xs
xsm
sm
md
lg

พพ.ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนลุยขยายโครงการระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


พพ.ตั้งเป้าส่งเสริม SMEs และวิสาหกิจชุมชน ใช้ระบบอบแห้งพลังแสงอาทิตย์ หรือพาราโบลา แปรรูปผลิตภัณฑ์ ปี 2560 ให้ได้ 5,000 ตร.ม. กำหนดให้ผู้ประกอบการติดตั้งจำนวน 75,000 ตร.ม.ในปี 2569 ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (AEDP)

นายวิรัช มณีขาว ผู้อำนวยการกลุ่มวิเคราะห์ประเมินเทคโนโลยี สำนักพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า โครงการสนับสนุนการลงทุนติดตั้งใช้งานระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ (พาราโบลาโดม) ปี 2560 ได้วางเป้าหมายในการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ หรือเกษตรกร มีการใช้พลังงานทดแทน และกระตุ้นให้เกิดการใช้เทคโนโลยีระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงในกระบวนการผลิต และสามารถลดต้นทุนการผลิตในผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งตามแผนงาน พพ.ได้กำหนดพื้นที่รวมในการส่งเสริม และสนับสนุนทางการเงิน รวม 5,000 ตร.ม.

“เทคโนโลยีระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไทยนับเป็นประเทศอันดับต้นๆ ที่มีการใช้ระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ในการทำแห้งผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรโดยมีผลิตภัณฑ์อบแห้งหลากหลายชนิด ทั้งที่วางจำหน่ายภายในประเทศและส่งออก พพ.จะพัฒนาและส่งเสริมให้มีการใช้ระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์อย่างต่อเนื่องทุกปีตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี (AEDP) เพื่อทดแทนการใช้เชื้อเพลิงแอลพีจี หรือพลังงานไฟฟ้า” นายวิรัชกล่าว

“ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนอนุรักษ์พลังงาน ซึ่ง พพ.จะเป็นพิจารณาให้เงินสนับสนุนให้แก่ผู้ประกอบการหรือวิสาหกิจชุมชนที่สมัครขอรับการสนับสนุนเพื่อที่จะสร้างระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ 35% ของเงินลงทุน ตามแบบมาตรฐาน ที่ พพ.กำหนดไว้ 3 แบบด้วยกัน ประกอบด้วย แบบ พพ.1 ซึ่งมีขนาด 6x8.2 ตร.ม.จะไดรับเงินสนับสนุน 125,700 บาท แบบ พพ.2 มีขนาด 8x12.4 ตร.ม.จะไดรับเงินสนับสนุน 253,450 บาท และแบบ พพ.3 มีขนาด 8x20.8 ตร.ม.จะได้รับเงินสนับสนุน 425,150 บาท

การดำเนินงานโครงการนี้ ถือเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จ จากการที่มีผู้ประกอบการในกลุ่ม SMEs และวิสาหกิจชุมชนเข้าร่วมโครงการจำนวนมาก โดยตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปี 2559 แล้วมีจำนวน 171 ราย หรือคิดเป็นพื้นที่ 21,182 ตารางเมตร ทั้งนี้ยังมีแผนงานเป้าหมายที่จะส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการติดตั้งให้ได้ 75,000 ตารางเมตรให้ได้ในปี 2569 โดย พพ.ยังได้วางแผนในการสร้างความเข้าใจให้แก่ผู้ประกอบการในประโยชน์ของการใช้พลังงานทดแทนในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้า นอกเหนือจากการใช้เป็นเชื้อเพลิงเพียงอย่างเดียว
กำลังโหลดความคิดเห็น