรมปิโตรเลียม วิศวกรรมสำรวจ วิศวกรรมแหล่งน้ำ วิศวกรรมชายฝั่ง วิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ วิศวกรรมยานยนต์ วิศวกรรมต่อเรือ วิศวกรรมพลังงาน และวิศวกรรมระบบราง เป็นสาขาวิชาชีพวิศวกรรมเพิ่มเติม ดังนั้นหากนับรวมสาขาที่มีการส่งเสริมด้วยแล้ว ประเทศไทยจะมีวิศวกรถึง 400,000-50,000 คน

ทั้งนี้การกำหนดสาขาวิชาชีพวิศวกรรมเพิ่มเติม เป็นการรองรับความเปลี่ยนแปลงของโลกยุคโลกาภิวัฒน์ สอดรับการเติบโตขึ้นของสังคมเมือง และการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) โดยสาขาดาวเด่นคือวิศวกรรม เมคคาทรอนิกส์ ซึ่งจะเข้ามามีบทบาทอย่างมากในการก้าวสู่ยุค ไทยแลนด์ 4.0

ด้าน นายทศพร ศรีเอี่ยม ประธานการจัดงานวิศวกรรมแห่งชาติ 2560 กล่าวว่า วิศวกรไทย จำเป็นต้องปรับตัวรองรับกับการแข่งขันที่จะเกิดขึ้น ซึ่งต้องยอมรับว่าการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เป็นทั้งโอกาส และอุปสรรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้สิทธิวิศวกรจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาทำงานในไทยได้นั้น อาจส่งผลต่อวิศวกรไทย ในบางสาขา เห็นได้ชัดจาก โครงการขนาดใหญ่อย่างการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ที่ต้องอาศัยวิศวกรจากจีนเป็นหลัก เนื่องจากเหตุผลด้านเทคโนโลยี

หากมองอุปสรรคเหล่านี้เป็นโอกาส วิศวกรไทยต้องทบทวนว่า จะปรับปรุงตนเองอย่างไร ให้ทำงานกับวิศวกรต่างชาติได้ ขณะเดียวกัน จะปรับปรุงตัวอย่างไรให้สามารถเข้าไปทำงานในประเทศที่เรามีศักยภาพทางเทคโนโลยีสูงกว่า เช่น ประเทศกลุ่ม CLMV แต่ก็ไม่ได้มีเพียงวิศวกรชาวไทยเท่านั้นที่เล็งเห็นโอกาส วิศวกรจากฝั่งยุโรปซึ่งเป็นเจ้าแห่งเทคโนโลยีโลกก็มีความสนใจในโอกาสนี้ เช่นเดียวกับกลุ่มวิศวกรชาวจีนโดยรัฐบาลจีนได้ปูทางโครงสร้างพื้นฐานไว้หลายโครงการแล้ว อาทิ โครงการ “ดาราสกอร์” ทางตอนใต้ของกัมพูชา ตั้งอยู่ใกล้กับสีหนุวิลล์ ซึ่งเป็นโครงการร่วมลงทุนจีน-กัมพูชา เพื่อก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก และสนามบินนาชาติ เส้นทางเชื่อมโยงกับโครงการท่าเรือน้ำลึกกวนตัน ซึ่งเป็นความมือระหว่างมาเลเซียและฮ่องกง โดยรัฐบาลจีน

การพัฒนาศักยภาพของวิศวกรในประเทศไทย เป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของ วสท. และในช่วงปลายปีนี้ จะมีการจัดงาน “วิศวกรรมแห่งชาติ 2560” ภายใต้แนวคิด “วิศวกรรม 4.0” ในวันที่ 16-18 พฤศจิกายน 2560 ณ ห้องเพลนารี ฮอลล์ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และในวาระเดียวกัน วสท. ได้รับเลือกจากสมาพันธ์วิศวกรรมแห่งอาเซียน (AFEO) ให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม “CAFEO 35” (Conference of the ASEAN Federation of Engineering Organizations) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความแข็งแกร่งทางด้านวิศวกรรมต่อวิศวกรและผู้ประกอบการในกลุ่มประเทศอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ

ภายในงาน “วิศวกรรมแห่งชาติ 2560” จะเป็นงานที่รวบรวมเทคโนโลยีของงานวิศวกรรมจากทั่วโลก และการสัมมนาให้ความรู้กับวิศวกร อาทิ เทคโนโลยีการออกแบบก่อสร้างสมัยใหม่ แบบ BIM (Building Information Modelling) งานวิศวกรรมในกระแส IOT : Internet of Things นวัตกรรมบ้านปลอดภัย Home Safety แนวคิดการใช้ Startup ในงานวิศวกรรม วิศวกรรมเพื่อความปลอดภัยสาธารณะ เป็นต้น

นายทศพร กล่าวในตอนท้ายว่า จากความเปลี่ยนแปลงของสังคมและเศรษฐกิจ เป็นทั้งอุปสรรคและโอกาสของวิศวกรชาวไทย ที่ต้องปรับตัวเพื่อรองรับกับการแข่งขันและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น วิศวกรไทยต้องสามารถใช้เทคโนโลยีช่วยสร้างประสิทธิผลให้ได้มากกว่าเดิม รวมทั้งเทคโนโลยีที่ทดแทนการใช้แรงงานคน และจำเป็นต้องเรียนรู้ศาสตร์ต่างๆ หลากหลายสาขา เพื่อตอบรับโอกาสของงานด้านวิศวกรรมในการก้าวสู่อุตสาหกรรมยุค 4.0 อย่างมีประสิทธิภาพ

ด้านมาตรการปราบปรามแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.การบริหารจัดการ การทํางานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ในระยะแรกอาจส่งผลกระทบต่อผู้รับเหมารายย่อย ที่ใช้แรงงานผิดกฎหมาย ขณะที่ผู้รับเหมารายใหญ่มีการดำเนินงานตามมาตรฐานที่ถูกต้อง แต่ในระยะยาวเชื่อว่า จะเป็นการแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน เนื่องจากปัญหาแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย เป็นปัญหาที่อยู่ในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน ถึงเวลาที่ต้องควบคุมอย่างเข้มงวด เพื่อให้การใช้แรงงานเป็นไปตามมาตรฐานและตรงตามวัตถุประสงค์ และเพื่อความมั่นคงของประเทศ

อย่างไรก็ตามขอเสนอแนะว่า รัฐบาลควรทบทวนเรื่องกฎระเบียบและขั้นตอนในการดำเนินการในการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวให้เอื้ออำนวยกับผู้ประกอบการขนาดกลาง-เล็ก ที่มีขีดความสามารถจำกัด นอกจากนั้น ในขณะที่ประเทศไทยยังต้องอาศัยแรงงานต่างด้าวในการพัฒนาประเทศ





(พื้นที่ประชาสัมพันธ์)

กำลังโหลดความคิดเห็น