xs
xsm
sm
md
lg

นวัตกรรมยางรองรางรถไฟ จากยางพาราความสำเร็จ “พิมพ์ใจแห่งไออาร์ซี” สตรีดีเด่นของอาเซียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ไออาร์ซี” พัฒนานวัตกรรม “แผ่นยางรองรางรถไฟจากยางพาราธรรมชาติ 100%” รายแรกของประเทศตามนโยบายนายกฯ เพิ่มการใช้ยางพาราในประเทศ หนุนไทยแลนด์ 4.0 ความสำเร็จของ “พิมพ์ใจ” ทายาทลี้อิสสระนุกูลรุ่นที่ 3 การันตี รางวัลสตรีดีเด่นของอาเซียน พร้อมคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ รองรับโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมทุกรูปแบบ

นางพิมพ์ใจ ลี้อิสสระนุกูล กรรมการผู้จัดการบริษัท อีโนเว รับเบอร์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือไออาร์ซี บริษัทผลิตยางจักรยานยนต์ และชิ้นส่วนยางประกอบรถยนต์รายใหญ่รายหนึ่งของประเทศ เปิดเผยว่า ไออาร์ซีได้ให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แรงบันดาลใจมาจากการที่ได้เห็นฝุ่นดำๆ ติดมากับรองเท้าของคุณพ่อซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของความคิดที่ว่า “เราจะใส่กางเกงสีขาวเข้าไปในโรงงานและเมื่อเราเดินออกจากโรงงานกางเกงของเราจะต้องเป็นสีขาวเหมือนเดิม” โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาบริหารจัดการในการออกแบบระบบให้ดี เป็นระบบปิดที่จัดการฝุ่นและสามารถเสริมสร้างประสิทธิภาพได้ทั้งหมด ไม่เกิดมลพิษออกไปนอกโรงงาน นอกจากนี้ ยังได้นำจุดแข็งด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปต่อยอดสร้างประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ

ผู้ผลิต “แผ่นยางรองรางรถไฟจากยางพารา” รายแรกของประเทศ

ก้าวสำคัญของการสนองตอบนโยบายรัฐเพื่อช่วยแก้ปัญหาเกษตรกรผู้ผลิตยางพาราโดยตรง คือ การวิจัยและพัฒนาจนได้ผลิตภัณฑ์ “แผ่นยางรองรางรถไฟจากยางพารา” ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ให้หน่วยงานต่างๆ เพิ่มการใช้ยางพาราในประเทศ และแนะนำให้ใช้เป็นวัตถุดิบผลิตชิ้นส่วนใช้ในระบบราง ปัจจุบันได้กลายผลิตภัณฑ์น้องใหม่ของไออาร์ซีที่มีอนาคตการเติบโตตามทิศทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรางของประเทศ

ที่ผ่านมาประเทศไทยต้องนำเข้าเม็ดพลาสติกและยางสังเคราะห์พิเศษราคาแพงจากต่างประเทศเพื่อแปรรูปเป็นแผ่นรองรางรถไฟ ขณะที่ยางพาราของไทยมีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นแผ่นยางรองรางรถไฟได้ ไออาร์ซี จึงร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ศึกษาและวิจัยการเพิ่มมูลค่ายางพาราเป็นผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนในระบบราง

ผลิตภัณฑ์ชิ้นแรกที่ไออาร์ซีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถผลิตได้ในที่สุด คือ แผ่นยางรองรางรถไฟที่ผลิตจากยางพาราธรรมชาติ 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่ผสมเม็ดพลาสติกและยางสังเคราะห์ผลิตภัณฑ์แผ่นยางรองรางรถไฟจากยางพารา ไม่เพียงช่วยทดแทนการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ แก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำและค้างสต๊อก และส่งเสริมการพัฒนาโครงข่ายระบบรางของประเทศ แต่ยังสะท้อนถึงความพยายามในการพัฒนานวัตกรรมที่สอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาลชุดปัจจุบัน

