“ส.อ.ท.” เตรียมเสนอ “กรอ.” ดันยกร่าง พ.ร.บ.พืชพลังงานส่งเสริมการใช้ชีวมวลผลิตไฟ ดันพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม 51 ล้านไร่ โดยนำร่อง 15 ล้านไร่ 3,000 เมกะวัตต์ก่อน หวังหนุนสร้างเกษตรกร 3 ล้านรายยกระดับรายได้
นายสมพงษ์ ตันเจริญผล รองประธานอาวุโส สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้เห็นชอบแนวทางการศึกษาและยกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) พืชพลังงานเพื่อส่งเสริมการใช้ชีวมวลในการผลิตไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงพลังงานของประเทศตามที่ ส.อ.ท.เสนอ ซึ่งหลังจากนี้จะได้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดทำข้อสรุปเพื่อเสนอไปยังคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) ที่มีนายกฯ เป็นประธานเพื่อผลักดันให้เกิดการปฏิบัติต่อไป
ทั้งนี้ เบื้องต้น ส.อ.ท.ร่วมกับสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร ม.กษตรศาสตร์ และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทำการศึกษาเพื่อจัดทำข้อสรุปถึงแผนการส่งเสริมการปลูกพืชโตเร็วนำมาเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลเพื่อผลิตไฟฟ้า เช่น ยูคาลิปตัส กระถินยักษ์ ฯลฯ โดยใช้พื้นที่ป่าเสื่อมโทรม พื้นที่เหมืองต่างๆ ที่หมดอายุแล้วยังไม่ทำการฟื้นฟูมาส่งเสริมการเพาะปลูก เป็นต้น
“เราต้องหารือกับทุกภาคส่วน โดยหากจะให้ยั่งยืนก็ต้องยกระดับให้เป็น พ.ร.บ.ขึ้นมาโดยเฉพาะให้มีกฎหมายรองรับเพื่อการขับเคลื่อน โดยเป้าหมายก็เพื่อความมั่นคงด้านพลังงานและช่วยให้เกิดการพัฒนาเกษตรกรรมแบบยั่งยืนมีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งต้องหารือกับทุกฝ่ายด้วย โดยเฉพาะที่ดินบางส่วนจะติดปัญหาพื้นที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือ ส.ป.ก.” นายสมพงษ์กล่าว
นายสมัย ลี้สกุล รองประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า เบื้องต้นพื้นที่ที่มีศักยภาพส่งเสริมปลูกพืชพลังงานมีทั้งหมด 51 ล้านไร่ แต่เป้าหมายระยะแรกจะส่งเสริม 15 ล้านไร่ คาดว่าจะทำให้เกิดการผลิตไฟฟ้าประมาณ 3,000 เมกะวัตต์ แนวทางส่งเสริมเกษตรกรเพาะปลูกได้ไม่น้อยกว่า 3 ล้านคน ซึ่งจะมีการส่งเสริมให้เกิดตลาดกลางซื้อขายเพื่อตัดปัญหาคนกลาง
“เราได้หารือกับสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) แล้วที่แผนนี้จะสอดรับกับแผนพัฒนาพลังงานและพลังงานทางเลือก (AEDP 2015) ที่มุ่งส่งเสริมให้การผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล 5,570 เมกะวัตต์ด้วย ซึ่งเราเชื่อมั่นว่าการผลิตไฟจากแผนนี้จะมีต้นทุนค่าไฟที่อยู่ในอัตรา FiT 3.66 บาทต่อหน่วย และยังตอบโจทย์ในอนาคตเพราะขณะนี้โรงไฟฟ้าถ่านหินเองก็เกิดขึ้นยากต้องเน้นใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG ที่ราคาแพง” นายสมัยกล่าว