วิศวกรจีนชุดแรก 77 คนเข้ารับการทดสอบ “รถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ-โคราช” แล้วเพื่อเร่งออกใบรับรอง ขณะที่การประชุมครั้งที่ 21 หารือถึงแผนหารือรายละเอียดสัญญา 2.3 (ระบบราง ไฟฟ้าเครื่องกล จัดหาขบวนรถ และอบรมบุคลากร) และวางแผน เส้นทางโคราช-หนองคาย “คมนาคม”ระบุ รถไฟไทย-จีนเริ่มนับหนึ่ง 9 ต.ค.นี้ ลุยรับรองแบบ 3.5 กม. คาดตอกเข็ม หลังต.ค. ส่วนไฮสปีด กรุงเทพ-หัวหิน ชงสคร.คู่ขนานขออนุมัติ EIA ขณะที่กรุงเทพ-ระยอง รฟท.เตรียมหารือ คณะทำงานกลั่นกรองEEC 28 ก.ย. สรุปรายงานพร้อมเชื่อม 3 สนามบิน ก่อนชง EEC ใน ต.ค.นี้
รายงานข่าวแจ้งว่า ขณะนี้การทดสอบวิศวกรจีนในโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา รุ่นที่ 1 จัดโดยสภาวิศวกร ในวันที่ 25 กันยายน 2560 ณ เมืองเทียนจิน สาธารณรัฐประชาชนจีน มีวิศวกรจีนเข้าร่วมการทดสอบจำนวน 77 คน หัวข้อการทดสอบประกอบด้วย 1. ด้านกฎหมายและจรรยาบรรณของวิศวกรในประเทศไทย 2. ด้านเทคนิคเกี่ยวกับสภาพทั่วไปของประเทศไทย เช่น สภาพชั้นดินและธรณีวิทยา น้ำและการระบายน้ำ ตลอดจนความปลอดภัยในทางวิศวกรรมและสิ่งแวดล้อม เมื่อวิศวกรจีนผ่านการทดสอบทางสภาวิศวกรไทยจะออกใบรับรองเพื่อนำไปใช้ในโครงการรถไฟไทย-จีนต่อไป
นอกจากนี้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายหวัง เสี่ยวเทา รองผู้อำนวยการคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติของจีน ได้เยี่ยมชมการฝึกอบรมและทดสอบวิศวกรจีน ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีนอีกด้วย
ทั้งนี้ นายอาคม และนายหวัง เสี่ยวเทา ได้ร่วมลงนามบันทึกผลการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 21 เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2560 ณ นครเทียนจิน สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งที่ประชุมได้หารือรายละเอียดสัญญา 2.3 (ระบบราง ไฟฟ้าเครื่องกล จัดหาขบวนรถ และอบรมบุคลากร) รวมถึงการวางแผนเพื่อเริ่มต้นโครงการรถไฟระยะต่อไป จากเส้นทางนครราชสีมา-หนองคาย
และก่อนหน้านี้ฝ่ายไทยและจีนได้ลงนามสัญญา Engineering Procurement Construction (EPC) ทั้งงานออกแบบ และงานควบคุมงานในโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 252.35 กิโลเมตร วงเงิน 179,412.21 ล้านบาท
นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคมเปิดเผยภายหลังประชุมติดตามโครงการในแผนปฏิบัติการลงทุนด้านคมนาคมขนส่ง (Action Plan) ปี 2559 รวม 20 โครงการ วงเงิน 1,383,938.89 ล้านบาท ว่า ในการดำเนินโครงการความร่วมมือไทย-จีนในการพัฒนารถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา ระยะทาง 252.35 กิโลเมตร วงเงิน 179,412.21 ล้านบาท ซึ่งได้ลงนามในสัญญาออกแบบ( 2.1) และสัญญาควบคุมงาน ( 2.2) แล้ว และจะเริ่มนับเริ่มต้นโครงการหลังจากลงนามสัญญา 35 วัน คือตั้งแต่ วันที่ 9 ต.ค. นี้
ทั้งนี้ ได้มีการฝึกอบรมวิศวกรจีนชุดแรกจำนวน 77 คนได้ดำเนินการ ซึ่งเมื่อวิศวกรจีนผ่านการอบรมและได้รับการรับรองจากสภาวิศวกรไทยและสภาสถาปนิกไทยแล้ว จึงจะลงนามรับรองแบบรายละเอียดช่วงสถานีกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม.ที่ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อจัดส่งให้ทางการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)ได้ประมาณกลางเดือน ต.ค. ส่วนการก่อสร้าง ซึ่งดำเนินการโดยกรมทางหลวง(ทล.) นั้น คาดว่าจะเริ่มหลังจากพ้นเดือนต.ค.ไปก่อน
