xs
xsm
sm
md
lg

โรงเหล็กถูกสั่งปิดที่จีนโผล่ที่ไทย ผู้ผลิตเหล็กเส้นเต้นยื่น “อุตตม” ช่วยด่วน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผู้ผลิตเหล็กเส้นตบเท้าหารือ “อุตตม สาวนายน” รมว.อุตสาหกรรม ให้ช่วยด่วน เหตุพบมีโรงงานเหล็กเส้นในไทยใช้เครื่องจักรมือสองจากโรงงานจีนที่ถูกสั่งปิดเพราะใช้เทคโนโลยีต่ำ ก่อมลพิษ พาเหรดทยอยลงทุนแล้ว 3-4 แห่ง หวั่นแห่มาเพิ่มยิ่งทำให้โรงงานไทยกระอักเหตุกำลังผลิตก็ล้นอยู่แล้ว พร้อมส่งสัญญาณครึ่งปีหลังราคาเหล็กเส้นในประเทศขยับ

นายทวีศักดิ์ ตั้งเด่นไชย นายกสมาคมอุตสาหกรรมเหล็กไทย ซึ่งมีสมาชิกเป็นผู้ผลิตเหล็กเส้นคิดเป็นสัดส่วน 70% ของการผลิตในประเทศ เปิดเผยภายหลังการเข้าหารือกับนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมว่า ได้หารือถึงปัญหากรณีการตั้งโรงงานเหล็กเส้นในไทยในช่วงที่ผ่านมาซึ่งเป็นลักษณะการนำเครื่องจักรมือสองจากโรงงานเหล็กเส้นของจีนที่ถูกปิดตัวลงมาดำเนินการ ซึ่งมีประมาณ 3-4 รายและกำลังจะเกิดเพิ่มขึ้นอีก หากปล่อยไว้จะส่งผลกระทบต่อโรงงานในไทย จึงได้ขอให้กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดเกณฑ์และเงื่อนไขการตั้งโรงงานที่มีความเข้มงวดในเรื่องของมลภาวะและเป็นโรงงานที่ควรเน้นเทคโนโลยีที่สอดรับอุตสาหกรรม 4.0

“จีนมีแผนที่จะลดกำลังผลิตเหล็กเส้นส่วนเกินในประเทศด้วยการสั่งปิดโรงงานที่ใช้เทคโนโลยีล้าสมัยและก่อมลพิษขนาดเล็กทั่วประเทศ โดยช่วง 2 ปีที่ผ่านมาสั่งปิดแล้ว 710 แห่ง และปรากฏว่ามีการนำเครื่องจักรมือสองจากโรงงานเหล่านี้มาตั้งในไทย 3-4 แห่งที่ จ.สระแก้ว และปราจีนบุรี กำลังผลิตแห่งละ 3 แสนตันต่อปี ทำให้เหล็กยิ่งล้นระบบและมีแนวโน้มว่าจะเข้ามาเพิ่มอีก เรื่องนี้ทาง รมว.อุตสาหกรรมจึงมอบให้ตั้งคณะทำงานมาแก้ไขปัญหาดังกล่าวแล้ว ซึ่งจะนำกลับมาหารือหลักเกณฑ์ดำเนินการอีกครั้งในสัปดาห์หน้า” นายทวีศักดิ์กล่าว

ปัจจุบันไทยมีการผลิตเหล็กเส้นประมาณ 13 ล้านตันต่อปี แต่ใช้จริงเพียง 3 ล้านตันต่อปี ส่งผลให้โรงงานต่างๆ มีการเดินเครื่องผลิตเพียง 30-40% เท่านั้น และด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้โรงงานขนาดกลางและใหญ่ปิดตัวไปประมาณ 5 รายทำให้เหลือขณะนี้ 20 ราย โดยในปี 2557 สมาคมฯ ได้เคยร้องให้รัฐบาลโดยเฉพาะกระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินนโยบายควบคุมไม่ให้เกิดโรงงานเพิ่มขึ้นอีกเพราะมีกำลังผลิตส่วนเกินแต่นโยบายดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นในทางปฏิบัติ

สำหรับแนวโน้มราคาเหล็กเส้นในครึ่งปีหลังปี 2560 มีทิศทางจะปรับเพิ่มขึ้นอีกจากที่ปัจจุบันราคาเฉลี่ยที่ 19.50 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) เนื่องจากราคาเหล็กแท่งยาว (บิลเล็ต) ที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตเหล็กเส้นมีราคาเพิ่มขึ้นต่อเนื่องซึ่งเป็นผลจากจีนที่ลดกำลังการผลิตลง
กำลังโหลดความคิดเห็น