xs
xsm
sm
md
lg

“กูลิโกะ” ปิดจุดอ่อนรุกตลาดไอศกรีม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

คิโยทะคะ ชิมะโมริ กรรมการผู้จัดการ บริษัท กูลิโกะ โฟรเซ่น (ประเทศไทย) จำกัด ผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ไอศกรีมแบรนด์ กูลิโกะ ในไทย
ผู้จัดการรายวัน 360 - “กูลิโกะ” ปรับเกมเสริมความแกร่งรุกตลาดไอศกรีม ขยายกำลังผลิต-เพิ่มช่องทางจำหน่าย-ขยายตลาดทั่วประเทศ-ชูพรีเซ็นเตอร์-เพิ่มพอร์ตโฟลิโอ รับตลาดไอศกรีมโต 10% พร้อมแชร์ 7% ลั่นขอขึ้นแท่นที่ 3 ตลาดเมืองไทย

นายคิโยทะคะ ชิมะโมริ กรรมการผู้จัดการ บริษัท กูลิโกะ โฟรเซ่น (ประเทศไทย) จำกัด ผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ไอศกรีมแบรนด์ กูลิโกะ ในไทย เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้เร่งจัดการบริการความพร้อมทุกด้านในการรุกตลาดไอศกรีมพรีเมียมในไทยอย่างสมบูรณ์แบบ หลังจากที่ได้เข้าทำตลาดเมื่อต้นปีที่แล้ว (2559) และได้รับการตอบรับอย่างดี กระทั่งทำให้สินค้าขาดตลาด ซึ่งโจทย์ใหญ่ที่ต้องเร่งจัดการ คือ 1. เรื่องกำลังการผลิต 2. ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ 3. การขยายตลาด และ 4. ช่องทางกระจายสินค้า เพื่อให้สามารถรุกตลาดได้เต็มที่

ทั้งนี้ ด้านกำลังการผลิต ยังคงเป็นการว่าจ้างให้บริษัท จอมธนา เจ้าของไอศกรีมแบรนนด์ครีโมของไทย เป็นผู้ผลิตให้เช่นเดิมที่โรงงานปทุมธานีตั้งแต่แรก และเมื่อเดือนมิถุนายนนี้ได้เพิ่มกำลังผลิตจากเดิมอีก 3 เท่าตัวเรียบร้อยแล้ว ทำให้มีปริมาณสินค้ามากพอที่จะตอบสนองความต้องการของตลาด จากเดิมที่ปีที่แล้วทำตลาดช่วงแรกสินค้าขาดตลาดเพราะกำลังผลิตไม่เพียงพอ ซึ่งบริษัทฯ ไม่คาดว่าไอศกรีมกูลิโกะจะเป็นที่ต้องการของตลาดมากขนาดนี้ แต่ยังไม่มีแผนที่จะตั้งโรงงานผลิตเองในไทย

ส่วนผลิตภัณฑ์ใหม่ ล่าสุดได้เปิดตัวรสใหม่ในกลุ่มช็อกโกแลตซีรีส์เข้ามาเสริมพอร์ตโฟลิโอของบริษัท จากเดิมที่มีเพียง 12 เอสเคยูเท่านั้น โดย 3 รสชาติใหม่ คือ ไจแอนท์ โคน คราวน์ รสริชช็อกโกแลต แอนด์ ครัช อัลมอนด์ ไอซ์ ราคา 35 บาท, เซเว่นทีน ไอซ์ คราวน์ ดับเบิล ช็อกโกแลต คาราเมล ไอซ์ ราคา 25 บาท และ พาแนปป์ ทริปเปิลช็อกโกแลตซันเดย์ ราคา 25 บาท ซึ่งในญี่ปุ่นมีสินค้ามากกว่าไทยหลายเท่า

สำหรับในด้านของการขยายตลาดนั้น ช่วงปีแรกเน้นทำตลาดในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นหลัก กระทั่งขยายตลาดไปยังหัวเมืองใหญ่ และปีนี้สามารถขยายตลาดในกว่า 30 จังหวัดทั่วประเทศแล้ว และคาดว่าในปีหน้าจะขยายพื้นที่ได้หลายจังหวัดเพิ่มขั้นอีกโดยปีที่แล้วได้ให้จอมธนากระจายสินค้าในบางพื้นที่ แต่จากนี้ไปจะให้จอมธนาดำเนินการทั้งหมด ซึ่งบริษัทฯ ยังไม่มีแผนที่จะกระจายสินค้าเอง

ส่วนการขยายช่องทางจำหน่ายไอศกรีมกูลิโกะ ได้เพิ่มช่องทางที่เป็นตู้แช่ของตัวเองให้มากขึ้น จากขณะนี้ที่มีประมาณ 7,000 ตู้แล้ว กระจายในโมเดิรน์เทรดและเทรดิชันนัลเทรดเป็นหลัก อีกทั้งยังมีการวางจำหน่ายในร้านเซเว่นอีเลฟเว่นและคอนวีเนียนสโตร์อีก ที่เป็นไปตามการขยายตัวของช่องทางดังกล่าว ซึ่งในตลาดไอศกรีมนี้แบ่งช่องทางจำหน่ายเป็นสัดส่วนดังนี้ คอนวีเนียนสโตร์ 40% ซูเปอร์มาร์เกตและไฮเปอร์มาร์เกต รวมกัน 9% และเทรดิชันนัลเทรด 51%