สำหรับการทดสอบวิศวกรจีน รุ่นที่ 1 จัดโดยสภาวิศวกร ในวันที่ 25 ก.ย. 2560 ณ เมืองเทียนจิน สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีหัวข้อการทดสอบประกอบด้วย 1. ด้านกฎหมายและจรรยาบรรณของวิศวกรในประเทศไทย 2. ด้านเทคนิคเกี่ยวกับสภาพทั่วไปของประเทศไทย เช่น สภาพชั้นดินและธรณีวิทยา น้ำและการระบายน้ำ ตลอดจนความปลอดภัยในทางวิศวกรรมและสิ่งแวดล้อม เมื่อวิศวกรจีนผ่านการทดสอบทางสภาวิศวกรไทยจะออกใบรับรองเพื่อนำไปใช้ในโครงการรถไฟไทย-จีนต่อไป
ส่วนการ ประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 21 เมื่อ วันที่ 22 กันยายน 2560ณ นครเทียนจิน สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้หารือรายละเอียดสัญญา 2.3 (ระบบราง ไฟฟ้าเครื่องกล จัดหาขบวนรถ และอบรมบุคลากร) รวมถึงการวางแผนเพื่อเริ่มต้นโครงการรถไฟระยะต่อไป จากเส้นทางนครราชสีมา - หนองคาย
สำหรับรถไฟทางคู่ 5 เส้นทาง ช่วงนครปฐม-หัวหิน,หัวหินประจวบคีรีขันธ์,ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร,ลพบุรี-ปากน้ำโพ,มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ซึ่งมีการปรับจาก 5 สัญญาเป็น 13 สัญญา จะต้องมีการเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ โดยคาดว่า รฟท.เสนอรายงานมายังกระทรวงคมนาคมภายในสัปดาห์นี้ ในขณะเดียวกันจะนำเสนอผลการประมูลไปยังซุปเปอร์บอร์ดจัดซื้อฯด้วย
ซึ่งขณะนี้ประมูลแล้ว 9 สัญญา โดยสัญญาที่ 10 ช่วงสถานีโคราช ต้องรอการปรับแบบเป็นทางยกระดับก่อน ส่วนอีก 3 สัญญาเป็นระบบอาณัติสัญญาณ คาดว่าจะเริ่มประมูลได้ก่อนปลายปีนี้
ส่วนรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-หัวหิน ระยะทาง 211 กม. ขณะนี้ได้ส่งข้อมูลไปยังสคร.แล้ว รวมถึงได้ส่งรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)ไปยังสผ. เมื่อวันที่ 11 ก.ย. แล้วกรณีมีการปรับเปลี่ยนแนวเส้นทาง หลังจากรับฟังความเห็นจากประชาชน รอการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ ส่วนรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-ระยอง ระยะทาง 193 กม. เนื่องจากผลการศึกษา รวม 3 สนามบิน ทางรฟท.จะหารือร่วมกับคณะทำงานกลั่นกรอง ของคณะกรรมการ EEC ในวันที่ 28 ก.ย. ก่อนจะสรุปผลการศึกษาฉบับสมบูรณ์ จากนั้น ต.ค.จะเสนอคณะกรรมการ EEC เข้าสู่ PPP Fast Track ต่อไป
อย่างไรก็ตาม โครงการใน Action Plan 59 ที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง ขณะนี้มี 8 โครงการ ซึ่งเป็นไปตามแผน ได้แก่ รถไฟทางคู่ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น คืบหน้า 36.71% ,โครงการพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่งA ท่าเรือแหลมฉบัง คืบหน้า 89.42% ,โครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟที่ท่าเรือแหลมฉบัง คืบหนา 62.08% ,มอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-นครราชสีมา คืบหน้า 16.16% ,สายบางใหญ่-กาญจนบุรี คืบหน้า 3.32% ,รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี คืบหน้า 2% สุวรรณภูมิ เฟส 2 อยู่ระหว่างก่อสร้าง 2 งานจากทั้งหมด 8 งาน