“คมนาคม” เตรียมเทกระจาดประมูลเมกะโปรเจกต์ต้นปี 61 รถไฟทางคู่ระยะ 2 และสายใหม่ 9 สาย วงเงินกว่า 4.72 แสนล้าน รวมถึงสายสีส้มด้านตะวันตก 1.1 แสนล้าน และด่วนสายพระราม 3- ดาวคะนอง 3.12 หมื่นล้าน จ่อชง EEC เคาะลงทุนศูนย์ซ่อม MRO อู่ตะเภา รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน แหลมฉบังขั้นที่ 3 ในต้นปี 61 ด้าน “อาคม” เผยประชุมร่วมรถไฟไทย-จีน 24 พ.ย.นี้ ประสาน สผ.เคลียร์ EIA พ.ย.เพื่อเดินหน้าตอกเข็มช่วง 3.5 กม.
นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ด้านโครงสร้างพื้นฐาน เปิดเผยภายหลังประชุมติดตามแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่ง (Action Plan) ว่า แผนงาน Action Plan ปี 2560 จำนวน 36 โครงการ วงเงินลงทุน 895,757.55 ล้านบาท คาดว่าภายในไตรมาสแรกปี 2561 จะสามารถเปิดประกวดราคาหาผู้รับจ้างก่อสร้าง ได้แก่ รถไฟทางคู่ระยะ 2 จำนวน 7 โครงการ และสายใหม่ 2 โครงการ วงเงินรวม 472,217.46 ล้านบาท ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) อยู่ระหว่างปรับปรุงกรอบวงเงินค่าเวนคืนและค่าก่อสร้างโครงการให้เป็นปัจจุบันเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งในส่วนของสายใหม่ ช่วงเด่นชัย-เชียงของ วงเงิน 85,345 ล้านบาท ระหว่างเสนอสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณา ส่วนบ้านไผ่-นครพนม วงเงิน 65,738.91 ล้านบาทนั้นทบทวนเสร็จแล้ว จะเสนอกระทรวงคมนาคมในเดือน พ.ย.นี้ ก่อนเสนอ ครม.ต่อไป
โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มด้านตะวันตก (ตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรมฯ) วงเงิน 123,354 ล้านบาท การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยกำลังศึกษาตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2556 (PPP) คาดว่าจะเสนอกระทรวงคมนาคมได้ในเดือน ธ.ค. 60 เพื่อเสนอ ครม.เห็นชอบโครงการและเข้าสู่การประมูลก่อสร้างงานโยธา, ทางด่วนสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพ (ด้านตะวันตก) วงเงิน 31,244 ล้านบาท การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กำลังทบทวนการประมูลให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างใหม่ คาดว่าจะเปิดประมูลได้ในต้นปี 61 รวมถึงการพัฒนาท่าอากาศยานภูมิภาคของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) วงเงิน 818.08 ล้านบาท สถานีขนส่งสินค้าภูมิภาคบางส่วน
ส่วนโครงการที่ดำเนินการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2556 (หาเอกชนร่วมลงทุน PPP) ที่เตรียมเสนอคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) พิจารณาในต้นเดือน ธ.ค.นี้ ได้แก่ โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (Maintenance Repair and Overhaul) หรือ MRO ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เพื่อเข้าสู่กระบวนการของคณะกรรมการมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 56 เพื่อคัดเลือกเอกชนแบบเร่งรัด หรือ EEC PPP Fast Track ขณะที่โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังขั้นที่ 3 วงเงิน 35,099.54 ล้านบาท ได้รายงานผลศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) แล้ว และเตรียมเสนอ EEC ต่อไป ซึ่งมีเป้าหมายจะได้ตัวเอกชนภายในเดือน ก.ค. 61
สำหรับรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม (รังสิต-มธ.รังสิต วงเงิน 7,596.94 ล้านบาท และแดงอ่อน(ศิริราช-ตลิ่งชัน-ศาลายา) อยู่ระหว่างสรุปเสนอ ครม. รวมถึงสายสีน้ำเงิน (บางแค-พุทธมณฑลสาย 4 วงเงิน 21,197 ล้านบาท ที่ รฟม.กำลังศึกษา PPP คาดจะเสนอคมนาคม ได้ใน ธ.ค. 60 เพื่อเสนอ ครม.ต่อไป ส่วนโครงการระบบขนส่งมวลชน จ.ภูเก็ต วงเงิน 23,499 ล้านบาท รฟม.ได้จ้างที่ปรึกษาศึกษาการร่วมลงทุน PPP จะสรุปได้ใน พ.ค. 61
