xs
xsm
sm
md
lg

สิ้นปีไร้ปัญหาเอทานอลตึงตัว-ปาล์มพอ คงบี 7 ได้ยาวถึงต้นปีหน้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สมาคมการค้าผู้ผลิตเอทานอลไทยย้ำสิ้นปีนี้ไม่มีภาวะเอทานอลตึงตัวซ้ำรอยปี 2559 หลังอัตราการผลิตจริงพุ่ง 6 ล้านลิตรต่อวันแต่การใช้เฉลี่ยปีนี้ 4 ล้านลิตรต่อวัน ลุ้นรัฐเลิกโซฮอล์ 91 ปีหน้า ด้านผู้ผลิตไบโอดีเซลยันคงบี 7 ได้ยาวถึงต้นปีหน้า

นายอุกฤษฎ์ อัษฎาธร นายกสมาคมการค้าผู้ผลิตเอทานอลไทย เปิดเผยว่า ปี 2560 แนวโน้มการใช้เอทานอลเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 4 ล้านลิตรต่อวัน ขณะที่กำลังการผลิตติดตั้งของโรงงานเอทานอลปัจจุบันมีสูงถึง 6 ล้านลิตรต่อวันซึ่งจะไม่มีผลต่อภาวะการตึงตัวของเอทานอลในช่วงสิ้นปีนี้เช่นปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน แนวโน้มในปี 2561 วัตถุดิบการผลิตเอทานอลทั้งโมลาส (กากน้ำตาล) และมันสำปะหลังมีทิศทางที่เพิ่มขึ้น จึงทำให้การผลิตเอทานอลจะเกินความต้องการสูง ดังนั้นจึงต้องการให้รัฐบาลได้พิจารณานโยบายการยกเลิกการจำหน่ายแก๊สโซฮอล์ 91 เพื่อเป็นการส่งเสริมการใช้เอทานอลให้มากขึ้น

นายศาณินทร์ ตริยานนท์ นายกสมาคมผู้ผลิตไบโอดีเซลไทย กล่าวว่า ปีนี้คาดว่าการใช้ไบโอดีเซลจะโตได้ 1-2% โดยขณะนี้สต๊อกปาล์มน้ำมันมีจำนวนมากสามารถคงการผสมไบโอดีเซลเป็นบี 7 ได้ตลอดไปจนถึงช่วงฤดูผลิต มี.ค. 2561 อย่างไรก็ตาม ด้วยปริมาณสต๊อกที่มีมากทำให้มีการส่งออกจำนวนหนึ่ง โดยจำเป็นต้องติดตามในจุดนี้เพราะหากส่งออกมากเกินไปอาจกระทบต่อการจำหน่ายบี 7 ได้ ซึ่งหากมีการบริหารจัดการที่ดีก็เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบใด ๆ

นายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) กล่าวว่า นโยบายการยกเลิกการจำหน่ายแก๊สโซฮอล์ 91 นั้นมีแนวคิดที่จะใช้กลไกราคาในการส่งเสริมการใช้ โดยอาจให้ราคาแก๊สโซฮอล์ 95 เท่ากับแก๊สโซฮอล์ 91 ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกเองโดยไม่จำเป็นจะต้องประกาศยกเลิกการจำหน่ายแต่อย่างใด ล่าสุดพบว่า 9 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ย. 60 )การใช้เอทานอลอยู่ที่ 10.7 ล้านลิตรต่อวัน ลดลง 4.3% ขณะที่การใช้แก๊สโซฮอล์ 95 อยู่ที่ 11.8 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้น 10.5% ส่วนไบโอดีเซลบี 7 กรมฯ มีนโยบายที่จะคงสัดส่วนการจำหน่ายบี 7 อย่างน้อยไปจนถึงสิ้นปีนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น