xs
xsm
sm
md
lg

ก.พลังงานลุยใช้ PSC ประมูลเอราวัณ-บงกช ส่วนอันดามัน-บนบกใช้ระบบสัมปทาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติคาดเปิดประมูลเอราวัณ-บงกชในระบบ PSC ได้ภายใน ก.ย.-ต.ค.นี้ หลัง ครม.เคาะร่างประกาศปิโตรเลียม 4 ฉบับแล้ววันนี้ ขณะที่แหล่งปิโตรเลียมอันดามันและบนบกใช้ระบบสัมปทาน

นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า ครม.วันนี้ (15 ส.ค.) เห็นชอบเรื่อง ร่างกฎกระทรวงและร่างประกาศคณะกรรมการปิโตรเลียม ออกตามความในพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และที่แก้ไขเพิ่มเติม รวม 4 ฉบับ ซึ่งว่าด้วยหลักเกณฑ์ สัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) ประเมินว่าหลังจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาผ่านความเห็นชอบแล้วคาดว่าจะประกาศเปิดประมูลแหล่งก๊าซเอราวัณและบงกชที่จะหมดอายุสัมปทานปี 2565-2566 ได้ภายในเดือนกันยายน-ตุลาคมนี้ภายใต้ระบบ PSC และคาดว่าจะได้ผู้ชนะประมูลภายใน มี.ค.-เม.ย. 61

“อาจจะล่าช้ากว่าเป้าหมาย 1-2 เดือนแต่ก็อยู่ในกรอบที่จะบริหารจัดการได้ คือ ปริมาณก๊าซจะลดลงเหลือ 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันภายในปี 2564-2566 หลังจากปัจจุบันมีกำลังผลิตทั้ง 2 แหล่งที่ประมาณ 2,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน” นายวีระศักดิ์กล่าว

สำหรับแนวทางการบริหารจัดการแหล่งปิโตรเลียมรูปแบบ PSC และสัมปทานจะพิจารณาจากโอกาสหรือสถิติการพบปิโตรเลียมเชิงพาณิชย์เปรียบเทียบกับของประเทศที่มีเฉลี่ย 39% โดยแบ่งเป็นรายภาคตามการประเมินทางธรณีวิทยา หากพบมากกว่า 39% จะเป็นการใช้ระบบ PSC หากน้อยกว่านั้นเป็นระบบสัมปทาน โดยแบ่งเป็นรายภาคดังนี้ อ่าวไทย ใช้ PSC เนื่องจากพบ 50% ส่วนที่เหลืออีก 4 ภาคบนบกและอันดามันใช้ระบบสัมปทาน เนื่องจากตามสถิติพบปิโตรเลียม 0-31% แบ่งเป็นภาคอีสานพบ 14% ภาคเหนือและกลางพบ 31% ภาคใต้บนบกและทะเลอันดามันพบ 0% ขณะที่สัญญาจ้างบริการ (SC) กำหนดว่าหากเป็นแหล่งน้ำมันจะต้องมีสำรอง 300 ล้านบาร์เรล กำลังผลิตต่อหลุม 4 ล้านบาร์เรล/หลุม และหากเป็นแหล่งก๊าซฯ จะมีสำรอง 3 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต หรือกำลังผลิต 4 หมื่นล้านลูกบาศก์ฟุตต่อหลุม

“การเปิดประมูลเอราวัณและบงกชจึงต้องใช้ PSC จึงอยากให้รายเดิม คือ บริษัทเชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต และ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม ซึ่งเป็นโอเปอเรเตอร์เดิม เข้าร่วมแข่งขันประมูลทั้ง 2 แหล่งเพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างแท้จริง ซึ่งในส่วนของเชฟรอนยังสงวนท่าทีเพราะต้องการดูทีโออาร์การประมูลที่ชัดเจนก่อนว่าผลตอบแทนการลงทุนยังจูงใจต่อไปหรือไม่ ซึ่งระบบ PSC เมื่อเทียบกับระบบสัมปทานแล้วมีข้อดีคือ รัฐจะสามารถเข้าไปตรวจสอบอย่างรัดกุมทุกขั้นตอนตามข้อเสนอของผู้เรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่ข้อเสียคือภาครัฐมีความเสี่ยงเพราะต้องเข้าไปร่วมลงทุนการผลิต ซึ่งไม่เหมือนกับระบบสัมปทานที่ภาครัฐไม่ต้องลงทุนซึ่งจะไม่เสี่ยงเมื่อราคาน้ำมันตกต่ำ” นายวีระศักดิ์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น