ครม.เห็นชอบการลงนามร่วมประเทศอาเซียนด้านการบิน 6 ฉบับ โดยไทยเสนอเปิดตลาดบริการเติมน้ำมันเชื้อเพลิง รวมถึงการทำเที่ยวบินร่วมเส้นทางภายในประเทศ (Domestic Code-Share) เพื่อเพิ่มความสะดวกในการขนส่งทางอากาศภายใน 10 ชาติอาเซียน “อาคม” เตรียมบินสิงคโปร์เพื่อลงนาม 12-13 ต.ค.นี้
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 10 ต.ค. เห็นชอบร่างเอกสารที่จะมีการรับรองและลงนามระหว่างการประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน ครั้งที่ 23 ระหว่างวันที่ 12-13 ต.ค. 60 ที่ประเทศสิงคโปร์ จำนวน 6 ฉบับ โดยเป็นเอกสารที่จะลงนาม 4 ฉบับ ได้แก่ 1. ร่างพิธีสารเพื่ออนุวัติข้อผูกพันชุดที่ 10 ของบริการขนส่งทางอากาศ ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยบริการของอาเซียน (Protocol to Implement the 10th Package of Commitments on Air Transport Services under ASEAN Framework Agreement on Services) ซึ่งประเทศไทยได้ยื่นเสนอเปิดตลาดบริการเติมน้ำมันอากาศยาน เฉพาะบริการเติมน้ำมันเข้าอากาศยาน (Into - plane Fueling Services) ซึ่งไม่ขัดต่อกฎหมายและระเบียบภายในของประเทศไทยเพื่อการเปิดตลาดบริการสาขาการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน โดยจะมีผลบังคับใช้เมื่อประเทศสมาชิกอาเซียน ตั้งแต่ 7 ประเทศขึ้นไปให้สัตยาบัน และจะมีผลบังคับใช้เฉพาะประเทศที่ให้สัตยาบัน เท่านั้น
ซึ่งผู้ประกอบการของไทย เช่น บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบาฟส์ และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ให้ความสนใจในการลงทุนดังกล่าวในประเทศอาเซียน ซึ่งการเติมน้ำมันอากาศมี 2 ระบบ คือ ระบบส่งน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานผ่านท่อแรงดันสูง (Hydrant) และรถเติมน้ำมันอากาศยาน ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวจะเป็นในส่วนของระบบรถเติมน้ำมัน
2. ร่างพิธีสาร 3 สิทธิการทำการบินโดยใช้ชื่อเที่ยวบินร่วมกันสำหรับเส้นทางบินภายในประเทศ (Protocol 3 on Domestic Code-Share Rights) จะทำให้สายการบินประเทศอาเซียนสามารถให้บริการด้านการใช้ชื่อเที่ยวบินร่วมกันสำหรับเส้นทางภายในประเทศอย่างไม่จำกัด ภายใต้เงื่อนไข สายการบินจะต้องไม่บริการรับส่งผู้โดยสารและสินค้าระหว่างสองจุดใดๆ ภายในประเทศอื่นไม่ใช่ประเทศตนเอง (on cabotage) โดยเที่ยวบินนั้นต้องมีต้นทางมาจากประเทศของตน จะมีผลบังคับใช้เมื่อประเทศสมาชิกอาเซียนตั้งแต่ 3 ประเทศขึ้นไปให้สัตยาบัน
“ข้อตกลงนี้จะทำให้สายการบินสามารถขายตั๋วโดยจากต้นทางถึงปลายทางได้แบบไร้รอยต่อแม้จะมีการต่อเชื่อม โดยผู้โดยสารไม่ต้องซื้อตั๋วแยก 2 ใบ เช่น ต้องการเดินทางจากจาการ์ตา (อินโดนีเซีย)-อุดรธานี (ไทย) สายการบินของอินโดนีเซียจะขายตั๋วใบเดียวถึงอุดรธานี แต่ในทางปฏิบัติ สายการบินอินโดนีเซียจะบินจากจาการ์ตามากรุงเทพฯ และส่งต่อผู้โดยสารให้กับสายการบินภายในประเทศไทยรับช่วงต่อ โดยผู้โดยสารไม่ต้องซื้อตั๋วเส้นทางกรุงเทพฯ-อุดรธานีอีก เพราะได้ซื้อมาตั้งแต่ต้นทางแล้ว ซึ่งจะทำให้มีความสะดวก และสายการบินมีโอกาสทางการตลาดในการเพิ่มเส้นทาง จุดบินในประเทศอาเซียน โดยการเจรจาจับคู่การบินกับประเทศที่มีศักยภาพ ส่งเสริมการบินภายในประเทศ” นายอาคมกล่าว
