xs
xsm
sm
md
lg

เลื่อนอีกตั๋วร่วม “ม่วง-แอร์พอร์ตลิงก์” ใช้ได้ ก.ค. 61 ส่วน BTSและ MRT ยืดไป ก.ย.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รฟม.ได้ฤกษ์ลงนาม MOU ตั๋วร่วม 11 ต.ค.นี้ พร้อมปรับแผนเลื่อนใช้ บัตรแมงมุม “สีม่วง-แอร์พอร์ตลิงก์” จาก มี.ค. 61 เป็น ก.ค. 61 ส่วน BTS และสีน้ำเงินใช้ได้ ก.ย. 61 เหตุต้องเจรจาธุรกิจและทำข้อตกลงอีกฉบับกับ BEM และ BTS ก่อนลงมือปรับปรุงระบบจริง
 
นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงแผนการดำเนินการระบบตั๋วร่วม หรือบัตรแมงมุม ว่า หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รับทราบแนวทางการดำเนินงานเมื่อวันที่ 29 ส.ค. ซึ่งในระยะแรกการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะทำหน้าที่เป็นผู้บริหารจัดการและบำรุงรักษาระบบตั๋วร่วม โดย รฟม.จะมีการลงนามในข้อตกลง (MOU) กับผู้ให้บริการ ซึ่งเริ่มต้นจะลงนาม MOU กับ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ BTS และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ในวันที่ 11 ต.ค. 2560 และจะมีการปรับปรุงระบบและทดสอบช่วง พ.ย. 2560-ส.ค. 2561 เพื่อเริ่มใช้งานระบบตั๋วร่วมบนรถไฟฟ้าสายสีเขียว หรือ BTS และสายสีน้ำเงิน (MRT) ในวันที่ 1 ก.ย. 2561

ส่วนรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-เตาปูน และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ในช่วง ต.ค.-ธ.ค. 2560 จะจัดสรรงบประมาณและดำเนินการจัดจ้าง เพื่อดำเนินการปรับปรุงระบบและทดสอบในช่วง ม.ค.-มิ.ย. 2561 และเปิดใช้ระบบตั๋วร่วมได้ในวันที่ 1 ก.ค. 2561
      
โดยในช่วงแรกระบบตั๋วร่วมจะเริ่มใช้กับรถโดยสารประจำทางขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ซึ่งล่าสุดจะมีการใช้งานจริงตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2560 เพื่อให้สอดคล้องกับการเลื่อนใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรผู้มีรายได้น้อย) โดย ขสมก.ได้ดำเนินการติดตั้งระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ (E-Ticket) บนรถ ขสมก.ทั้งรถธรรมดาและรถปรับอากาศ 2,600 คัน ในวันที่ 1 เม.ย. 2561
 
แหล่งข่าวจาก รฟม.ระบุว่า แผนเดิมสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กำหนดจะใช้งานระบบตั๋วร่วมกับรถไฟฟ้าสายสีม่วงและแอร์พอร์ตเรลลิงก์ในเดือน มี.ค. 2561 แต่ล่าสุดต้องปรับแผนงานเลื่อนออกไป เนื่องจากมีขั้นตอนที่ รฟม.จะต้องรับช่วงต่อจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) อีกทั้ง MOU นั้นไม่ได้มีผลผูกพันทางธุรกิจ ดังนั้น หลังจากทำ MOU กันแล้ว รฟม.จะต้องเจรจากับ BEM และ BTS ในแผนธุรกิจต่างๆ เพื่อกำหนดไว้ในสัญญาข้อตกลงร่วมลงทุน หรือ Service Provider Agreement : SP และลงนามร่วมกันก่อนเอกชนจึงจะเริ่มลงทุนปรับปรุงระบบได้ คาดว่าจะใช้เวลาอีกไม่น้อยกว่า 1 เดือน โดยแต่ละรายจะลงทุนไม่น้อยกว่า 140 ล้านบาท และรายละเอียดใน SP ถือเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นก่อนที่จะมีการจัดตั้ง CTC เป็นบริษัทจำกัด ซึ่งจะมีการร่วมทุนกับเอกชนผู้ให้บริการต่อไป

ทั้งนี้ รฟม.ได้ตั้งงบประมาณปี 2561 กว่า 40 ล้านบาท ในการว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อทำการศึกษาความเหมาะสมในเรื่องโครงสร้างบริษัทร่วมทุน ระบบการเงิน บุคลากร และการกำหนดสัดส่วนหุ้นของผู้ประกอบการแต่ละรายในบริษัทร่วมทุนฯ รวมถึงช่วยเจรจากับผู้ประกอบการทั้งที่เป็นผู้ให้บริการระบบขนส่งและนอกระบบขนส่ง (Non-Transit) อีกด้วย

“ยอมรับความล่าช้า เพราะในการดำเนินการเอกชนจะต้องมีความมั่นใจ แค่ MOU ไม่มีผลผูกพันทางธุรกิจและไม่ทำให้เอกชนมั่นใจพอที่จะลงทุนเงินกว่าร้อยล้านบาทได้ ต้องเจรจารายละเอียดทำสัญญาร่วมลงทุนหรือ SP ด้วย นอกจากนี้ ขั้นตอนภายในของ รฟม.เองจะต้องขออนุมัติบอร์ดซึ่งบอร์ดประชุมเดือนละครั้ง ซึ่งจะต้องเร่งรัดต่อไป โดยขณะนี้ ในส่วนของสีม่วง รฟม.ได้ให้ BEM สำรวจแล้วว่าจะต้องปรับปรุงระบบอย่างไรตามมาตรฐานกลางตั๋วร่วมเพื่อประเมินงบประมาณ ซึ่ง รฟม.จะลงทุนสายสีม่วงเอง”

อย่างไรก็ตาม การให้ความช่วยเหลือของรัฐผ่านบัตรสวัสดิการสำหรับรถเมล์และรถไฟฟ้ารวมกันที่วงเงิน 500 บาทต่อเดือนนั้นค่อนข้างต่ำไปสำหรับการเดินทาง ขณะที่เดิมประเมินวงเงินไว้ที่ 600 บาทต่อเดือน ซึ่งทำให้ไม่จูงใจและการเจรจากับเอกชนในการเข้ามาร่วมลงทุนทำได้ยากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น