xs
xsm
sm
md
lg

รฟม.ตั้งงบดูแลสีน้ำเงินยาว 22 เดือน สถานีแยกไฟฉายลดค่าชดเชยรับเหมา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รฟม.เผยงานโยธารถไฟฟ้าสีน้ำเงินต่อขยายจะก่อสร้างเสร็จปลายปีนี้ พร้อมเตรียมตั้งงบบำรุงรักษาโครงสร้างและอุโมงค์ต่ออีก 22 เดือนช่วงติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ คาดมีค่าใช้จ่ายเดือนละเกือบ 20 ล้าน ขณะสถานีแยกไฟฉายออกจากสัญญาหลักไม่ให้กระทบค่าเคลมและขยายสัญญาเพิ่ม
 
นายฤทธิกา สุภารัตน์ รองผู้ว่าการด้านบริหาร ในฐานะรักษาการผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า การก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ ยังเป็นไปตามแผนงาน โดยงานโยธามี 4 สัญญานั้น สัญญาที่ 2 ช่วงสนามไชย-ท่าพระ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับจ้าง ก่อสร้างแล้วเสร็จและส่งมอบงานให้ รฟม.แล้วตั้งแต่เดือน ก.ย. 2559  ส่วนอีก3 สัญญาจะทยอยแล้วเสร็จภายในปลายปี 2560 ขณะที่สัญญา 5 งานระบบรางจะแล้วเสร็จในปี 2561 ซึ่งผู้รับจ้างในแต่ละสัญญาจะได้สิทธิ์ขยายระยะเวลาก่อสร้างตามมติ ครม.เรื่องช่วยเหลือน้ำท่วม และส่วนหนึ่งเพราะเกิดจากส่งมอบพื้นที่ล่าช้า  

ทั้งนี้ กรณีที่ผู้รับจ้างได้เรียกร้องขอเคลมค่าใช้จ่ายนั้น คณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.ได้ตั้งอนุกรรมการฯ ขึ้นมาพิจารณาเพื่อให้มีความเหมาะสม ถูกต้อง และเป็นธรรมมากที่สุด โดยจะพิจารณาให้อยู่ภายใต้กรอบวงเงินค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด (Provisional Sum) ของโครงการที่มีประมาณ 700-800 ล้านบาท

เมื่อก่อสร้างงานโยธาแล้วเสร็จและมีการตรวจรับจากผู้รับจ้างแล้ว ผู้รับสัมปทานเดินรถจึงจะทยอยเข้าพื้นที่เพื่อติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ ซึ่งในระหว่างนั้น รฟม.จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบดูแลบำรุงรักษา (Care of Work) โครงสร้างอุโมงค์และสถานีใต้ดินทั้งหมด  ประมาณ 22 เดือน จะต้องมีการตั้งงบประมาณแต่ละปีเป็นค่าบำรุงรักษาสัญญาละประมาณ  4-5 ล้านบาทต่อเดือน  รวม 5 สัญญาประมาณ 20 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งบอร์ด รฟม.รับทราบแนวทางแล้ว ขณะที่ รฟม.จะต้องดำเนินการจัดจ้างให้แล้วเสร็จและเจรจาต่อรองกับผู้รับจ้างในแต่ละสัญญาเพื่อให้รับบำรุงรักษาภายใต้ราคากลางที่กำหนด จนกว่าผู้เดินรถจะเข้ามาดำเนินการ

แหล่งข่าวจาก รฟม.กล่าวว่า ผู้รับเหมาได้รับสิทธิขยายสัญญาตามมติ ครม.ช่วยเหลือกรณีน้ำท่วมปี 54 จำนวน 180 วัน และชดเชยขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอีก 150 วัน รวมเป็น 330 วัน ซึ่งงานโยธาส่วนใหญ่จะแล้วเสร็จภายในปลายปีนี้ โดยสัญญา 1 โครงสร้างอุโมงค์ใต้ดิน ช่วงหัวลำโพง-สนามไชย ระยะทาง 2.85 กิโลเมตร วงเงิน 11,441 ล้านบาท บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) เป็นผู้รับจ้าง สัญญา 4 งานก่อสร้างทางยกระดับ ช่วงท่าพระ-หลักสอง ระยะทาง 10.5 กม. และงานก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุง และอาคารจอดรถ 2 แห่ง วงเงิน 13,334 ล้านบาท มี บมจ. ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) เป็นผู้รับจ้าง จะแล้วเสร็จทั้งหมด

ส่วนสัญญา 3 งานก่อสร้างทางยกระดับ ช่วงเตาปูน-ท่าพระ ระยะทาง 11 กม. และงานก่อสร้างทางข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา 1 แห่ง วงเงิน 11,284 ล้านบาท มีกิจการร่วมค้าเอสเอช-ยูเอ็น (บริษัท ซิโนไฮโดร คอร์ปอเรชั่น จำกัด - บมจ. ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (UNIQ)) เป็นผู้รับจ้าง จะแล้วเสร็จในส่วนของโครงสร้าง และทางวิ่ง

ส่วนโครงสร้างสถานีสามแยกไฟฉายยังไม่เสร็จ ซึ่งเป็นผลจากปัญหาการก่อสร้างอุโมงค์ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งใช้พื้นที่ร่วมกันเกิดความล่าช้า เนื่องจาก กทม.ถูกประชาชนร้องเรียนให้ลดความยาวของอุโมงค์ทางลอดจาก 800 เมตรเหลือ 600 เมตร ทำให้กระทบต่อโครงสร้างตอม่อของรถไฟฟ้า มีการเปลี่ยนตำแหน่งเสาทางวิ่งจึงต้องออกแบบใหม่ ปัญหาดังกล่าวทำให้ กทม.ไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ให้ รฟม.ตามกำหนด และส่งผลให้ รฟม.ส่งมอบพื้นที่ให้ผู้รับเหมาสัญญา 3 ล่าช้า

ดังนั้น รฟม.จึงได้ตัดแยกเนื้องานในส่วนของสถานีสามแยกไฟฉายออกจากสัญญาหลัก เพื่อลดผลกระทบในการขอเคลมค่าใช้จ่ายและขยายเวลา โดยกิจการร่วมค้าเอสเอช - ยูเอ็น ได้ขอขยายเวลาก่อสร้างสัญญา 3 ไม่รวมตัวสถานีแยกไฟฉาย ออกไป 810 วัน  และขอเคลม 690 ล้านบาท ซึ่งยังอยู่ระหว่างการพิจารณา

ส่วนสัญญา 5 งานระบบราง ช่วงหัวลำโพง-บางแค มี บมจ.ช. การช่าง เป็นผู้รับงาน จะวางรางเสร็จทั้งหมดในเดือน ส.ค. 61 ตามแผนจะเปิดระยะที่ 1 ช่วงหัวลำโพง-ท่าพระ-ท่าพระ ในเดือน ก.ย. 62 และระยะที่ 2 เปิดเดินรถสายเหนือ ช่วงเตาปูน-ท่าพระ-หลักสอง หรือเปิดได้ตลอดสายทางในเดือน มี.ค. 63
กำลังโหลดความคิดเห็น