xs
xsm
sm
md
lg

เร่งเคลียร์พื้นที่โมโนเรล “ชมพู-เหลือง” จบใน 3 เดือน หวั่นทุบสะพานแยกลำสาลี ทำจราจรป่วน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รฟม.เร่งเจรจากรมทางหลวง-กทม.เคลียร์พื้นที่ ส่งมอบ BTS ก่อสร้าง โมโนเรล “สีชมพู และสีเหลือง” ให้ได้ข้อยุติใน 3 เดือน เผยปัญหา กทม.เสนอทุบสะพานแยกลำสาลียังไม่จบ เหตุตำรวจหวั่นจราจรสาหัส โดยจะเริ่มย้ายสาธารณูปโภค พ.ย.นี้นำร่อง ระบุสัญญายังไม่เริ่มต้นจนกว่าจะส่งมอบพื้นที่มากกว่า 75% หวั่นเจอรับเหมาขอต่อเวลา

นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม (หัวหน้ากลุ่มภารกิจ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวง) เปิดเผยภายหลังประชุมการขอใช้พื้นที่เพื่อก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู (ช่วงแคราย-มีนบุรี) ระยะทาง 34.5 กม. และสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 30.4 กม. โดยมีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานว่า ได้มีการหารือร่วมกับ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กรมทางหลวง (ทล.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) ในหลายจุดที่ยังไม่ได้ข้อยุติ ทำให้ขณะนี้ยังไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างให้กิจการร่วมค้ากลุ่มบริษัท BSR JV เป็นผู้รับสัมปทาน ซึ่งประกอบด้วย บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) และยังไม่เริ่มต้นสัญญา จนกว่าจะส่งมอบพื้นที่ได้ประมาณ 75% เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการส่งมอบพื้นที่ล่าช้าและเรียกค่าชดเชยเหมือนโครงการที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม จะพยายามเร่งรัดในการส่งมอบพื้นที่ให้เร็วที่สุด และเปิดให้บริการรถไฟฟ้าทั้ง 2 สายในปี 2564 ตามแผน

สำหรับสายสีเหลืองพบว่ามี 4 จุดที่ยังต้องเร่งหาข้อยุติ ได้แก่ 1. สะพานทางแยกบางกะปิ 2. ทางข้ามคลองแสนแสนบริเวณบางกะปิ 3. อุโมงค์ลอดถนนพัฒนาการ 4. อาคารจอดแล้วจร บริเวณใกล้ทางแยกต่างระดับศรีเอี่ยม ซึ่งจะต้องออกแบบก่อสร้าง ที่ให้ประชาชนมีความสะดวก และมีผลกระทบจากการเวนคืนน้อยที่สุด ส่วนสายสีชมพูนั้น ส่วนใหญ่ก่อสร้างบนแนวถนนแจ้งวัฒนะ, ติวานนท์, รามอินทรา และประเด็นการก่อสร้างสถานีหลักสี่

ทั้งนี้ ในส่วนของพื้นที่กรมทางหลวง มีเงื่อนไขให้ รฟม.จัดทำแผนในการรื้อย้ายสาธารณูปโภค ทำรูปแบบการวางท่อระบายน้ำทั้งหมดเสนอให้กรมทางหลวงอนุมัติก่อนดำเนินการ

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ช่วยผู้ว่าการ รฟม.กล่าวว่า สำหรับสายสีเหลือง รฟม.ได้ประสานกับ กทม.ในการออกแบบรายละเอียดบริเวณทางแยกบางกะปิ ซึ่งอยู่ระหว่างปรับแบบการทุบสะพานเข้าเดอะมอลล์ ซึ่งสะพานข้ามแยกบางกะปิสะพานเหล็ก ช่วงเลี้ยวจากลาดพร้าวไปศรีนครินทร์อาจจะมีการรื้อสะพานเดิมบางส่วน และก่อสร้างเพิ่มให้ แต่ กทม.ต้องการให้รื้อสะพานทั้งหมดและก่อสร้างให้ใหม่ ซึ่งกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ค่อนข้างกังวลเนื่องจากสะพานดังกล่าวมีปริมาณจราจรสูง ดังนั้นจะต้องหารูปแบบที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด ส่วนสีชมพู บนแนวถนนแจ้งวัฒนะ และสถานีหลักสี่ กรมทางหลวงกำลังพิจารณารูปแบบ ซึ่งจะสรุปแบบทั้งหมดยุติภายใน 3 เดือนนับจากเดือน พ.ย.เป็นต้นไป

ระหว่างที่ยังไม่ได้ข้อยุติ รฟม.ได้ประสานการประปานครหลวง และการไฟฟ้านครหลวง เพื่อวางแผนการรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภค เบื้องต้น บช.น.เห็นชอบแผนการจราจรแล้ว โดยจะเริ่มดำเนินการรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคในเดือ นพ.ย.นี้

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการและผู้อำนวยการใหญ่สายปฏิบัติการ BTS กล่าวถึงการดำเนินการรถไฟฟ้าสายสีชมพู และสายสีเหลือง ว่า รอ รฟม.ส่งมอบพื้นที่เพื่อก่อสร้าง จะมีเวลาดำเนินการก่อสร้าง 39 เดือนเพื่อเปิดให้บริการตามแผน ขณะนี้ได้ทำงานในส่วนของการสำรวจ การออกแบบไปก่อน โดยใช้เงินทุนดำเนินงานไปก่อน ส่วนเงินกู้จะเริ่มเบิกใช้เมื่อเริ่มก่อสร้าง

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองฯ มีระยะทางประมาณ 30.4 กิโลเมตร มีสถานีรวม 23 สถานี กรอบวงเงินลงทุน 45,797 ล้านบาท ในส่วนของโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ มีระยะทางประมาณ 34.5 กิโลเมตร มีสถานีรวม 30 สถานี กรอบวงเงินลงทุน 46,643 ล้านบาท ทั้ง 2 โครงการเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยวแบบคร่อมราง (Straddle Monorail) เป็นโครงสร้างยกระดับตลอดสาย มีทางเดินสำหรับการอพยพกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน (Emergency Walkway) ตลอดเส้นทาง แนวเส้นทางเป็นระบบขนส่งมวลชนขนาดรอง (Feeder Line) ที่จะกระจายความหนาแน่นของกิจกรรมเมือง และเชื่อมโยงการเดินทางกับระบบขนส่งมวลชนหลัก (Main Line) เป็นโครงข่ายอย่างเป็นระบบ การก่อสร้างทั้ง 2 โครงการมีกำหนดแล้วเสร็จและสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2563
กำลังโหลดความคิดเห็น