ในยุคที่สตรีก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญอยู่ในระดับแถวหน้าของเมืองไทย หลายต่อหลายคนไม่เพียงเป็นผู้นำที่มีความโดดเด่นเป็นที่ยอมรับ แต่ยังมีความเสียสละ อุทิตตนเพื่อสังคม และมีอิทธิพลในการเป็นแรงบันดาลใจแก่สตรีคนอื่นๆ ในสังคม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) จึงร่วมกับสหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ คัดเลือกผู้ประกอบการสตรีไทย จำนวน 10 คน เข้าร่วมเวทีอาเซียน เพื่อรับรางวัลผู้ประกอบการสตรีผู้มีผลงานโดดเด่นของอาเซียน “Outstanding ASEAN Women Entrepreneurs 2017”

“พิมพ์ใจ ลี้อิสสระนุกูล” หญิงแกร่งแห่งวงการอุตสาหกรรมยางหนึ่งในผู้ประกอบการสตรีที่ได้รับรางวัลในปีนี้ ได้รับการยอมรับทั้งความสามารถในการบริหารงาน การดำเนินธุรกิจให้เติบโตและประสบผลสำเร็จ มีจิตสาธารณะ พร้อมอุทิศตนเพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวม สังคม และประเทศชาติในทุกๆ ด้าน มีความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยว และพร้อมที่จะส่งเสริมบทบาทของสตรีในภาคเศรษฐกิจ

จบการศึกษาปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวอุตสาหการ เริ่มต้นชีวิตการทำงานที่บริษัทกระเบื้องกระดาษไทยเพื่อหาประสบการณ์ตามที่ได้ร่ำเรียนมา จากนั้นได้ไปศึกษาต่อทางด้านบริหารธุรกิจที่ Drexel University ฟิลาเดลเฟีย สหรัฐอเมริกา และทันทีที่กลับเมืองไทยก็รับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัท อิโนเว รับเบอร์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ ไออาร์ซี ซึ่งเป็นบริษัทผลิตยางรถจักรยานยนต์และชิ้นส่วนยางประกอบรถยนต์รายใหญ่รายหนึ่งของประเทศ

ปัจจุบัน พิมพ์ใจเป็นประธานกรรมการไออาร์ซี และเป็นผู้บริหารอีก 5 บริษัท ซึ่งรวมกันเป็นกลุ่มบริษัทภายใต้ชื่อ ไออาร์ซีทีกรุ๊ป ดำเนินธุรกิจหลักในการผลิตผลิตภัณฑ์ยางอีลาสโตเมอร์คุณภาพมาตรฐานสูง เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมอื่นๆ มีรายได้เฉลี่ยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมารวมกันกว่าหมื่นล้านบาทต่อปี และมีผลกำไรสุทธิต่อปีเฉลี่ยกว่าพันล้านบาท

สำหรับรางวัลผู้ประกอบการสตรีผู้มีผลงานโดดเด่นของอาเซียนที่ได้รับในครั้งนี้ พิมพ์ใจเชื่อว่าส่วนหนึ่งที่สำคัญ น่าจะเกิดจากการทุ่มเทแรงกายแรงใจในการดำเนินโครงการ “ให้อาชีพ ให้ชีวิต” ด้วยเจตนารมณ์อันแน่วแน่ที่จะสร้างโอกาสและให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ต้องขังหญิง โดยการฝึกอบรมพัฒนาฝีมือแรงงานให้แก่ผู้ต้องขังในทัณฑสถานบำบัดพิเศษหญิง จังหวัดปทุมธานี เพื่อสร้างโอกาสในการทำงาน สร้างอาชีพ และหลังพ้นโทษได้เปิดโอกาสรับผู้ต้องขังที่ผ่านการฝึกอบรมและพ้นโทษแล้วเข้าทำงานตามความเหมาะสมด้วย

ท่ามกลางเวลาที่ภาครัฐกำลังเร่งรัดพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ ไออาร์ซีภายใต้การนำของพิมพ์ใจ จะคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมารองรับโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมในรูปแบบอื่นๆ เช่น ทางน้ำ และทางอากาศอีกหรือไม่... คงต้องมาจับตาดูกันต่อไป

กำลังโหลดความคิดเห็น