สนข.กางแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหนุน Super Cluster ในพื้นที่ EEC ในช่วง 5 ปี (60-64) รวม 101 โครงการ มูลค่ากว่า 3.42 แสนล้าน จัดลำดับแผน บูรณาการโครงข่าย “ถนน-มอเตอร์เวย์-รถไฟ” ไร้รอยต่อ ตั้งเป้าลดต้นทุนลอจิสติกส์เหลือ 12% ในปี 64 ดัน GDP แตะ4% เร่งสรุปชงบอร์ดบริหาร EEC ก.ย.นี้
นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนานำเสนอผลงานและรับฟังความคิดเห็นต่อร่างรายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการศึกษาพัฒนาระบบเครือข่ายลอจิสติกส์รองรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษรูปแบบอุตสาหกรรมอนาคต Super Cluster และประตูการค้าสำคัญของประเทศ ว่า จากนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบ Super Cluster และโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor Development : EEC) ในการพัฒนา 3 จังหวัด คือ ระยอง, ชลบุรีและฉะเชิงเทรา ซึ่งต่อยอดจากแผนพัฒนาอีสเทิร์นซีบอร์ด ที่เน้นการลงทุนอุตสาหกรรมที่เป็นแนวโน้มของโลกนั้น สนข.ได้มีการศึกษาแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ในช่วง 5 ปี (2560-2564) จำนวน 101 โครงการ วงเงินลงทุน 342,000 ล้านบาท ซึ่งไม่รวมโครงการที่รัฐร่วมลงทุนกับเอกชน (PPP) เช่น รถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง วงเงิน 2.19 แสนล้านบาท, โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3, ศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO)
โดยแผนพัฒนาโครงข่ายลอจิสติกส์จะคัดกรองจัดลำดับการลงทุนและงบประมาณโครงการด้านคมนาคมขนส่งแต่ละปี ซึ่งจะทำให้แผนงานมีความสอดคล้องเชื่อมโยงกัน ทั้งถนน ราง และท่าเรือ โดยมีโครงการในความรับผิดชอบของกรมทางหลวง (ทล.) 68 โครงการ เช่น มอเตอร์เวย์สาย 7 (พัทยา-มาบตาพุด) 14,200 ล้านบาท, ทางเลี่ยงเมือง ฉะเชิงเทรา 3,500 ล้านบาท, ทางหลวงหมายเลข 3 พัทยา-สัตหีบ 1,900 ล้านบาท กรมทางหลวงชนบท (ทช.) 12 โครงการ เช่น เชื่อมทางหลวงหมายเลข 7 กับท่าเรือแหลมฉบัง 1,500 ล้านบาท, สาย ฉช.3001-ลาดกระบัง 3,800 ล้านบาท การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) 5 โครงการ นอกจากนี้ยังมีการลงทุนโครงการเพิ่มประสิทธิภาพอื่นๆ
ทั้งนี้ คาดว่าเมื่อมีการพัฒนาตามแผนงานร่วมกับการพัฒนาเมือง ภาคอุตสาหกรรม และภาคการท่องเที่ยว จะส่งผลให้ GDP ประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 4% ในปี 2564 และ 4.9% ในปี 2569 และคาดว่าฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง จะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจ 18% ในปี 2564 และ 40% ในปี 2569 สามารถลดต้นทุนลอจิสติกส์ทางถนนลงได้ 2.67% หรือจาก 14.1% เหลือ 12% ในปี 2564 เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น 1.5% รายได้เพิ่มขึ้น 4.46% มีนักท่องเที่ยวเพิ่ม 20-30%
ซึ่ง สนข.ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาศึกษาระยะเวลา 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย. 60) วงเงิน 10 ล้านบาท จะสรุปรายงานฉบับสมบูรณ์ (Draft Final Report) นำเสนอคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กรศ.) ที่มี นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานในการประชุมเดือน ก.ย.นี้ จากนั้นจะเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ที่มีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ก่อนรายงานคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อรับทราบต่อไป
นอกจากแผนงานหลักแล้ว ยังมีการเสนอโครงการเพิ่มเติมรองรับการเดินทางภายในพื้นที่ EEC ประมาณ 51% เป็นระบบฟีดเดอร์เชื่อมชุมชนกับสถานีรถไฟความเร็วสูง เช่น ระบบรางเบา (Light Rail Transit or Street Car) รถไฟระยะสั้น สถานีชลบุรี-วัดญาณสังวราราม มี 8 สถานี ระยะทาง 63 กม. วงเงิน 25,200 ล้านบาท, สายสถานีรถไฟชลบุรี-หาดบางแสน, สถานีรถไฟชลบุรี-นิคมอมตะนคร, สาย City Hall-พัทยาเหนือ-พัทยาใต้-ท่าเทียบเรือใหม่-จอมเทียน-สนามกีฬาชัยพฤกษ์, สาย City Hall- สถานีรถไฟพัทยา-กระทิงลาย โดย สนข.จะมีการศึกษาเพิ่มเติมเป็นแผนแม่บทระบบขนส่งสาธารณะในเมืองต่อไป
อย่างไรก็ตาม ทิศทางการพัฒนาด้านเศรษฐกิจในรูปแบบ “Cluster” คือการให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจแยกตามภาคการผลิตให้สอดคล้องกับพื้นที่เมือง สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี พ.ศ. 2560-2579 และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน อีกทั้งทำให้การพัฒนาสร้างมูลค่าสูงสุดแก่พื้นที่ ซึ่งจะทำให้เกิดความต้องการในการเดินทางและการขนส่งที่เพิ่มขึ้นในอนาคต จึงจำเป็นต้องมีแผนการพัฒนาระบบขนส่งและลอจิสติกส์รองรับเพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัด สนับสนุนการค้าชายแดนที่มีปริมาณสูงขึ้นทุกปี สนับสนุนการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและเพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศ ซึ่งเป็นที่มาของ “การศึกษาพัฒนาระบบเครือข่ายลอจิสติกส์รองรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ รูปแบบอุตสาหกรรมอนาคต Super Cluster และประตูการค้าสำคัญของประเทศ” เพื่อรองรับการพัฒนาของประเทศในอนาคต