xs
xsm
sm
md
lg

ชงสร้างสนามบินใหม่ “พังงา-ลำพูน” ลดแออัด เล็งเปิด PPP เอกชนร่วม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กพท.เสนอแผนสร้างสนามบินใหม่ “พังงา และลำพูน” ช่วยรองรับการเติบโต และกระจายผู้โดยสารลดแออัดของสนามบินภูเก็ต และเชียงใหม่ที่ไม่สามารถขยายรันเวย์และอาคารผู้โดยสารได้อีก คาดลงทุนสนามบินละเกือบหมื่นล้านบาท แบ่งเฟสทยอยลงทุน เตรียมเสนอ กบร. พ.ย.นี้ก่อนชง ครม.ต่อไป คาดเปิด PPP เอกชนร่วมลงทุน ขณะที่ “บางกอกแอร์เวย์ส” เผยพร้อมลงทุนสนามบินพังงา

นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เปิดเผยว่า จากผลการศึกษาแผนแม่บทการจัดตั้งสนามบินพาณิชย์ ระยะ 20 ปี ซึ่งได้สรุปเบื้องต้นในแผนการปรับปรุงและขยายสนามบิน ตลอดจนการสร้างสนามบินแห่งใหม่รองรับนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นนั้น พบว่าสนามบินภูเก็ตและสนามบินเชียงใหม่มีความแออัดมาก โดย 5-10 ปีข้างหน้าจะไม่สามารถรองรับได้ ในขณะเดียวกันไม่สามารถขยายรันเวย์และอาคารผู้โดยสารได้ โดยติดปัญหาเรื่องพื้นที่ไม่สามารถถมทะเล ระเบิดภูเขาเนื่องจากมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

โดยพบว่าควรมีสนามบินใหม่ที่จังหวัดพังงาเพื่อช่วยลดความแออัดสนามบินภูเก็ต หรือเป็นสนามบินภูเก็ต 2 เนื่องจากมีระยะห่างประมาณ 40 กม. และสนามบินบ้านธิ จังหวัดลำพูน ระยะห่างจากสนามบินเชียงใหม่ประมาณ 30 กม. เพื่อช่วยลดแออัดสนามบินเชียงใหม่ หรือเป็นสนามบินเชียงใหม่ 2 ซึ่งที่ตั้งอยู่ในจุดที่สะดวกในการเชื่อมต่อระหว่างกัน

ทั้งนี้จะสรุปข้อมูลเสนอกระทรวงคมนาคมเพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) ภายในเดือน พ.ย. จากนั้นจะต้องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา ต่อไป พร้อมกันนี้จะต้องมีการพิจารณาหน่วยงานเจ้าของโครงการ ซึ่งเบื้องต้นอาจจะให้กรมท่าอากาศยาน (ทย.) รับผิดชอบเนื่องจากเป็นหน่วยงานรัฐ ขณะที่การกำหนดพื้นที่ก่อสร้างจะเป็นที่ราชการ ที่ราชพัสดุที่ไม่มีปัญหาหรือผลกระทบการเวนคืนมากนัก ส่วนรูปแบบการลงทุนนั้นจะต้องหารือในระดับนโยบายต่อไป 

ส่วนกรณีที่จะให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เป็นผู้รับผิดชอบลงทุนสนามบินแห่งใหม่ที่พังงา และลำพูนนั้น อาจจะต้องพิจารณาในเรื่องเงินทุนหมุนเวียนของ ทอท.ด้วย เนื่องจากปัจจุบัน ทอท.มีแผนขยายสนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2 และสนามบินที่อยู่ในความรับผิดชอบทั้ง 6 แห่งอยู่แล้ว ซึ่งใช้เงินลงทุนจำนวนมาก ขณะที่การให้บริการสนามบินในปัจจุบันมีผลตอบแทนการลงทุนที่ดี เนื่องจากมีปริมาณการเดินทางเติบโตอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น กรณีเปิดเป็นการร่วมลงทุนกับเอกชน (PPP) น่าจะได้รับความสนใจเพราะมีแนวโน้มที่จะทำกำไรได้ โดยรัฐรับผิดชอบในเรื่องการจัดหาที่ดิน

“กรมท่าอากาศยานอาจจะรับเป็นผู้ศึกษาในช่วงแรก ส่วนจะให้ ทอท.ก็ต้องพิจารณาหลายปัจจัย แต่หากเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน PPP ทอท.ก็สามารถเข้าร่วมแข่งขันกับเอกชนรายอื่นๆ ได้ ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินลงทุนสนามบินละเกือบหมื่นล้านบาท โดยจะแบ่งเฟสทยอยการลงทุนให้เหมาะสมกับปริมาณผู้โดยสาร” นายจุฬากล่าว

นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพจำกัด (มหาชน) ผู้บริหารสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส กล่าวว่า บริษัทพร้อมที่จะลงทุนหากรัฐเปิดให้เอกชนเข้าดำเนินการสนามบินแห่งใหม่ที่จังหวัดพังงา และเห็นว่าการให้เอกชนลงทุน 100% จะมีความรวดเร็วมากกว่า ซึ่งบริษัทได้มีการศึกษาการลงทุนไว้บ้างแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น