นายพีระพลกล่าวว่า ส่วน Action Plan ปี 61 สนข.จะรายงานต่อกระทรวงคมนาคมภายในสัปดาห์นี้ โดยส่วนหนึ่งจะเป็นโครงการที่อยู่ในแผน Action Plan 60 ในส่วนของการศึกษา เช่น ท่าเรือเฟอร์รีเชื่อมอ่าวไทยตอนบน 981.70 ล้านบาท มอเตอร์เวย์หาดใหญ่-ชายแดนมาเลเซีย 30,500 ล้านบาท สถานีขนส่งสินค้าภูมิภาคส่วนที่เหลือ จุดพักรถบรรทุก ระบบขนส่งมวลชน จ.ภูเก็ต และ จ. เชียงใหม่ เป็นต้น
จากการติดตามแผนปฏิบัติการปี 59 จำนวน 20 โครงการ วงเงิน 1,383,938.89 ล้านบาท ดำเนินงานตามแผน โดยอยู่ระหว่างก่อสร้าง 8 โครงการ ได้แก่ ท่าเทียบเรือชายฝั่งA คืบหน้า 91.59% ศูนย์ขนส่งสินค้าทางรถไฟท่าเรือแหลมฉบัง (ระยะที่ 1) คืบหน้า 62.08% โดยจะเปิดได้ในกลางปี 2561 รถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น คืบหน้า 39.57%
มอเตอร์เวย์สายพัทยา-มาบตาพุด คืบหน้า 52.304% สายบางปะอิน-นครราชสีมา คืบหน้า 18.857% สายบางใหญ่-กาญจนบุรีคืบหน้า 4.01% ส่วนงานระบบ O&M เตรียมเปิดประมูล และช่วงปลายปีนี้คาดว่าจะเปิดประมูล Rest Area คาดว่าจะได้ตัวผู้ดำเนินงานในกลางปี 2561 ส่วนรถไฟฟ้าสายสีส้ม ด้านตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี เริ่มก่อสร้างงานโยธา 2 พ.ค. 60 คืบหน้า 2.74%, การพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 อยู่ระหว่างก่อสร้าง 2 งานจากทั้งหมด 8 งาน โดยอาคารเทียบเครื่องบินคืบหน้า 58.73% ระบบสาธารณูปโภคคืบหน้า 18% ระบบ APM สรุปการประมูลแล้วจะมีการลงนามสัญญาใน พ.ย.นี้ ส่วนการจัดซื้อและติดตั้งระบบสายพานลำเลียงกระเป๋าจะประมูลสิ้นปี 60 เหลือการก่อสร้างอาคารสำนักงานสายการบินและอาคารจอดรถทิศตะวันออกที่อยู่ระหว่างทบทวนแบบก่อสร้างก่อนเปิดประมูล ซึ่ง ทอท.ยืนยันงานจะเสร็จและเปิดบริการได้ในปี 2563
ส่วนรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) และสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ปลายปีจะรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภค และก่อสร้างเต็มรูปแบบใน ก.พ. 2561 รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) รฟม.จะเสนอผลศึกษาการร่วมทุน PPP ต่อกระทรวงคมนาคม ใน ธ.ค. 60
สำหรับรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ-หัวหิน ร.ฟ.ท.ได้ส่งรายงาน PPP ให้ สคร.แล้ว ขณะที่ สนข.ได้ปรับรายงานการศึกษา EIA และส่งไปยัง สผ.พิจารณาแล้ว ช่วงกรุงเทพฯ-ระยอง จะเกี่ยวข้องกับรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่ง ร.ฟ.ท.ศึกษาและเตรียมเสนอคณะกรรมการ EEC ในสัปดาห์หน้า รถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ภายใต้ความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่นนั้น ทางญี่ปุ่นจะสรุปรายงานการศึกษาขั้นสุดท้ายวันที่ 16 พ.ย. และจะมีการสัมมนาเพื่อเผยแพร่ข้อมูลในวันที่ 17 พ.ย.ต่อไป
***ประชุมร่วมรถไฟไทย-จีน 24 พ.ย.นี้ ประสาน สผ.เคลียร์ EIA
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า คณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟฟ้าระหว่างไทย-จีน ในโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 252.35 กิโลเมตร วงเงิน 179,412.21 ล้านบาท จะมีการประชุมครั้งที่ 23 ในวันที่ 24 พ.ย. ในส่วนของการตอกเข็ม ช่วงที่ 1 จากสถานีกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม. อยู่ระหว่างส่งข้อมูลเพิ่มเติมช่วงที่ผ่านเหมืองหินปูนให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) พิจารณาในสัปดาห์นี้ ซึ่งหากอนุมัติจะประสานกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจัดประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) คาดว่าจะอนุมัติ EIA ในเดือน พ.ย.เพื่อดำเนินการตอกเข็มตามแผน