กรมส่งเสริมการเกษตรแจงผลการดำเนินการป้องกันกำจัดหนอนหัวดำ ศัตรูสำคัญของมะพร้าว มั่นใจศัตรูมะพร้าวเราเอาอยู่ เป็นไปตามขั้นตอนการกำจัด โปร่งใส ตรวจสอบได้ภายใต้การทำงานอย่างต่อเนื่องจนถึงขณะนี้
กรมส่งเสริมการเกษตรตระหนักถึงสถานการณ์ความรุนแรงของหนอนหัวดำ จึงได้ดำเนินการป้องกันและกำจัดเพื่อควบคุมอย่างเข้มข้นมาโดยตลอด สำหรับปีนี้ช่วงที่ผ่านมาเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนในการป้องกันและกำจัดอย่างยั่งยืน และเป็นไปตามหลักการกำจัดหนอนหัวดำในมะพร้าว
นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า พื้นที่ปลูกมะพร้าวของประเทศไทยมี 29 จังหวัด พื้นที่ 1,113,590 ไร่ พบการระบาดของหนอนหัวดำ ณ วันที่ 15 พ.ค. 60 จำนวน 109,409 ไร่ คิดเป็น 9% ที่เป็นจุดไข่แดงของการระบาดมาก โดยใช้มาตรการ 5 มาตรการ ได้แก่ มาตรการในการสร้างการรับรู้ และการมีส่วนร่วม มาตรการจัดการศัตรูพืชผสมผสาน มาตรการทางกฎหมาย มาตรการเฝ้าระวังและสำรวจ และมาตรการสร้างสวนใหม่และการปลูกพืชหลากหลาย ในพื้นที่ที่พบการระบาดมาก โดยกรมฯ ได้จัดสัปดาห์รณรงค์ถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อให้เกษตรกรเจ้าของสวนตระหนักถึงความสำคัญและเข้าใจวิธีการป้องกันและกำจัดอย่างถูกต้องและเหมาะสม รวมทั้งให้ความร่วมมือกับหน่วยงานราชการในการสำรวจและกำจัดอย่างจริงจัง
สำหรับการกำจัด ในระยะเร่งด่วน กรมฯ ได้ดำเนินการให้ความรู้เกษตรกรในการตัดทางใบมะพร้าวและเผาทำลายเพื่อตัดวงจรการระบาดของหนอนหัวดำทำให้ลดและควบคุมการระบาดไปได้ในระดับหนึ่ง การผลิตแตนเบียน ศัตรูสำคัญของหนอนหัวดำมะพร้าว เป็นวิธีการควบคุมและกำจัดที่สำคัญ ซึ่งกรมฯ ได้ดำเนินการให้ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนทั่วประเทศผลิตและขยายพันธุ์ ดำเนินการครบทุกพื้นที่แล้ว โดยดำเนินการปล่อยไปแล้ว 31.4 ล้านตัว ในอัตราไร่ละ 200 ตัว ต่อเนื่อง 8 เดือน จะสิ้นสุดในเดือนเมษายน 2561 รวมแตนเบียนที่จะปล่อยทั้งสิ้นราว 286 ล้านตัว พบว่าวิธีการทั้งสองเห็นผลดี เช่น ในพื้นที่ ศพก. อ.วัดเพลง จ.ราชบุรี
ทั้งนี้ การดำเนินการในการซื้อสารเคมีฉีดเข้าลำต้นเพื่อทำลายให้สิ้นซาก ได้ปฏิบัติตามระเบียบอย่างเคร่งครัดด้วยการจ้างโดยวิธี e-biding ซึ่งเป็นไปตามแผนการกำจัดที่ร่วมกันระหว่างกรมส่งเสริมการเกษตรกับกรมวิชาการเกษตร ในขณะเดียวกัน ได้ดำเนินการรับสมัครและอบรมเกษตรกรเตรียมฉีดสารเข้าลำต้น เพื่อให้เกิดความเชี่ยวชาญ และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมดำเนินการในทุกพื้นที่เป้าหมาย
สำหรับการป้องกันอื่นๆ เช่น การดำเนินการสร้างสวนใหม่ทดแทนสวนเก่า กรมฯ ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง และกำชับเจ้าหน้าที่ดูแลเกษตรกรอย่างใกล้ชิดเพื่อให้เกษตรกรจัดการสวนให้ถูกต้อง หากพบการระบาดให้แจ้งเจ้าหน้าที่เกษตรทันที หรือติดต่อสำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้านท่าน