xs
xsm
sm
md
lg

แอร์พอร์ตลิงก์จ่อปรับปรุงตู้ขนสัมภาระ 4 คัน ติดเก้าอี้ เพิ่มความจุอีกหมื่นคน/วัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


แอร์พอร์ตลิงก์เตรียมรื้อตู้บรรทุกสัมภาระ 4 คันติดเก้าอี้นำมาวิ่งโดยสาร หวังเพิ่มความจุอีก 1 หมื่นคนต่อวัน จ่อจ้างตรง ซีเมนส์ เจ้าของระบบรื้อวงจรภายใน คาดวงเงิน 160 ล้าน ตู้คาดเสร็จปี 61 ยอมรับต้องหาทางแก้ปัญหาเท่าที่ทำได้เหตุซื้อรถใหม่ 7 ขบวนไม่คืบหน้า พร้อมเร่งซ่อมบำรุงใหญ่เสร็จ 4 ขบวน พร้อมรองรับให้บริการฟรีช่วงพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ 25-27 ต.ค.นี้

นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ กลุ่มสายงานปฏิบัติการและซ่อมบำรุง บริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด เปิดเผยว่า ขณะนี้การซ่อมบำรุงใหญ่ (overhaul) รถไฟฟ้าเสร็จแล้ว 2 ขบวน ส่วนขบวนที่ 3 อยู่ระหว่างทดสอบ ขณะที่ขบวนที่ 4 จะ overhaul เสร็จก่อนช่วงพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อรองรับการเดินทางของประชาชน โดยเฉพาะช่วงวันที่ 25-27 ต.ค. ที่แอร์พอร์ตเรลลิงก์จะเปิดให้บริการฟรี และรถทั้งหมด 9 ขบวน overhaul เสร็จทั้งหมด 9 ขบวนในเดือน มี.ค. 2561

ปัจจุบันจำนวนผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเดือน ส.ค.ที่ผ่านมาได้ทำสถิติสูงสุดรายเดือนที่ 1,989,031 คน หรือเฉลี่ย 6.5-7 หมื่นคนต่อวัน ซึ่งเกินความจุรองรับในปัจจุบัน ซึ่งมีการนำรถไฟฟ้า 1 ขบวนหมุนเวียนเข้าซ่อมบำรุงใหญ่ ทั้งนี้ เมื่อการซ่อมบำรุงใหญ่เสร็จ ในช่วง มี.ค.-เม.ย. ปี 2561 จะทำให้รถมีศักภาพมากขึ้น ซึ่งจะปรับความถี่ในการเดินรถใหม่จากปัจจุบัน 10 นาทีต่อขบวนเป็น 8 นาทีครึ่งต่อขบวน เพื่อช่วยบรรเทาความแออัดของผู้โดยสาร

นอกจากนี้ ในปี 2561 บริษัทฯ ยังเตรียมปรับเปลี่ยนภายในตู้บรรทุกกระเป๋าสัมภาระ จำนวน 4 ตู้ ที่พ่วงอยู่ในขบวนรถไฟฟ้าด่วน (express line) ปัจจุบันตู้สัมภาระไม่สามารถให้ผู้โดยสารขึ้นได้เนื่องจากภายในตู้จะมีวงจรเซ็นเซอร์สำหรับการโหลดสัมภาระ โดยต้องพ่วงวิ่งไปพร้อมกับรถไฟฟ้าด่วนเพราะเป็นตู้ที่มีระบบมอเตอร์ขับเคลื่อน

ดังนั้น ในการปรับปรุงให้เป็นตู้สำหรับโดยสารจะต้องถอดวงจรและเซ็นเซอร์ต่างๆ ออกก่อน ซึ่งจะจ้างตรงบริษัท ซีเมนส์ จำกัด ในฐานะเจ้าของระบบทำการปรับปรุงทั้งหมด โดยขณะนี้ได้ทำ TOR เสร็จแล้ว โดยมีเงื่อนไขให้ดำเนินการถอดระบบและติดตั้งที่นั่ง นอกจากนี้ หากในอนาคตต้องการให้ตู้ดังกล่าวกลับไปใช้ในการขนสัมภาระจะต้องสามารถใส่วงจรและระบบต่างๆ กลับไปได้เหมือนเดิมอีกด้วย ซึ่งหากสามารถรับปรุงตู้สัมภาระเป็นตู้โดยสารได้จะทำให้รองรับผู้โดยสารเพิ่มอีก 1 หมื่นคนต่อวัน โดยจะเพิ่มจาก 7.2 หมื่นคนเป็น 8.3 หมื่นคนต่อวัน

“เรื่องนี้ทางการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ในฐานะบริษัทแม่ได้รับทราบและมีนโยบายให้แอร์พอร์ตลิงก์ดำเนินการทำแผนเสนอตามขั้นตอน เพื่อบรรเทาปัญหาความแออัดในช่วงปี 61-62 ที่การจัดซื้อรถไฟฟ้า 7 ขบวนใหม่ยังไม่ชัดเจน ซึ่งจะเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) แอร์พอร์ตลิงก์เห็นชอบก่อน จากนั้นนำเสนอบอร์ด ร.ฟ.ท.ต่อไป คาดว่าจะใช้วงเงินดำเนินการประมาณ 160-170 ล้านบาท ระยะเวลาปรับปรุงประาณ 1 ปี” นายสุเทพกล่าว

สำหรับการประกวดราคา e-Auction เพื่อจัดหาผู้ติดตั้งประตูกั้นชานชาลา 7 สถานี วงเงิน 200 ล้านบาท ซึ่งมีผู้ยื่นประมูล 4 รายนั้น จะนำเสนอผลต่อที่ประชุมบอร์ดแอร์พอร์ตลิงก์ตัดสินใจในวันที่ 12 ต.ค.นี้ หากไม่มีปัญหาจะเริ่มดำเนินการในเดือน ม.ค. 2561 ใช้เวลาดำเนินการ 18 เดือนเพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้ผู้โดยสาร
กำลังโหลดความคิดเห็น