การรถไฟฯ ติดตั้งเครื่องชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (เครื่อง EDC) 534 เครื่องประจำสถานีรถไฟทุกแห่ง 444 สถานี เสร็จแล้ว พร้อมเปิดใช้งานเพื่ออำนวยความสะดวกและรองรับการใช้งานบัตรคนจน โชว์บัตรประจำตัวใช้สิทธิ์ขึ้นรถไฟชั้น 3 ทุกขบวน
นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) แจ้งว่า การรถไฟฯ ได้ร่วมกับ ธนาคารกรุงไทย จำกัด ดำเนินการติดตั้งเครื่องชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (เครื่อง EDC) ประจำสถานีรถไฟทุกแห่ง 444 สถานี จำนวน 534 เครื่อง เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการใช้งานสำหรับประชาชนที่ลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยที่ถือบัตร สามารถนำบัตรมาใช้สิทธิ์ขึ้นรถไฟชั้น 3 ทุกขบวน ทดแทนโครงการรถไฟฟรีเพื่อประชาชน
ทั้งนี้ การติดตั้งเครื่องชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (เครื่อง EDC) ได้มีการอบรม แนะนำวิธีการใช้งานให้เจ้าหน้าที่ประจำสถานีเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารที่ถือบัตรสวัสดิการมาใช้บริการเครื่องชำระเงินดังกล่าวที่ช่องจำหน่ายตั๋วทุกสถานีทั่วประเทศ ขณะนี้ได้ดำเนินการติดตั้งเครื่องแล้วเสร็จพร้อมใช้งานทุกสถานี โดยสถานีกรุงเทพได้ติดตั้งมากที่สุดจำนวน 22 เครื่อง เนื่องจากเป็นสถานีหลักและมีผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมาก ส่วนสถานีอื่นๆ ได้ติดตั้งจำนวนเครื่องตามความเหมาะสมกับสถานี เพื่อรองรับประชาชนที่มาใช้บริการ
สำหรับการออกตั๋วโดยสารโดยชำระเงินผ่านเครื่อง EDC จะต้องดำเนินการที่สถานีรถไฟเท่านั้น ส่วนป้ายหยุดรถต่างๆ ไม่สามารถออกตั๋วได้ เนื่องจากไม่มีระบบการออกตั๋วออนไลน์ ทั้งนี้คาดว่าเมื่อเปิดใช้งานแล้วจะมีผู้ใช้บริการรถไฟที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้มีรายได้น้อยมากขึ้น
ร.ฟ.ท.ได้ดำเนินงานตามโครงการประชารัฐสวัสดิการช่วยเหลือคนจน โดยให้ผู้มีรายได้น้อยลงทะเบียนรับสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2560 ที่รัฐบาลได้จัดทำขึ้น ในการขับเคลื่อนตามแผนยุทธศาสตร์ National เพื่อสนับสนุนสวัสดิการสังคมช่วยเหลือประชาชนที่มีรายได้น้อยในส่วนของมาตรการขั้นพื้นฐาน เช่น การจ่ายเงินภาษีให้กับคนจน (Negative Income Tax) สำหรับผู้มีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อปี จะได้ 300 บาท/เดือน คนรายได้ 30,000-100,000 บาทต่อปี จะได้เดือนละ 200 บาท รวมทั้งได้ส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม 45 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน จากร้านค้ากระทรวงพลังงาน และมาตรการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการเดินทางรถสาธารณะ ประกอบด้วย รถไฟจำนวน 500 บาทต่อเดือน รถโดยสารองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) หรือรถไฟฟ้า จำนวน 500 บาทต่อเดือน รถบริษัทขนส่ง จำกัด (บขส.) 500 บาทต่อเดือน รวมผู้มีสิทธิ์กว่า 11 ล้านคน