“กนอ.” เร่งทุกนิคมฯ ปฏิบัติตามแผนป้องกันน้ำท่วมรับฤดูฝน พร้อมรายงานสถานการณ์ผ่านศูนย์วอร์รูม เฝ้าระวังตลอด 24 ชม. เตรียมพร้อมเครื่องสูบน้ำและอุปกรณ์ เร่งสูบระบายน้ำกรณีฝนตกต่อเนื่อง หลังกรมอุตุฯ เผยปริมาณฝน ก.ค.-ก.ย.จะมีมากขึ้น
นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า จากการติดตามข้อมูลสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูฝนของกรมอุตุนิยมวิทยา เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน2560 ที่ผ่านมา พบว่าประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนองต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล 60% ของพื้นที่ ทั้งนี้ กนอ.ยังเฝ้าติดตามสถานการณ์ฝนโดยรวมในแต่ละพื้นที่ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 3 เดือนตั้งแต่กรกฎาคม จนถึงกันยายนที่จะถึงนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ว่า ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง จะมีปริมาณฝนตกหนักเพิ่มขึ้นกว่าค่าปกติประมาณ 5-10% หรือประมาณ 650 มิลลิเมตร (จากค่าเฉลี่ย 600 มิลลิเมตร) ส่วนภาคตะวันออกจะมีปริมาณฝนรวมใกล้เคียงค่าปกติ หรือประมาณ 900 มิลลิเมตร โดยภาพรวมตามที่คาดไว้ยังอยู่ในสถานการณ์ปกติที่สามารถบริหารจัดการน้ำในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมได้ และยังไม่น่าเป็นห่วงแต่อย่างใด
ทั้งนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับทุกนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ โดยเฉพาะนิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เช่น นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า (ไฮเทค) นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร ให้สามารถรับมือกับสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูฝนที่อาจจะมีปริมาณฝนตกหนักบางแห่งในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดย กนอ.ได้จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและติดตามข้อมูลสถานการณ์น้ำในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศอย่างใกล้ชิด และเตรียมพร้อมศูนย์ปฏิบัติการ กนอ. ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานงานกับนิคมอุตสาหกรรมทุกแห่งในการแจ้งข้อมูลข่าวสาร update สถานการณ์ และประสานความช่วยเหลือกรณีฉุกเฉิน รวมถึงกำกับให้นิคมฯ ทุกแห่งปฏิบัติตามแผนป้องกันน้ำท่วม ได้แก่
1. สำรวจและเสริมความมั่นคงแข็งแรงของคันดินป้องกันน้ำท่วม 2. เตรียมความพร้อมระบบป้องกันน้ำท่วม เครื่องสูบน้ำระบายน้ำและเครื่องจักรอุปกรณ์ 3. ขุดลอกและพร่องน้ำในลำรางระบายน้ำและบ่อเก็บกักน้ำฝนภายในนิคมฯ โดยระวังไม่ให้กระทบต่อชุมชนใกล้เคียง 4. จัดหาเครื่องสูบน้ำสำรอง เครื่องกำเนิดไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิง กระสอบทราย และอุปกรณ์ต่างๆ ให้พร้อมใช้งาน 5. จัดเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานเวรตลอด 24 ชั่วโมง 6. ตรวจสอบระดับน้ำของจุดเฝ้าระวังโดยรอบพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ และประสานงานกับกรมชลประทานอย่างใกล้ชิด
7. ติดตามข้อมูล ข่าวสาร และพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างต่อเนื่อง
8. บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เช่น กรมชลประทาน ทหาร และท้องถิ่น เพื่อรองรับสถานการณ์ 9. ฝึกซ้อมแผนตอบโต้ภาวะฉุกเฉินกรณีเกิดเหตุอุทกภัยของนิคมฯ ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เป็นประจำทุกปี อีกทั้ง กนอ.มีอุปกรณ์สำรองฉุกเฉินโดยจัดเตรียมคันกั้นน้ำติดตั้งเร็วจำนวน 2,188 ชุด สูง 1.21 เมตร มีความยาว 20 กิโลเมตร ซึ่งสามารถติดตั้งได้รวดเร็วในเกือบทุกสภาพพื้นที่ มีโครงสร้างที่แข็งแรงทนทาน ดังนั้น กนอ.จึงมั่นใจว่ามาตรการทั้งหมดข้างต้นจะสามารถรับมือสถานการณ์ฝนตกหนักต่อเนื่องได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ประกอบการในนิคมฯ ทุกแห่งได้