ขสมก.ตั้งเป้าสรุปผลประมูลรถเมล์ NGV 489 คัน รอบใหม่ชงบอร์ดพิจารณา 15 พ.ย. ระบุระบบปิด e-bidding ระเบียบจัดซื้อใหม่ทำให้ไม่มีข้อมูลผู้ซื้อซองจนกว่าจะผ่าน เคาะราคา 7 พ.ย.นี้ก่อน แถมหากได้ผู้เสนอต่ำสุดแล้วต้องตรวจคุณสมบัติอีก เผยรอบนี้หากไม่มีผู้ยื่นประมูล หรือมีรายเดียวเสี่ยงต้องยกเลิกอีก ลือมีเอกชนบางรายนำเข้ารถมารอล่วงหน้าแล้ว
นายประยูร ช่วยแก้ว รองผู้อำนวยการฝ่ายการเดินรถ รักษาการผู้อำนวยการ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ขสมก.อยู่ระหว่างดำเนินโครงการจัดซื้อรถโดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (NGV) พร้อมซ่อมแซมและบำรุงรักษารถโดยสาร จำนวน 489 คัน ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ซึ่งเป็นการขายซองประมูลในระบบตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค.-6 พ.ย. 60 จากนั้นจะเปิดให้เสนอราคาด้วยวิธี e-bidding ในวันที่ 7 พ.ย. ซึ่งเป็นการดำเนินการประมูลตามระเบียบจัดซื้อจัดจ้างใหม่ของกรมบัญชีกลางที่เป็นระบบปิด ตั้งแต่ซื้อซอง เคาะเสนอราคากันในระบบ จึงไม่สามารถทราบได้ว่ามีใครมาซื้อซองประมูลไปบ้าง จนกว่าจะถึงวันที่ 8 พ.ย.จึงจะทราบผล
ในระบบของกรมบัญชีกลางจะมีกระบวนการและตรวจสอบเองทั้งหมด โดยหากไม่มีผู้ซื้อซองหรือเสนอราคาจะต้องยกเลิกประมูลและเริ่มต้นกันใหม่ กรณีมีผู้เสนอราคารายเดียว ระเบียบฯ เปิดให้พิจารณาเจรจาได้ แต่จะต้องหารือคณะกรรมการบริหารกิจการ (บอร์ด) ขสมก.ว่ามีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหนที่จะต้องเจรจากับผู้เสนอรายเดียว โดยหลังวันเคาะราคา หากมีผู้เสนอราคาต่ำสุด ขั้นตอนต่อไปคือ ตรวจสอบเอกสาร คุณสมบัติ และข้อเสนอด้านเทคนิค ตามทีโออาร์ โดยตั้งเป้าเสนอบอร์ด ขสมก.พิจารณาผลในวันที่ 15 พ.ย.
“ถ้าไม่มีผู้เสนอราคา หรือถ้ามีแต่สุดท้ายไม่ผ่านคุณสมบัติก็ต้องยกเลิกและกลับไปเริ่มใหม่ เท่ากับปีใหม่นี้จะไม่มีรถเมล์ NGV แน่นอน จะรู้ผลกลางเดือน พ.ย.นี้ ซึ่งโครงการประมูลซื้อรถเมล์ NGV ของ ขสมก.เป็นงานแรกที่ใช้ระเบียบจัดซื้อจัดจ้างใหม่ที่เป็นระบบปิด มีวิธีการในระบบดำเนินการประมูล ซื้อซอง เคาะราคาทำกันในระบบหมด ส่วน ขสมก.มีหน้าที่ทำทีโออาร์แล้วรอผล ตอนนี้จึงไม่รู้อะไร ซึ่งถือเป็นจุดเด่นของระเบียบที่คู่แข่งประมูลจะไม่รู้ไม่เห็น แต่เจ้าของโครงการก็ไม่รู้ด้วย จนกว่าจะผ่านเวลาที่กำหนด ซึ่งค่อนข้างยุ่งถ้าพบว่ามีปัญหาคุณสมบัติ”
สำหรับโครงการจัดซื้อรถโดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (NGV) พร้อมซ่อมแซมและบำรุงรักษารถโดยสาร จำนวน 489 คัน ราคากลง 4,020.158 ล้านบาท แบ่งเป็นราคาตัวรถ วงเงิน 1,735.55 ล้านบาท เฉลี่ย 3.549 ล้านบาทต่อคัน ค่าซ่อมบำรุง 10 ปี วงเงิน 2,284.6 ล้านบาท โดยปีที่ 1-5 วงเงิน 825.493 ล้านบาท (เฉลี่ยไม่เกิน 925 บาท/คัน/วัน) ปีที่ 6-10 วงเงิน 1,459.114 ล้านบาท (เฉลี่ยไม่เกิน 1,635 บาท/คัน/วัน)
รายงานข่าวแจ้งว่า ระเบียบจัดซื้อจัดจ้างใหม่ของกรมบัญชีกลางด้วยวิธี e-bidding เป็นระบบปิด ไม่เปิดเผยข้อมูลจะไม่รู้ว่ามีใครซื้อซองบ้าง ทำให้ฮั้วราคา ฮั้วประมูลกันยาก ซึ่งจะดีสำหรับงานจัดซื้อเล็กๆ หน่วยงานท้องถิ่น แต่สำหรับงานใหญ่ๆ มีทั้งข้อดี และข้อเสีย นอกจากนี้ เมื่อเคาะราคาแล้วจะต้องตรวจสอบคุณสมบัติผู้ที่เสนอต่ำสุด หากไม่ผ่านก็ค่อนข้างเสียเวลา
สำหรับการประมูลซื้อรถเมล์ NGV นั้น ขสมก.ได้มีการปรับTOR ระยะเวลาส่งมอบเป็น 120 วัน และเงื่อนไขการทดสอบ การจดทะเบียนและรับมอบรถที่ชัดเจนขึ้น แต่ที่อาจยังเป็นปัญหาคือ งานนี้ไม่ได้ตัดสินที่ราคาต่ำสุดเท่านั้นแต่เปิดให้เสนอเงื่อนไขที่เหนือกว่าTOR ได้ ซึ่งอาจมีข้อสงสัยจากเอกชนที่เข้าร่วม และ ขสมก.จะต้องชี้แจงให้ได้ข้อเสนอที่เลือกดีกว่าข้อเสนอที่ไม่เลือกอย่างไร และที่สำคัญที่สุด การให้เอกชนรับผิดชอบการซ่อมบำรุงระยะ 10 ปีเป็นเรื่องอนาคตที่ต้องการผู้ที่เคยทำงานด้านนี้และมีศักยภาพสูงมาก
รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ผ่านมามีกระแสข่าวว่ามีเอกชนบางรายนำเข้ารถเมล์ NGV สเปกเดียวกับที่ ขสมก.ประมูลมาแล้ว 32 คัน ล่าสุดมีข่าวว่ามีการนำเข้ามาแล้วถึง 80 คัน ซึ่งว่ากันว่าเป็นรถที่เอกชนรายหนึ่งเตรียมไว้เมื่อครั้งประมูลรถ NGV ครั้งแรก แต่มีปัญหายกเลิกประมูลไป จึงนำรถเพื่อขายกับรถร่วมเอกชนฯ แต่ไม่มีผู้ซื้อ จึงคาดว่าน่าจะเตรียมไว้สำหรับประมูล NGV รอบใหม่ ซึ่งจะพร้อมส่งมอบได้ทันที