xs
xsm
sm
md
lg

ก.พลังงานสนองนายกฯ ชะลอโครงการสตึงมนัมไว้ก่อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กระทรวงพลังงานย้ำชะลอโครงการโรงไฟฟ้าสตึงนัมตามคำสั่งนากยฯ เอาไว้ก่อนจนกว่าผลการศึกษาของกระทรวงเกษตรฯ จะออกมาถึงแนวทางการบริหารจัดการน้ำให้พื้นที่อีอีซีในอนาคต ถ้ามีน้ำพอใช้ก็คงไม่จำเป็นต้องเดินหน้า

นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงพลังงานได้ชะลอโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำสตึงมนัม ประเทศกัมพูชา เพื่อรอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการศึกษาเรื่องแนวทางการจัดการน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกเพื่อรองรับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซีในอนาคต ซึ่งหากทางกระทรวงเกษตรฯ มีผลศึกษายืนยันว่าสามารถที่จะมีการพัฒนาแหล่งน้ำและระบบการจัดส่งน้ำเพื่อป้อนอีอีซีได้ กระทรวงพลังงานก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำสตึงมนัมแต่อย่างใด

“ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนชะลอโครงการ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กลับไปศึกษาการบริหารจัดการน้ำที่จะเกิดขึ้นหลังการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าดังกล่าวใหม่อีกครั้งหนึ่ง จากเดิมปริมาณน้ำ 300 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) จะถูกนำมาใช้ในพื้นที่อีอีซีเพื่อเสริมความมั่นคงในอนาคต ซึ่งประเด็นสำคัญหลักที่ไทยต้องการจากโครงการนี้คือเรื่องน้ำ ไม่ใช่เรื่องไฟฟ้า” นายประเสริฐกล่าว

สำหรับการรับซื้อไฟฟ้าเป็นเพียงส่วนหนึ่งของโครงการ เพราะมีกำลังการผลิตเพียง24 เมกะวัตต์เท่านั้น โดยจะนำมาเสริมระบบไฟฟ้าในจังหวัดตราด จันทบุรี ที่อยู่ปลายสายส่งไฟฟ้าของประเทศไทยของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่มีปัญหาไฟตกดับ โดยยอมรับว่าต้นทุนค่าไฟฟ้าจากโครงการสตึงมนัมอยู่ที่ 10.75 บาทต่อหน่วยซึ่งเป็นราคาขั้นสูงสุด (maximum) และเป็นผลการคำนวณจาก กฟผ. ที่มีความคุ้มค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่ประเทศไทยผลิตได้อยู่ที่หน่วยละ 2.60 บาท/หน่วย และยังได้น้ำประมาณ 3 คิวต่อหน่วยผลิตไฟฟ้า หรือเฉลี่ยคิวละ 2.80 บาท

นายประเสริฐกล่าวว่า โครงการโรงไฟฟ้าสตึงมนัมเป็นโครงการบริหารจัดการน้ำ ตามนโยบายอีอีซีที่รัฐบาลเป็นห่วงการจัดการน้ำในอนาคต หากกรมชลประทานยัง ยืนยันว่าปริมาณน้ำในประเทศเพียงพอใช้ในประเทศไทยสำหรับภาคอุตสาหกรรมได้อีก 12 ปี แต่ต่อไปจะจัดการอย่างไร จึงต้องมีการศึกษาให้รอบคอบ ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้มีมติรับทราบร่างการลงนามความร่วมมือระหว่างสองประเทศเรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่ได้มีการเซ็นสัญญาใดๆ ของทั้งสองฝ่าย และสตึงมนัมเป็นโครงการที่ยาวนานกว่า 30 ปี ซึ่งการสร้างเขื่อนและฐานรากต่างๆ ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปีหากมีการก่อสร้าง
กำลังโหลดความคิดเห็น