กกพ.เผยเงินบาทแข็งค่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าไม่เพิ่มขึ้นกว่าปีที่แล้ว ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเอฟทีงวดถัดไป (ก.ย.-ธ.ค.) เพิ่มขึ้นในอัตราที่น้อยลง เหตุมีการผลิตไฟฟ้าใช้เอง รวมทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ผลิตมากขึ้น หารือ กฟผ.ปรับสำรองไฟฟ้ามาตรฐานใหม่
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)เปิดเผยว่า ขณะนี้ความต้องการใช้ไฟสูงสุด (พีก) ต่ำกว่าคาดการณ์ในปีนี้ และผลจากค่าเงินบาทที่มีการแข็งค่าขึ้นมีส่วนสำคัญที่จะทำให้ค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) ในงวดใหม่ (ก.ย.-ธ.ค. 60) จะมีการปรับขึ้นน้อยลงกว่าที่เคยประเมินไว้ว่าจะปรับขึ้นกว่า 10 สตางค์ต่อหน่วย เนื่องจากค่าเงินบาททุกๆ 1 บาทที่แข็งค่าจะทำให้ต้นทุนลดลง 5-6 สตางค์ต่อหน่วย
“ค่าไฟภาพรวมยังคงขึ้นเพราะเชื้อเพลิงหลักที่ผลิตไฟคือก๊าซธรรมชาติขยับสูงขึ้นตามสูตรก๊าซฯ ในประเทศที่ผันแปรตามราคาน้ำมันเตาย้อนหลัง 6-12 เดือน และเพื่อลดผลกระทบจากแนวโน้มค่าไฟฟ้าขยับขึ้น กกพ.ได้เกลี่ยเงินจากค่าปรับและค่าชดเชยต่างๆ ที่ได้รับจากการบริหารสัญญาจัดหาเชื้อเพลิงและสัญญาซื้อขายไฟฟ้าต่างๆ ทุกงวดในปีนี้ราว 2,900 ล้านบาท ทำให้ลดค่าเอฟทีลงได้อีก 4-5 สตางค์/หน่วย” นายวีระพลกล่าว
ทั้งนี้ ค่าไฟฟ้าเอฟที งวดเดือน พ.ค.-ส.ค. 60 ขยับขึ้น 12.52 สตางค์/หน่วย ตามต้นทุนเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าที่สูงขึ้น ส่งผลเอฟทีอยู่ที่ -24.77 สตางค์/หน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานจะมีผลทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภทอยู่ที่ 3.5079
นายวีระพลกล่าวว่า กกพ.กำลังหารือกับกระทรวงพลังงานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ว่าสำรองไฟฟ้าของประเทศในอนาคตจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร จากที่แผนปัจจุบันกำหนดไว้ว่าต้องมีไม่ต่ำกว่า 15% ของแผนพัฒนากำลังไฟฟ้าระยะยาว (พีดีพี) เนื่องจากในขณะนี้โครงการสร้างการผลิตไฟฟ้าของโลกกำลังเปลี่ยนแปลง การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานทดแทนทำให้เกิดโครงการเอกชนผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองไม่ขายไฟฟ้าเข้าระบบของการไฟฟ้า (Independent Power Supply : IPS) มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ โดยจะเห็นชัดว่ามีผลทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีก) ของประเทศไทยในปีนี้ต่ำกว่าพีกปีที่แล้ว โดยอยู่ที่ประมาณ 30,303 เมกะวัตต์เท่านั้นจากที่คาดการณ์ปีนี้น่าจะอยู่ประมาณ 32,000 เมกะวัตต์ ซึ่งยังต่ำกว่าปีก่อนที่เกิด peak ที่ระดับ 30,972.7 เมกะวัตต์
ส่วนบรรยากาศการเปิดให้ยื่นคำขอเพื่อตรวจสอบคุณสมบัติในการเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน หรือโซลาร์ฟาร์ม ภาคราชการและสหกรณ์การเกษตร ระยะที่ 2 จำนวน 219 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นหน่วยงานราชการ 100 เมกะวัตต์ และสหกรณ์การเกษตร 100 เมกะวัตต์ บรรยากาศช่วงวันแรกไม่คึกคักนัก โดย กกพ.จะเปิดให้ยื่นตั้งแต่วันนี้ถึง 2 มิ.ย.
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการ กกพ. กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้ไปเช็กสายส่งหรือฟีดเดอร์กับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย 3,000 ราย ก็คาดว่ารอบนี้จะมีผู้สมัครรวม 1,500 ราย ขณะนี้มีผู้สนใจลงทะเบียนแล้ว 103 ราย โดยจำนวนนี้เป็นในส่วนของหน่วยงานมหาวิทยาลัย 3 แห่ง ได้แก่ สถาบันการอาชีวศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, สถาบันการอาชีวศึกษาเกษตรภาคใต้ และสถาบันการอาชีวศึกษาภาคใต้ 1 ที่เหลือเป็นสหกรณ์ โดยจะมีการตรวจสอบคุณสมบัติและจับสลากผู้ได้โครงการวันที่ 26 มิ.ย.