กิจการเพื่อสังคมคือโมเดลธุรกิจสายพันธุ์ใหม่ที่ถูกนำเสนอให้ทุกภาคส่วนต่างๆ ในสังคมได้ลองกลับมาทบทวนบทบาทของตัวเองให้มากขึ้น บางหน่วยงานของรัฐเอง เช่น องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวยั่งยืน (อพท.) ก็ได้เข้ามาส่งเสริมเรื่องนี้ให้เกิดเป็นรูปธรรม โดยเริ่มจากการเข้าไปศึกษาโมเดลกับผู้ประกอบการโดยตรงเพื่อจะนำไปปรับใช้กับเขตพื้นที่พิเศษ โดยโมเดลแรกที่เราจะพามารู้จักนี้เป็นโมเดลธุรกิจหนึ่งที่กล้านำปัญหาสำคัญระดับชาติอย่างภาคการเกษตรมาคิดแก้ปัญหา
ทุกวันนี้เกษตรกรซึ่งคือต้นน้ำของประเทศยังคงนิยมใช้สารเคมีในการทำการเกษตรอยู่ โดยที่เราไม่มีทางรู้ความจริงได้เลยว่านาทีที่คุณกำลังอ่านมาถึงย่อหน้านี้นั้นจะมียาฆ่าแมลงผสมเจือปนอยู่ในดินและน้ำหรือแม้กระทั่งในจานสลัดที่วางอยู่ตรงหน้าของคุณมากขนาดไหน และสารพิษเหล่านี้เองก็คือตัวร้ายชั้นเลิศที่นำพาโรคต่างๆ มาสู่มนุษย์ ไม่ว่าจะการทำงานผิดปกติของระบบประสาทหรือโรคมะเร็งที่เดี๋ยวนี้หันไปทางไหนใครก็เป็น ส่วนในด้านเกษตรกรเอง การใช้สารเคมีที่นอกจากจะทำลายสุขภาพของพวกเขาแล้วก็ยังนำมาซึ่งภาระของหนี้เสียจากการที่เกษตรกรไม่สามารถควบคุมเรื่องของต้นทุนในการใช้สารเคมีได้ พอถึงเวลาก็ต้องขายที่ขายทาง และเมื่อไม่มีที่ดินทำมาหากินก็ต้องไปสร้างภาระเพิ่มให้ตัวเองเป็นหนี้กันนอกระบบอีก แล้วคิดดูว่าประเทศเรามีผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรอยู่ถึง 35 เปอร์เซ็นของประชากรในประเทศทั้งหมด?! ซึ่งถ้าต้นตอใหญ่ของปัญหาระดับประเทศในเรื่องของระบบอาหารที่ไม่สมดุลยังคงเป็นแบบนี้ต่อไป แล้วประเทศจะเดินหน้าไปได้อย่างไร
สามพรานโมเดลเป็นการรวมกลุ่มของเครือข่ายเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงและสร้างห่วงโซ่ใหม่ๆ ระหว่างผู้ปลูกกับผู้บริโภคในรูปแบบของการดำเนินธุรกิจบนฐานของการค้าที่เป็นธรรม โดยเริ่มจากคำสามคำ ‘อยากกินดี’ รวมทั้งหลายปีก่อนหน้านี้โรงแรมสามพรานริเวอร์ไซด์เองก็ต้องเสียเงินค่าผักผลไม้ให้กับพ่อค้าคนกลางถึงเดือนละเกือบล้าน จนวันหนึ่งเจ้าของธุรกิจจึงเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า‘ งั้นทำไมเราไม่ซื้อตรงจากตัวเกษตรกรเลยล่ะ’?
หลังการตั้งคำถามได้ไม่นาน ทางโรงแรมเชิญเกษตรกรจำนวน 70 คนเข้ามาพูดคุยและทำข้อตกลงร่วมกัน โดยโรงแรมจะรับซื้อผลิตผลโดยตรงจากเกษตรกรในราคาที่เคยจ่ายให้พ่อค้าคนกลาง ซึ่งหมายความว่าเกษตรกรจะได้ราคาขายเป็นหนึ่งเท่าตัว (อย่างน้อย) จากที่พวกเขาเคยได้รับจากพ่อค้าคนกลาง โดยโรงแรมมีข้อแม้ว่า ‘ห้ามเกษตรกรใช้สารเคมี’ ซึ่งผลจากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นคือ เมื่อเกษตรกรหยุดใช้สารเคมี สุขภาพของพวกเขาก็ดีขึ้น ต้นทุนในการทำการเกษตรกรรมเองก็ลดลงถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ปลดหนี้ได้ แต่สิ่งที่ยังเป็นปัญหาใหญ่สำหรับเกษตรกรอยู่คือเรื่องของช่องทางการตลาด เพราะทั้งชีวิตที่ผ่านมา ชาวนาส่วนใหญ่มักเอาชีวิตไปแขวนไว้บนเครื่องคิดเลขของพ่อค้าคนกลาง
‘โครงการสามพรานโมเดล (โดยมูลนิธิสังคมสุขใจและสามพรานริเวอร์ไซด์)’ จึงทำหน้าที่เชื่อมตลาดให้กับเกษตรกรโดยมีรูปแบบการทำงานคือ
1) เป็นการทำงานตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่งปลายน้ำที่ว่านี้ก็คือการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนด้วยการนำคนกินไปพบคนปลูก รวมถึงการพานักท่องเที่ยวไปดูการปลูกพืชตามฤดูกาลยังพื้นที่จริง เพราะรูปแบบการท่องเที่ยวในปัจจุบันเอง นักเดินทางก็ต่างมองหาประสบการณ์ตรงในแบบเที่ยวไปด้วยเรียนรู้ด้วยการลงมือทำไปด้วย มากกว่าที่จะนั่งดูโชว์กันเฉยๆ
