สภาองค์กรนายจ้างเผย สัญญาณการจ้างงานเริ่มเป็นบวกมากขึ้นหลังภาคส่งออกมีลุ้นโต 9% บริการโตต่อเนื่อง ดันเศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัว จับตาเริ่มมีการซื้อตัวแรงงานฝีมือแล้ว โอกาสเป็นของลูกจ้าง แถมมีลุ้นโบนัสปลายปีนี้ส่วนใหญ่ที่คาดว่าจะจ่ายไม่ต่างจากปีที่แล้ว ค่ายรถแย้มปีหน้าอาจเห็นโอทีเพิ่มขึ้น
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์กรนายจ้างผู้ประกอบการค้าอุตสาหกรรมไทย เปิดเผยว่า จากอัตราการเติบโตของภาคการส่งออกไทย 9 เดือนแรกที่ขยายตัวถึง 9.3% สูงสุดในรอบ 6 ปีนั้น ทำให้มีโอกาสที่จะเป็นไปได้ว่าการส่งออกทั้งปีจะเติบโตในระดับ 9% เนื่องจากช่วงสุดท้ายของปีจะมีคำสั่งการผลิตที่เพิ่มขึ้นมากกว่าช่วงอื่นอยู่แล้วหรือเป็นไฮซีซัน ดังนั้นหากมองส่งออกที่เติบโตมากขึ้นจะส่งผลสำคัญเชิงบวกต่อการจ้างงานในช่วงท้ายปีและต่อเนื่องในต้นปี 2561 โดยเฉพาะแรงงานที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออกและภาคบริการที่ล่าสุดเริ่มมีการดึงตัวให้เห็นแล้ว
“ภาพที่เคยกลัวว่าจะมีการปลดแรงงานนั้นน่าจะไม่เกิดขึ้นหลังทิศทางเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว โดยเฉพาะกับภาคส่งออกและภาคบริการที่มีการเติบโตต่อเนื่องจากการท่องเที่ยวขยายตัว แต่ก็อาจจะมีในบางสาขาที่ปรับตัวไม่ทันบ้างแต่ภาพใหญ่คงน้อยมาก และตรงกันข้ามกลับพบว่ามีโรงงานหลายแห่งและภาคบริการเริ่มซื้อตัวพนักงานที่มีประสบการณ์และฝีมือกันแล้ว ถือเป็นสัญญาณที่ดีของผู้ใช้แรงงานที่มีฝีมือ” นายธนิตกล่าว
ปัจจัยส่งออกขยายตัวสำคัญมาจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวที่หลายฝ่ายมองว่าจะโตได้ 3.7-3.8% ดังนั้นทิศทางปี 2561การส่งออกก็น่าจะยังเติบโตได้ต่อเนื่อง ขณะเดียวกันอัตราการใช้กำลังการผลิตที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้นที่เฉลี่ยเกิน 60% ซึ่งก็สอดรับกับการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากการส่งออก จากปัจจัยหลักๆ ที่มีสัญญาณบวกนั้นคาดว่าในช่วงสิ้นปีนี้ที่หลายบริษัทจะพิจารณาจ่ายเงินโบนัสประจำปีภาพรวมส่วนใหญ่เชื่อว่าจะยังคงจ่ายโบนัสใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะภาคการส่งออก และบริการ
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท.กล่าวว่า การจ้างงานของกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์นั้นแนวโน้มในปี 2561 จะเพิ่มขึ้นหรือไม่คงจะต้องขอประเมินการผลิตสิ้นปีนี้ให้ชัดเจนอีกครั้ง โดยหากมีทิศทางการเติบโตขึ้นการจ้างงานก็จะเพิ่มขึ้นรวมไปถึงผู้ผลิตชิ้นส่วนด้วย แต่ในส่วนของโบนัสนั้นภาพรวมก็ยังเชื่อว่าแต่ละรายน่าจะจ่ายไม่ต่างกับปีที่ผ่านมานัก
“เรื่องลดคนคงไม่มีแน่นอน แต่โอกาสเพิ่มการจ้างงานแนวโน้มน่าจะมีบ้าง แต่หากการผลิตทิศทางไม่สูงมากนักก็น่าจะเป็นไปในลักษณะของการจ่ายค่าทำงานล่วงเวลาหรือ โอที” นายสุรพงษ์กล่าว