3. ร่างข้อตกลงยอมรับร่วมใบอนุญาตผู้ปฏิบัติหน้าที่ประจำเที่ยวบิน (Mutual Recognition Arrangement (MRA) on Flight Crew Licensing) ซึ่งจะกำหนดขอบเขตการยอมรับร่วมกันในใบรับรองและใบอนุญาตนักบินและลูกเรือของประเทศสมาชิกอาเซียนในการรองรับตลาดการบินร่วมของอาเซียน สนับสนุนความร่วมมือด้านความปลอดภัยการบินภายในภูมิภาคอาเซียน และส่งเสริมการแลกเปลี่ยนบุคลากรที่มีประสิทธิภาพระหว่างกัน โดยประเทศสมาชิกอาเซียนจะพิจารณาทบทวนการดำเนินการตามข้อตกลงฯ ทุกๆ 5 ปี และร่างเอกสารฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้เมื่อประเทศสมาชิกอาเซียนให้สัตยาบันครบทั้ง 10 ประเทศ
4. ร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างหน่วยงานด้านการสอบสวนอากาศยานของประเทศสมาชิกอาเซียนและหน่วยงานด้านการบินพลเรือนของจีน เกี่ยวกับความร่วมมือด้านการสอบสวนอุบัติเหตุและอุบัติการณ์อากาศยาน (Memorandum of Understanding between the Authorities in charge of Aircraft Investigation of ASEAN Member States and the Civil Aviation Administration of China on Cooperation relating to Aircraft Accident and Incident Investigation) โดยมีสาระสำคัญคือ การกำหนดกรอบความร่วมมือระหว่างอาเซียน-จีน ในด้านการสอบสวนอากาศยานประสบอุบัติเหตุและอุบัติการณ์ในการดำเนินการต่างๆ ไม่มากกว่าที่กฎหมายภายในและข้อบังคับของแต่ละภาคีจะอนุญาต ทั้งนี้ ร่างบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย
สำหรับเอกสารที่จะให้การรับรองมี 2 ฉบับ คือ 1. ร่างขอบเขตการประเมินความปลอดภัยของผู้ประกอบการสายการบินต่างชาติในอาเซียน (Terms of Reference (TOR) for ASEAN Foreign Operator Safety Assessment : AFOSA) หรือร่าง TOR ของ AFPSA มีสาระสำคัญเพื่อส่งเสริมมาตรฐานของประเทศสมาชิกอาเซียนด้านความปลอดภัยของผู้ประกอบการสายการบินต่างชาติที่ทำการบินในประเทศสมาชิกอาเซียน ทำให้เกิดความเชื่อมั่นระหว่างกัน โดยยึดหลักการตามข้อกำหนดของอนุสัญญาว่าด้วยการบินพลเรือนระหว่างประเทศ
2. ร่างแผนแม่บทว่าด้วยการบริหารจราจรทางอากาศในอาเซียน (ASEAN Air Traffic Management Master Plan) หรือ ASEAN ATM Master Plan มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำแผนการดำเนินงานด้านการบริหารจราจรทาอากาศที่ไร้รอยต่อ ส่งเสริมการดำเนินการด้านการจราจรทางอากาศของประเทศสมาชิกอาเซียนให้มีระบบการสื่อสาร ระบบเครื่องช่วยเดินอากาศ ระบบติดตามอากาศยาน และอื่นๆ ที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อรองรับพัฒนาการของตลาดการบินของอาเซียน และการใช้ห้วงอากาศในภูมิภาคอย่างมีประสิทธิภาพ