xs
xsm
sm
md
lg

“เอสเค แพลเน็ต” ยันปักหมุดอี-คอมเมิร์ซไทย “อีเลฟเว่นสตรีท” เร่งสรุปดึงธุรกิจไทยร่วมทุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ฮง โซล จอน
ผู้จัดการรายวัน 360 - อีเลฟเว่นสตรีท ประเทศไทย บริษัทในเครือเอสเค แพลเน็ต (SK Planet) ยืนยัน ทางเอสเค แพลเน็ตยังคงมั่นใจในตลาดอีคอมเมิร์ซไทยและเดินหน้าธุรกิจต่อเนื่อง เผยเจรจากับกลุ่มทุนท้องถิ่นไทยที่จะเข้าร่วมลงทุน พร้อมเล็งปรับงบการตลาดพันล้านบาทใหม่

นายฮง โชล จอน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อีเลฟเว่นสตรีท ประเทศไทย กล่าวว่า นับจากที่ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ที่ผ่านมา อีเลฟเว่นสตรีท ประเทศไทย ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ให้บริการด้านอีคอมเมิร์ซแถวหน้าของประเทศไทยได้อย่างรวดเร็ว นับจากเปิดตัวไปบริษัทฯ ก็ได้รับการตอบรับจากตลาดในประเทศอย่างล้นหลาม จากผลงานที่น่าประทับใจนี้เราจะเดินหน้าพัฒนาธุรกิจเพื่อมุ่งก้าวขึ้นเป็นผู้นำในตลาดไทยให้ได้

นอกจากนั้น เรายังมีแผนที่จะเปิดตัวนวัตกรรมบริการใหม่ๆ ที่พัฒนาขึ้นร่วมกับบริษัทไทย เพื่อมอบประสบการณ์การชอปปิ้งบนแพลตฟอร์มของเราที่สนุกและตรงความต้องการของผู้บริโภคยิ่งขึ้น
ฮง โซล จอน
“ขณะนี้บริษัทฯ กำลังอยู่ในระหว่างการเจรจากับพันธมิตรทางธุรกิจหลายรายเพื่อแสวงหาแนวทางกลยุทธ์ธุรกิจที่เหมาะสมที่สุด เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่เฟสต่อไปในการพัฒนาให้บริษัทฯ เติบโตอย่างรวดเร็วและเข้มแข็งยิ่งขึ้น”

ทั้งนี้ ไม่นานมานี้มีการรายงานข่าวเกี่ยวกับที่ทางเอสเค แพลเน็ต ได้ถอนตัวออกจากตลาดในประเทศอินโดนีเซีย เกิดเป็นข่าวลือว่าทางเอสเค แพลเน็ต อาจมีแผนการหยุดลงทุนในตลาดอื่นๆ รวมถึงประเทศไทยด้วย

นายจินวู คิม รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายวางแผนกลยุทธ์และพัฒนาธุรกิจต่างประเทศของเอสเค แพลเน็ต ได้ให้ความเห็นว่า การที่บริษัทฯ ตัดสินใจในเชิงกลยุทธ์และขายธุรกิจในอินโดนีเซียนั้นไม่มีผลใดๆ ต่อความตั้งใจเดิมที่จะดำเนินธุรกิจในประเทศไทยในระยะยาว

“นอกจากประเทศไทยจะเป็นตลาดอีคอมเมิร์ซที่ใหญ่เป็นอันดับสองในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว ยังมีศักยภาพที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว ทางเอสเค แพลเน็ต ยังคงเดินหน้าธุรกิจในต่างประเทศต่อเนื่องแน่นอน แค่เราจะเลือกลงสนามในพื้นที่ที่เรามีโอกาสชนะเท่านั้น และนอกจากมาเลเซียและตุรกีแล้ว อีกหนึ่งสนามแข่งขันที่เรามั่นใจก็คือประเทศไทย”
ยุน ชาง ซอง อีเลฟเว่นสตรีท ประเทศไทย
นายยุน ชาง ซอง รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเซลส์ บริษัท อีเลฟเว่นสตรีท (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจออนไลน์มาร์เกตเพลสในไทย จากประเทศเกาหลีใต้ เปิดเผยว่า บริษัทฯ อยู่ระหว่างการเจรจากับกลุ่มทุนในไทยหลายรายที่มีความสนใจจะเข้ามาเป็นพันธมิตรหรือร่วมทุนกับบริษัทฯ หลังจากที่ดำเนินธุรกิจในไทยมาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2560 นี้โดยเป็นการลงทุนเอง 100% และประสบความสำเร็จด้วยดี

