สืบเนื่องมาจากความสำเร็จของการจัดงาน ASEAN Selection ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 ต่อยอดไปสู่การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และทักษะจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในงานศิลปหัตถกรรมเชิงสร้างสรรค์ผ่านการเข้าร่วมกิจกรรม Craft Knowledge Exchange Program กิจกรรมที่ได้รวบรวมนักออกแบบจากสาขาต่างๆ ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับรางวัล ASEAN Selections และ Innovative Craft Award จำนวน 12 ท่าน มาร่วมกันเดินทางสู่สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ เพื่อศึกษาและแลกเปลี่ยนทักษะในงานศิลปหัตถกรรม
ผ่านการลงพื้นที่ในชุมชนหัตถกรรม สัมผัสวิถีชีวิตความเป็นอยู่ธรรมชาติและวัฒนธรรม ซึ่งนับเป็นรากเหง้าของงานหัตถกรรมในแต่ละแขนง ตลอดจนการศึกษาแนวคิดในการทำการตลาดใหม่ๆ การใช้วัสดุ แนวทางการพัฒนา รวมถึงการเรียนรู้ ผ่านกิจกรรม เสวนา ทำเวิร์กชอปและทดลองสร้างแบบจำลองชิ้นงาน เพื่อนำไปต่อยอดและเป็นแรงบันดาลใจสู่การสร้างงานศิลปหัตถกรรมเชิงสร้างสรรค์ในอนาคต
ทั้งยังมีการพานักออกแบบทั้ง 12 ท่านเดินทางไปที่ จ.ปัตตานี เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างนักออกแบบไทยและอาเซียนกับหัตถกรรมชุมชนไทย เพื่อเป็นการต่อยอดในการก้าวไปสู่ตลาดทั่วโลก และศึกษากับ 8 ช่างชุมชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ 1. กลุ่มเบญจเมธา เซรามิก อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี 2. ชุมชนจักสานไม้ไผ่ บ้านทุ่ง อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี 3. ชุมชนว่าวเบอร์อามัส จ.ปัตตานี 4. ชุมชนจักสานย่านตอไห่ บ้านควน อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี 5. ชุมชนเครื่องปั้นดินเผา บ้านกูยังบาเดาะ อ.มายอ จ.ปัตตานี 6. กลุ่มเยาวชนรักษ์กะลา อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี 7. กลุ่มเยาวชนทำกริชบ้านตะโละหะลอ อ.รามัน จ.ยะลา 8. ชุมชนจักสานกระจูด จ.นราธิวาส
คุณอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (SACICT) กล่าวในการเปิดกิจกรรม Craft Knowledge Exchange Program ที่ จ.ปัตตานี ว่า สิ่งที่ SACICT เชื่อมั่นและมุ่งเน้นมาโดยตลอด คือคุณค่าของหัตถศิลป์สามารถประยุกต์ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตได้เสมอ การทำงานด้านศิลปหัตถกรรมจึงต้องพัฒนาไปอย่างไม่หยุดนิ่ง
กิจกรรม Craft Knowledge Exchange Program ครั้งนี้ถือเป็นการนำไอเดียจากการออกแบบร่วมสมัยโดยเหล่านักออกแบบไทยและอาเซียน มาพบกับหัตถกรรมชุมชนไทย บนความท้าทายเพื่อสร้างการออกแบบที่ขยายประเพณี งานฝีมือ บรรจุองค์ความรู้เดิม เพิ่มเติมองค์ความรู้ใหม่ ต่อยอดเพื่อก้าวไปสู่ตลาดทั่วโลกโดยสร้างมูลค่าให้กับชุมชน ช่างฝีมือ ได้มองเห็นคุณค่าถึงภูมิปัญญาดั้งเดิมเพื่อสืบทอดไม่ให้สูญหายไป ด้วยแรงบันดาลใจและการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานระหว่างนักออกแบบกับช่างศิลปหัตถกรรมไทย อันจะนำไปสู่การต่อยอดในการพัฒนานวัตกรรมสร้างสรรค์ด้านหัตถกรรมต่อไป
การเดินทางในครั้งนี้คณะนักออกแบบได้รับองค์ความรู้ใหม่มากมายทั้งเรื่องทักษะในงานช่างแบบดั้งเดิม รวมถึงได้สัมผัสกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ยังคงความเป็นตัวตนไว้ได้อย่างเหนียวแน่น ในขณะเดียวกันก็ได้เรียนรู้ถึงลักษณะการทำงานหัตถกรรมที่สามารถต่อยอดไปสู่ระดับอุตสาหกรรมได้ โดยการใช้ระบบการจัดการที่มีคุณภาพ รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการเพิ่มมูลค่าและดูแลเรื่องคุณภาพงานของสินค้า ในขณะเดียวกันก็มีการพัฒนางานดีไซน์ที่ดีไซเนอร์หรือผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์จะเข้าไปทำงานร่วมกับช่างฝีมือเพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบของสินค้าให้มีลักษณะร่วมสมัยขึ้น แต่ยังใช้วิธีการทำงานหัตถกรรมแบบดั้งเดิม นับว่าครบถ้วนตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่โครงการตั้งไว้ได้เป็นอย่างดีและสมบูรณ์