นายคิโยทะคะกล่าวต่อว่า จากการรุกตลาดมาประมาณปีเศษโดยที่ยังไม่ได้ทำตลาดมากนัก เนื่องจากสินค้ามีกำลังผลิตน้อย และยังไม่ได้ขายทั่วประเทศ ซึ่งปีนี้ได้ใช้งบการตลาดเพิ่มจากปีที่แล้ว 2 เท่า ส่งผลให้ไอศกรีมกูลิโกะมีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 7% (ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล)

“ตลาดไอศกรีมในเมืองไทยยังเติบโตได้อีกมาก ทุกวันนี้มูลค่าตลาดไอศกรีมของไทยประมาณ 12,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นสัดส่วนแค่ 1 ใน 10 ของตลาดรวมไอศกรีมที่ญี่ปุ่น ที่ผ่านมาก็มีผู้เล่นรายใหม่ๆ เข้าสู่ตลาด มีการออกสินค้าใหม่ต่อเนื่อง ทำให้ตลาดเติบโตดี” นายคิโยทะคะกล่าว

ทั้งนี้ ไอศกรีมแบรนด์กูลิโกะ นอกจากที่ญี่ปุ่นแล้ว ก็มีที่ไทยที่ใช้แบรนด์นี้ ส่วนที่อินโดนีเซีย กูลิโกะร่วมทุนกับผู้ประกอบการท้องถิ่นเจ้าของแบรนด์ วิงส์ จึงใช้ชื่อแบรนด์ว่า กูลิโกะ วิงส์ จำหน่ายในตลาดอินโดนีเซีย

นางสาวดวงกมล ชุลิกาวิทย์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด กล่าวว่า ปีที่แล้วเรามุ่งทำตลาดใช้สื่อออนไลน์เป็นหลัก แต่เมื่อได้ขยายช่องทางจำหน่าย ขยายตลาดมากขึ้น จึงได้ขยายใช้สื่ออื่นด้วย อาทิ ทีวีดิจิตอล รวมไปถึงการแจกตัวอย่างให้ชิมฟรี การทำโปรโมชันกับร้านค้ามากขึ้น ซึ่งล่าสุดก็คือการนำตู้กดเวนดิ้งแมชชีนมาจำนวน 2 ตู้ เพื่อเป็นการสร้างประสบการณ์การซื้อ ในญี่ปุ่นมีตู้กดไอศกรีมของกูลิโกะมากมายหลักหมื่นกว่าตู้กระจายไปทั่ว แต่ในไทยเราเพิ่งเริ่มนำเข้ามาทดลองดู หากได้รับการตอบรับดีอาจจะขยายตู้เพิ่มขึ้น แต่ในเบื้องต้นมีแผนวางตู้ในไทยแค่ 2 เดือนนี้เท่านั้น

นอกจากนั้นแล้ว ในปีแรกใช้เพียงเน็ตไอดอลในการทำตลาด แต่ปีนี้ได้ใช้กลยุทธ์พรีเซ็นเตอร์ โดยตั้ง “บอย-ปกรณ์ ฉัตรบริรักษ์” เป็นพรีเซ็นเตอร์คนแรก เนื่องจาก บอย-ปกรณ์ มีภาพลักษณ์ของคนทำงานรุ่นใหม่ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของสินค้ากลุ่มไจแอนท์ โคน คราวน์ และพาแนปป์ ขณะเดียวกันก็สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายทางการตลาดในกลุ่มวัยรุ่นได้ซึ่งเป็นกลุ่มของเซเว่นทีน ไอซ์ คราวน์ ได้อีกด้วย

ตลาดไอศกรีมที่เติบโตดี คือ กลุ่มพรีเมียม ที่มีราคา 35 บาทขึ้นไป ซึ่งของเราเองก็มีครอบคลุม โดยที่ราคาสูงสุดของเราคือ 20 บาท ส่วนการบริโภคไอศกรีมของคนไทยเท่าที่เคยทำการสำรวจมาเองอยู่ที่ 2 ชิ้นต่อคนต่อเดือน

ภาพรวมตลาดขณะนี้ ผู้นำอันดับ 1 เดิมมีส่วนแบ่งตลาด 70% ขึ้นไป แต่จากการที่กูลิโกะเข้าทำตลาด ทำให้ผู้นำมีส่วนแบ่งลดลงไป 2 หลัก แต่ก็ยังทิ้งห่างอันดับที่สอง

นายคิโยทะคะกล่าวย้ำว่า ทางกูลิโกะตั้งเป้าขึ้นเป็นที่สามในตลาดไอศกรีมเมืองไทยให้ได้ ซึ่งในญี่ปุ่นเอง กูลิโกะก็เป็นอันดับที่สามในตลาดไอศกรีม โดยที่จะเติบโตไปตามตลาดรวม คาดว่าปีนี้ตลาดรวมไอศกรีมจะเติบโตประมาณ 5-10%
กำลังโหลดความคิดเห็น