ทั้งนี้ โมเดลการลงทุนในต่างประเทศ ส่วนใหญ่ของอีเลฟเว่นสตรีทจะเป็นการร่วมทุนกับกลุ่มทุนท้องถิ่นโดยเฉพาะผู้ประกอบการโทรคมนาคมเป็นหลักในแต่ละประเทศนั้นๆ ซึ่งอีเลฟเว่นสตรีทมีธุรกิจในเกาหลีใต้ มาเลเซีย ตุรกี อินโดนีเซีย ด้วย เพื่อสร้างความแข็งแกร่งทั้งทางด้านเครือข่าย และช่องทางที่เข้าถึงผู้บริโภค และเงินทุนที่พร้อมลงทุนต่อเนื่อง

โดยบริษัทฯ ยังคงเป้าหมายเดิมที่จะมีส่วนแบ่งตลาดออนไลน์มาร์เกตเพลสใทย 40% ภายใน 4 ปีนับจากปี 2560 ขณะนี้ยอดขายอยู่ในอันดับที่สองในตลาดเมืองไทย ซึ่งลาซาด้าทำตลาดในไทยมานานกว่า 7 ปีแล้ว บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายจะคืนทุนให้ได้ภายใน 5 ปี หรือภายในปี 2564 โดยใช้เงินลงทุนด้านการตลาดประมาณ 1,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ อยู่ระหว่างการพิจารณางบประมาณด้านการตลาดใหม่อีกครั้งเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์และธุรกิจของบริษัทฯ ที่เป็นอยู่

แนวโน้มตลาดอี-คอมเมิร์ซ ออนไลน์ มาร์เกตเพลสในไทยคาดว่าจะมีการเติบโตที่ดีและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง คาดว่าภายใน 6-7 ปีจากนี้จะเป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดในเกาหลีใต้ที่โตมากกว่า 50%
ยุน ชาง ซอง อีเลฟเว่นสตรีท ประเทศไทย
นายยุน ชาง ซอง กล่าวต่อว่า ปี 2560 นี้ยังคงมีการขยายธุรกิจต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าหมายจะเพิ่มฐานสมาชิกเป็น 1 ล้านรายภายในสิ้นปีนี้ และเพิ่มจำนวนผู้เข้ามาค้าขายประมาณ 20,000 ราย จากปัจจุบันมีสมาชิก 5.8 แสนราย โดยมีจำนวนการเข้าชมเว๊บไซต์ของบริษัทฯ มากถึง 1 ล้านครั้ง มากกว่าที่ตั้งเป้าหมายในช่วงแรกถึง 614% และมีจำนวนผู้ค้าขายแล้ว 18,000 ราย โดยมีจำนวนสินค้ากว่า 5 ล้านรายการจากทั่วโลก

ทั้งนี้ สินค้าที่ขายดี 3 อันดับแรก คือ สินค้าเกี่ยวกับดิจิตอล สัดส่วน 31% สินค้าพีซีแท็บเล็ต สัดส่วน 16% และสินค้าแฟชั่น สัดส่วน 9.7% มียอดซื้อเฉลี่ย 2,000 บาทต่อบิล ส่วนแหล่งที่มาของสินค้าขายดีมาจาก มาเลเซีย 38% เกาหลีใต้ 32% และอเมริกา 21% เนื่องจากมาเลเซียเป็นแหล่งผลิต โดยตั้งเป้าหมายยอดขายในปีนี้ไว้ที่ 3,000 ล้านบาท แบ่งช่องทางการเข้าถึงและการซื้อจากผู้บริโภคเป็นผ่านสมาร์ทโฟน 50% และผ่านคอมพิวเตอร์ 50% ซึ่งแตกต่างจากที่เกาหลีใต้ ลูกค้าจะสั่งซื้อผ่านทางสมาร์ทโฟนมากถึง 60%
กำลังโหลดความคิดเห็น