ครม.อนุมัติร่างกฎกระทรวงให้อำนาจกรมเจ้าท่าตรวจสอบและกักเรือต่างชาติที่เข้ามายังน่านน้ำและเทียบท่าเรือของไทย และให้อำนาจขึ้นตรวจสอบแรงงานบนเรือได้ ป้องกันใช้ท่าเรือไทยเป็นแหล่งซ่องสุมแรงงานผิดกฎหมาย คาดยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยเพิ่มขีดการแข่งขันและศักยภาพการนำเข้าส่งออก
นายพิชิต อัคราทิตย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 31 ต.ค. มีมติอนุมัติในหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการตรวจเรือ การกักเรือ การเสนอแผนแก้ไขและค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบ พ.ศ...ซึ่งออกตาม พ.ร.บ.แรงงานทางทะเล พ.ศ. 2558 มาตรา 96 เป็นกฎหมายลูกฉบับสุดท้ายใน 21 ฉบับของกระทรวงคมนาคม ที่จะทำให้การกำกับดูแลแรงงานทางทะเลของไทยเป็นไปตามอนุสัญญาแรงงานทางทะเล ค.ศ. 2006 (Maritime Labour Convention 2006) ที่กำหนดมาตรฐานระหว่างประเทศในการคุ้มครองดูแลเกี่ยวกับสวัสดิการและชีวิตความเป็นอยู่ของคนประจำเรือให้ดีขึ้น วางหลักเกณฑ์ด้านแรงงานทางทะเลสำหรับเรือต่างชาติที่มาจอดเทียบท่าเรือในฐานะรัฐเจ้าของท่าเรือ โดยเกี่ยวข้องกับเรื่องสภาพการจ้างงาน สภาพการทำงานและสภาพความเป็นอยู่ของคนประจำเรือ
ข้อดีของร่างดังกล่าว จะทำให้กิจการเดินเรือ กิจการขนส่งทางทะเลซึ่งเกี่ยวข้องกับการนำเข้า ส่งออกสินค้าของไทยกว่า 80% มีประสิทธิภาพและส่งผลต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย ซึ่งกฎกระทรวงมีสาระสำคัญเกี่ยวข้องกับเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการขึ้นบนเรือ การตรวจเรือต่างประเทศที่เข้ามาในน่านน้ำไทย การแจ้งและแก้ไขข้อบกพร่อง การกักเรือ รวมถึงค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการตรวจสอบเรือ ซึ่งจะมีกระทรวงคมนาคม ก.แรงงาน ก.การต่างประเทศ ก.สาธารณสุข ที่จะเกี่ยวข้อง โดยหลังจากนี้จะส่งร่าง พ.ร.บ.ไปกฤษฎีกาเพื่อเตรียมประกาศใช้ตามขั้นตอนต่อไป
ทั้งนี้ ปัจจุบันเมื่อเรือต่างประเทศเข้าสู่น่านน้ำไทยเราจะไม่สามารถขึ้นไปตรวจบนเรือได้ เนื่องจากไม่มีกฎหมายรองรับ ซึ่งเป็นช่องว่างทำให้มีการละเมิดในเรื่องการใช้แรงงาน ไม่มีการคุ้มครอง เอาเปรียบการจ้างแรงงานรูปแบบต่างๆ พ.ร.บ.ฯ นี้จะให้อำนาจ ซึ่งจะทำให้เกิดความปลอดภัยมากขึ้น รวมถึงการดูแลแรงงาน
“มาตรฐานนี้เป็นเรื่อง IMO ภายใต้ UN ซึ่งประเทศอื่นๆ มีอำนาจในการตรวจสอบและจัดการปัญหาแล้วเหลือไทยที่ยังไม่มี ซึ่งหากไม่ออกกฎหมายมา ประเทศไทยจะกลายเป็นที่ซ่องสุม เป็นชุมโจรได้ของพวกเรือไม่ดีได้ และรองรับการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังที่อนาคตจะมีสายการเดินเรือเข้ามาเพิ่มอีกเป็นจำนวนมาก หากไทยไม่มีมาตรฐานด้านความปลอดภัยในรูปแบบดังกล่าวอาจจะทำให้สายเรือต่างชาติไม่มั่นใจได้ จึงถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมากเพราะการขนส่งสินค้า นำเข้าส่งออกทางเรือมีสัดส่วนถึง 80%” นายพิชิตกล่าว
นายจิรุฒน์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) กล่าวว่า เดิมกรมเจ้าท่าจะตรวจด้านความปลอดภัยเป็นหลัก ตาม พ.ร.บ.เดินเรือในน่านน้ำไทย ตรวจตัวเรือตรงกับเอกสารที่รับรองหรือไม่ แต่ไม่มีอำนาจตรวจลูกเรือว่าถูกต้องหรือไม่ ซึ่ง พ.ร.บ.นี้จะทำให้กรมเจ้าท่า
สามารถตรวจด้านแรงงานได้ หากพบว่าไม่ถูกต้องกรมเจ้าท่าจะมีอำนาจในการกักเรือ
สำหรับร่างกฎกระทรวง มีสาระสำคัญดังนี้ 1. หลักเกณฑ์และวิธีการขึ้นไปบนเรือและตรวจเรือต่างประเทศที่เข้ามาในน่านน้ำไทย 2. วิธีการปฏิบัติของนายเรือ หรือเจ้าของเรือ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องเมื่อถูกตรวจด้านแรงงานทางทะเล 3. หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการตรวจเรือด้านแรงงานทางทะเล 4. วิธีการออกเอกสารรายงานการตรวจเรือด้านแรงงานทางทะเล 5. วิธีการแจ้งข้อบกพร่องให้เจ้าของเรือแก้ไขข้อบกพร่องและวิธีการแจ้งเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบการแก้ไขข้อบกพร่อง
6. หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการพิจารณาแก้ไขข้อบกพร่อง 7. หลักเกณฑ์และวิธีการแจ้งการกักเรือเมื่อฝ่าฝืนกฎหมายที่อาจก่อให้เกิดเหตุร้ายแรงหรือเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่เกิดขึ้นซ้ำ 8. วิธีการแจ้งเจ้าของเรือ กรณีที่เรือถูกกักและเมื่อได้ดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องแล้ว 9. หลักเกณฑ์และวิธีการปล่อยเรือที่ถูกกัก 10. หลักเกณฑ์ค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบด้านแรงงานทางทะเล