2) เมื่อเกษตรกรกลุ่มใดผ่านการรับรองว่ามีส่วนร่วมกับโครงการแล้ว พวกเขาจะมีโอกาสเข้าร่วมในหลายช่องทางเพื่อการจำหน่าย เช่นตลาดสุขใจในพื้นที่ของสวนสามพรานที่เปิดขายมาแล้วหกปีเต็ม ด้วยราคาของที่ไม่แพงเพราะเป็นการซื้อตรงกับเกษตรกร โดยผลประกอบการในปีที่แล้วตลาดสุขใจมียอดขายถึง 31 ล้านบาท
3) ในส่วนของพ่อครัวโรงแรมสามพรานริเวอร์ไซด์เอง จากที่เคยโทร.สั่งของจาก supplier ก็เปลี่ยนมาเป็นการติดต่อโดยตรงกับเกษตรกร ทางไลน์กลุ่มบ้าง นัดประชุมกันตามวาระบ้าง และใช้วิธีเปลี่ยนเมนูของโรงแรมตามผลผลิตในแต่ละฤดูกาลของเกษตรกรบ้าง ซึ่งผลที่เกิดขึ้นคือครัวของโรงแรมได้ผลผลิตที่ดีกว่า เก็บในตู้เย็นได้นานกว่า รสชาติอร่อยกว่า โดยที่ต้นทุนยังคงเท่าเดิม
4) สามพรานโมเดลช่วยแนะนำเกษตรกรให้รู้จักกับโรงแรมใหญ่ๆ เพื่อทำการติดต่อขายตรงกับโรงแรม โดยปัจจุบันมีโรงแรม 19 แห่ง และ 3 ศูนย์ประชุมที่เข้าร่วมโครงการ Farm to Function ก่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์แบบใหม่ระหว่างผู้ปลูกกับผู้บริโภค เช่น การจัดงานประจำปีรวมภาคีเครือข่ายในเรื่องของเกษตรอินทรีย์ให้มาพบปะแลกเปลี่ยนความรู้กัน
5) มีเว็บไซต์ตลาดออนไลน์ ที่จะใช้เป็น platform เพื่อเชื่อมระหว่างผู้บริโภคกับเกษตรกรทั้งรายใหญ่และรายย่อย
6) ปัจจุบันสามพรานโมเดลขับเคลื่อนเกษตรกรอยู่ 11 กลุ่ม โดยใช้กติกา ‘ระบบชุมชนรับรองแบบมีส่วนร่วม’ หรือ GPS ที่อิงกับมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (IFOAM) โดยมีการพบปะทุกเดือนเพื่อให้เกษตรกรรายใหม่ได้เข้ามาเรียนรู้จากเกษตรกรเก่าในกลุ่ม
มาถึงตรงนี้ต้องบอกว่าขณะที่โลกกำลังก้าวกระโดดไปไวมาก ภาคธุรกิจในแต่ละประเภทก็ต้องปรับตัวให้ทันโลก ‘สามพรานโมเดล’ ถือเป็นหนึ่งตัวอย่างในรูปแบบของการทำธุรกิจเพื่อสังคมที่ช่วยพัฒนาเกษตรอินทรีย์และยกระดับเกษตรกรสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ แก้ปัญหาในเรื่องชาวนาถูกเอารัดเอาเปรียบโดยพ่อค้าคนกลาง ซึ่งผลที่ตามมาคือผู้บริโภคได้กินอาหารดี มีคุณภาพและปลอดภัย ราคาไม่แพง ตัวเกษตรกรเองเกิดความภูมิใจในสัมมาอาชีพโดยที่สินค้าของพวกเขามันอยู่ในวิถีชีวิตประจำวันอยู่แล้วโดยไม่ต้องลุกขึ้นมาเปลี่ยนอะไร ในส่วนของตัวเจ้าของธุรกิจโรงแรมสามพรานริเวอร์ไซด์ก็ได้ผลิตผลทางการเกษตรอินทรีย์ชั้นดีเพื่อเป็นวัตถุดิบสำหรับปรุงอาหารให้ลูกค้าในโรงแรมจากราคาการซื้อขายที่ยุติธรรม จึงเกิดประโยชน์และความสำเร็จร่วมกันอย่างแท้จริง (Win-Win Situation )
ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นพลังแห่งความร่วมมือร่วมใจแม้จะอยู่บนความแตกต่างทางบทบาทในสังคมแต่ก็หาจุดร่วมกันได้ ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกันที่องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวยั่งยืน (อพท.) กำลังส่งเสริมให้เกิดขึ้นในพื้นที่โครงการโดยขณะนี้ได้เริ่มต้นไปแล้ว โดยมีการสร้างความร่วมมือกับอีกหลายภาคส่วนอย่างเช่นที่เขตพื้นที่พิเศษจังหวัดน่าน ที่มีความโดดเด่นด้านงานหัตถกรรม เพราะมีความเชื่อว่ากลไกในลักษณะนี้จะสามารถต่อยอดงานพัฒนาและทำให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต