“สนพ.” เผยเปิด 3 ช่องทางให้ประชาชนทั่วไปแสดงความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. ... ย้ำ “กองทุนน้ำมันฯ” มีความจำเป็นต้องมีไว้เพื่อดูแลราคาน้ำมันช่วงขาขึ้นเพื่อป้องกันผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม ยืนยันโครงสร้างการบริหารประกอบด้วยหน่วยงานต่างๆ ที่จะทำให้เกิดความโปร่งใสแน่นอน
นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า รัฐบาลมีความยินดีเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. ... ที่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเป็นการดำเนินการตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ตามมาตรา 77 ที่กำหนดให้ก่อนการออกกฎหมายทุกฉบับต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบอย่างรอบด้าน โดยในส่วนการรับฟังความคิดเห็นร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นผ่าน 3 ช่องทาง คือ ช่องทางที่ 1 ผ่านเว็บไซต์ www.eppo.go.th ตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม - 1 มิถุนายน 2560 ช่องทางที่ 2 การแสดงความคิดเห็นเป็นเอกสาร สามารถส่งได้ตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม - 1 มิถุนายน 2560 ได้ทางไปรษณีย์ลงทะเบียนมาที่สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) หรือโทรสาร 0-2612-1391 และช่องทางที่ 3 การจัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นที่จะมีขึ้นในวันที่ 1 มิถุนายน 2560
ทั้งนี้ การยกร่าง พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันฯ ฉบับนี้เพื่อเป็นการยกระดับกฎหมายจัดตั้งกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจากที่เป็นคำสั่งนายกรัฐมนตรี ภายใต้พระราชกำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2516 ขึ้นเป็น “พระราชบัญญัติ” เพื่อทำให้เกิดความชัดเจนในบทบาทหน้าที่ และการใช้ประโยชน์ของเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นกลไกของภาครัฐมานานกว่า 40 ปีแล้วในการช่วยป้องกันภาวะขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงและรักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศจากความผันผวนของตลาดโลก ช่วยลดผลกระทบต่อประชาชน และเศรษฐกิจของประเทศ
“ปัจจุบันกองทุนน้ำมันฯ ยังมีความสำคัญและจำเป็นเพื่อเป็นกลไกช่วยกำกับดูแลมิให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการดำรงชีพของประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศ และยังใช้เป็นกลไกในการพัฒนาพลังงานทดแทนจากเชื้อเพลิงชีวภาพภายในประเทศอันเป็นการส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพและลดการนำเข้าเชื้อเพลิงจากฟอสซิล” นายทวารัฐกล่าว
นอกจากนี้ ร่าง พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันฯ ได้กำหนดวัตถุประสงค์เพื่อ 1. รักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ 2. สนับสนุนเชื้อเพลิงชีวภาพ 3. บรรเทาผลกระทบการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันแก่ผู้มีรายได้น้อยและผู้ด้อยโอกาส 4. สนับสนุนการลงทุนสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ และ 5. สนับสนุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานน้ำมันเชื้อเพลิง โดยเพิ่มเติมวัตถุประสงค์ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น จากเดิมการป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงและรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ เนื่องจากหากมีกรณีวิกฤต เช่น ภัยพิบัติ หรือสงคราม เกิดการขาดแคลนน้ำมัน การลงทุนเพื่อการสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์และโครงสร้างพื้นฐาน จึงมีความสำคัญเพื่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ เพราะในกรณีวิกฤตแม้มีเงินก็ไม่สามารถซื้อน้ำมันได้
อย่างไรก็ดี อาจมีความเห็นต่างว่าการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยหรือผู้ด้อยโอกาสตามกฎหมายนี้ไม่มีความจำเป็นเพราะรัฐบาลได้ให้ความช่วยเหลือในการขึ้นทะเบียนผู้มีรายได้น้อยไว้แล้ว แต่ในความเป็นจริงการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในด้านพลังงาน ยังสำคัญและจำเป็น เพื่อช่วยลดผลกระทบต่อค่าครองชีพของผู้มีรายได้น้อยจากความผันผวนของราคาพลังงานโลกโดยเป็นการช่วยเหลือที่จำกัดขอบเขตเฉพาะด้านพลังงาน เหมือนมาตรการที่รัฐบาลเคยดำเนินการ เช่น การอุดหนุนราคาขาย NGV แก่รถโดยสารสาธารณะ เป็นต้น
ส่วนกรณีบุคคลบางกลุ่มเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการนำเงินกองทุนน้ำมันฯ 40,000 ล้านบาท ไปอุ้มการลงทุนของภาคเอกชนในการสร้างท่อก๊าซ หรือคลัง LNG นั้น กระทรวงพลังงานแจ้งว่าไม่เป็นความจริงโดยวงเงินกองทุนน้ำมันฯ ตามร่างกฎหมายฉบับนี้ กำหนดให้กองทุนน้ำมันฯ มีจำนวนวงเงินไม่เกิน 40,000 ล้านบาท สามารถกู้ได้เฉพาะในวัตถุประสงค์ 3 ข้อ คือ 1. รักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ 2. สนับสนุนเชื้อเพลิงชีวภาพ 3. บรรเทาผลกระทบการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันแก่ผู้มีรายได้น้อยและผู้ด้อยโอกาส ไม่เกิน 20,000 ล้านบาท เพื่อเป็นการใช้รักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม สามารถใช้เงินกองทุนในการรักษาระดับราคาน้ำมันไม่ให้กระทบต่อการดำรงชีพของประชาชน ความมั่นคงด้านพลังงานและเศรษฐกิจ ไม่ได้เป็นการนำเงินไปอุ้มผู้ลงทุนภาคเอกชนแต่อย่างใด
ทั้งนี้ รัฐบาลให้ความมั่นใจว่า ร่าง พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันฯ มีการวางกลไกกำกับดูแลที่ดีทั้งในระดับองค์กร และระดับคณะกรรมการบริหารของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อให้เกิดการตรวจสอบและถ่วงดุล และเพื่อให้สาธารณชนเกิดความไว้วางใจ การดำเนินการรับจ่ายเงินกองทุนน้ำมันฯ จะมีหน่วยงานรัฐ เช่น กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กรมธุรกิจพลังงาน เป็นผู้ตรวจสอบรายละเอียดความถูกต้องเกี่ยวกับปริมาณ อัตราเงินส่งเข้ากองทุนฯ อัตราชดเชย และสรุปยอดจำนวนเงินในการส่งให้สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อดำเนินการรับจ่ายเงินตามที่หน่วยงานดังกล่าวแจ้งยอดอย่างมีประสิทธิภาพ